“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นท่อนไม้ใหญ่โน้น อันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคาหรือไม่ ถ้าท่อนไม้นั้นจะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกวังน้ำวนพัดวนเอาไว้ จักไม่เน่าในภายใน ท่อนไม้นั้นจักลอยไหล เลื่อนไปสู่มหาสมุทรได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่ากระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่มหาสมุทรฉันใด “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบกไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำพัดวนเอาไว้ จักไม่เน่าในภายในไซร้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมโอนเอียงไปสู่นิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าสัมมาทิฏฐิย่อมโน้มน้อมโอนเอียงไปสู่นิพพานฉันนั้นเหมือนกัน “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฝั่งนี้หมายถึง อายตนะภายใน ๖ ฝั่งโน้นหมายถึง อายตนะนอก ๖ คำว่า จมลงในท่ามกลาง หมายถึง ความกำหนัดยินดี ค่ำว่า เกยบก หมายถึง อัสมิมานะ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่าถูกมนุษย์จับไว้ คือ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ มั่วสุมในกิจการงานอันบังเกิดแล้วของเขา นี้เรียกว่ามนุษย์จับไว้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่าถูกอมนุษย์จับไว้คืออย่างไร ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล พรต ตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง นี้เรียกว่าถูกอมนุษย์จับไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เกลียวน้ำวน หมายถึง กามคุณ ๕ ความเป็นผู้เน่าในภายใน คืออย่างไร ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานลึกลับไม่เป็นสมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจกองขยะ นี้เรียกว่าเป็นผู้เน่าในภายใน
ทารุขันธสูตร ที่ ๑ สฬา. สํ. (๓๒๒-๓๒๓)
ตบ. ๑๘ : ๒๒๓-๒๒๕ ตท. ๑๘ : ๒๑๒-๒๑๔
ตอ. K.S. ๔ : ๑๑๓-๑๑๕
บ่อยครั้งที่เราติดในเรื่องราวของสภาพธรรม ยังไงๆ ก็อย่าลืม พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏในชีวิตประจำวันนะคะ เพราะประโยชน์สูงสุด คือ อยู่ตรงนั้นค่ะ ท่านอาจารย์ท่านกล่าวเตือนพวกเราอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย
อนุโมทนาค่ะ
อนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น