สังคหวัตถุ ซึ่งเป็นเหตุ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มี ๔ ประการ
โดย chatchai.k  3 พ.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 45013

ใน มโนรถปูรนี อรรถกถา มีข้อความอธิบายเรื่องสังคหวัตถุ ซึ่งเป็นเหตุ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวว่า มี ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ทาน การให้

ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ทุกประการ ให้ได้ทั้งนั้น เช่น ให้ไถ ให้โค ให้ข้าว ให้พืช ให้ของหอม ให้ดอกไม้ ให้จุน คือ ให้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ

ประการที่ ๒ การสงเคราะห์ด้วยวาจาที่อ่อนหวาน ซึ่งเป็นถ้อยคำเป็นที่รัก รื่นหู อ่อนโยน มีคำว่า พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นต้น

เป็นการขัดเกลากิเลสอีกเหมือนกัน ทำไม มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้คำที่ไม่น่าฟัง ไม่รื่นหู ไม่อ่อนโยน ถ้าท่านศึกษาปรมัตถธรรม ท่านจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ถ้าท่านเจริญสติ จิตประเภทไหน จิตที่หยาบกระด้าง หรือว่าเป็นจิตที่เมตตากรุณาในขณะที่มีคำพูดอย่างนั้น

ท่านที่ต้องการจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังอยากจะใช้วาจาที่ไม่รื่นหูบ้างไหม และชีวิตในวันหนึ่งๆ ต้องใช้วาจามากไหมกับบุคคลอื่น ในขณะนั้นไม่ใช่โอกาสที่จะให้อย่างอื่น แต่ให้วาจาที่อ่อนหวานได้

ประการที่ ๓ อัตถจริยา

ข้อความในอรรถกถามีว่า เมื่อกิจด้วยทานและปิยวาจาไม่มี ทราบว่า ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยอัตถจริยา แล้วก็สงเคราะห์ด้วยอัตถจริยา กล่าวคือ การช่วยกิจการที่เกิดขึ้น

ถ้าใครจะทำอะไร เห็นว่าน่าจะใช้กำลังหรือดูจะเหนื่อยยาก หรือว่าอาจจะเสร็จช้า ถ้าท่านช่วยสักหน่อยหนึ่ง อาจจะเสร็จเร็วขึ้น และก็ไม่เหนื่อยเท่าไร อย่างนั้นควรไหมที่จะช่วย หรือว่าก็คงยังนั่งเฉยๆ ดูดายต่อไป ถ้าผู้ใดมีเมตตาจิต ท่านก็สามารถที่จะเจริญกุศลได้มาก

ประการที่ ๔ สมานัตตา

มีข้อความว่า เมื่อทราบว่า สำหรับผู้นี้กิจด้วยทานเป็นต้น ไม่มี แต่เขาควรสงเคราะห์ด้วยสมานัตตา ก็พึงสงเคราะห์ให้เสมอกับตนด้วยการบริโภค ด้วยการดื่ม การนั่งร่วมกัน เป็นต้น

ในภพนี้ ชาตินี้เป็นบุคคลนั้น เมื่อสิ้นภพชาตินี้ มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม แต่ถ้าไม่รู้สภาพตามความเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมมีความไม่เสมอกัน จะมีความถือตนเกิดขึ้น มีความสำคัญตนเกิดขึ้น แต่ผู้ที่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ย่อมเป็นผู้ที่เมื่อไม่มีกิจด้วยทาน เป็นต้น ก็สงเคราะห์ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอด้วยการบริโภค การดื่ม การนั่งร่วมกัน เป็นต้น และผู้ที่จะทำได้อย่างสนิทใจจริงๆ เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ฝืนทำ เพราะบางคนอาจจะฝืนทำบางกาละ บางโอกาส เพราะเห็นว่าเมื่อทำแล้วอาจจะได้ประโยชน์จากการทำเช่นนั้น แต่นั่นไม่ใช่อุปนิสัยหรืออัธยาศัยจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่าน ท่านจะเป็นผู้ที่อ่อนโยนขึ้น ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่เห็นความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม จะทำให้ท่านนั่งร่วมกัน บริโภคร่วมกันกับบุคคลอื่น ไม่ใช่ด้วยการฝืนทำ หรือแม้แต่ปิยวาจา ก็ไม่ใช่ฝืนทำ เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ และจะได้รับประโยชน์จากวาจาที่อ่อนหวานนั้น

สำหรับพยัญชนะในพระไตรปิฎก ข้อความที่ว่า ท่านหัตถกอุบาสกกราบทูลว่า

ข้าพระองค์รู้ว่า ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยทาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยทาน ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยความประพฤติสิ่งที่เป็ นประโยชน์ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยความประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ

ก็โภคทรัพย์ในตระกูลของข้าพระองค์มีอยู่ ชนทั้งหลายจึงสำคัญถ้อยคำของข้าพระองค์ว่าควรฟัง ไม่เหมือนของคนจน

ถ้อยคำของคนยากจน คนอื่นก็ไม่ค่อยจะเชื่อ ไม่ค่อยจะทำตาม เพราะฉะนั้นถ้อยคำนี้เป็นเพียงคำอุปมาให้เห็นว่า บริษัท บริวารของท่านนั้นตั้งอยู่ในอนุศาสนี คือ คำสอน โอวาทของท่าน ไม่สำคัญเหมือนถ้อยคำของคนยากจน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 191