อยากทราบความหมายของคำว่า อุตุ ค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รูป ทั้งหมดมี ๒๘ รูป เป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔
มหาภูตรูป มหา (ใหญ่, มาก) + ภูต (เกิดแล้ว, มีอยู่) + รูป (รูป)
รูปที่เกิดขึ้นแล้วเป็นใหญ่ เป็นประธาน หมายถึง สภาวรูป ๔ รูป คือ ปฐวี (ดิน) อาโป (น้ำ) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม) รูปทั้ง ๔ นี้ ได้ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะเป็นสภาพที่เกิดขึ้นมีอยู่โดยความเป็นใหญ่เป็นประธาน และเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูป)
อุปาทายรูป อุป (เข้าไป) + อาทาย (ถือเอา อาศัย) + รูป (รูป)
รูปที่เข้าไปอาศัยมหาภูตรูป หมายถึง รูป ๒๔ รูป นอกเหนือจากมหาภูตรูป ๔ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นเองตามลำพังได้ จะต้องอาศัยมหาภูตรูปเกิดพร้อมกัน มหาภูตรูป ๔ จึงเป็นที่อาศัยของ อุปาทายรูป ๒๔ เป็นเหมือนกับแผ่นดิน ที่เป็นที่อาศัยรองรับต้นไม้หรือบ้านเรือน
ดังนั้น อุปาทายรูป จึงไม่ใช่ มหาภูตรูป ๔ (ดิน น้ำ ไฟ ลม) รวมกับ อวินิพโภครูปอีก ๔ เพราะ อุปทายรูป เป็นรูปที่อาศัย มหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้น อุปทายรูป จึงเป็นรูปที่ไม่ใช่มหาภูตรูป ๔ รูปใดที่ไม่ใช่มหาภูตรูป ๔ รูปที่เหลือเป็นอุปทายรูปทั้งหมด มี ๒๔ รูป ครับ
ส่วนอวินิพโภครูป จะต้อง มีอย่างน้อย ๘ นะครับ มี ๔ ไม่ได้ เพราะไม่สามารถแยกจากกันได้อีก อย่างน้อย ต้องมีกลุ่มของรูป ทั้งหมด ๘ รูป ที่เรียกว่า อวินิพโภครูป
อวินิพโภครูป ๘ ประกอบด้วย มหาภูตรูป ๔ และ อุปทายรูป ๔ มหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน) ๔ ได้แก่ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่เอิบอาบหรือเกาะกุม เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่ร้อนหรือเย็น วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นรูปที่ไหวหรือตึง
มหาภูตรูป ๔ นี้ ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น จึงแยกกันไม่ได้เลย และมหาภูตรูป ๔ นี้ เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก ๔ รูป ที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน คือ อุปาทายรูป ๔ ได้แก่ วัณโณ (แสงสี) เป็นรูปที่ปรากฏทางตา คันโธ (กลิ่น) เป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก รโส (รส) เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น โอชา (อาหาร) เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป
รูป ๘ นี้แยกกันไม่ได้เลย เป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดที่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว จะมีแต่มหาภูตรูป ๔ โดยไม่มี อุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด) ๔ รูปนี้ไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น อวินิพโภครูป เป็นกลุ่มของรูปที่เป็นมหาภูตรูป ๔ และ อุปทายรูป อีก ๔ ตามที่กล่าวมา ซึ่งความจริง อุปทายรูป มี ๒๔ รูป ครับ
ส่วนอุตุชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอุตุ เป็นสมุฏฐานให้เกิด คือ ในประเด็นนี้เราแบ่งว่ารูป เมื่อเกิดขึ้นจะต้องมีสมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูป เช่น รูปที่เกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร
ดังนั้น ก็เป็นการแยกเป็นอีกหมวด ตามที่ผู้ถามได้กล่าวแล้วนั้น ถูกต้องครับ คือ แบ่งเป็นหมวดของรูปที่ สมุฏฐานให้เกิดรูปมีอะไรบ้าง ก็มี อุตุ เป็นสมุฏฐาน ให้เกิดรูปครับ
อุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุ (ความเย็น ความร้อน) และอุตุชรูปนี้เกิดได้ทั้งภายในและภายนอก สำหรับภายในสัตว์ เกิดขึ้นได้ทุกๆ ขณะของจิต นับตั้งแต่ฐีติขณะ ของปฏิสนธิ เป็นต้นมา จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะมีอนุขณะ ๓ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ อุตุชรูป ๑๓
อุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุ และรูปที่เกิดจากอุตุมี ๑๓ คือ อวินิพโภครูป ๘ (มหาภูตรูป ๔, วัณณรูป ๑, คันธรูป ๑, รสรูป ๑, โอชา ๑) ปริจเฉทรูป๑ วิการรูป ๓ (ลหุตารูป มุทุตารูป กัมมัญญตารูป) สัททรูป ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึงรูปแล้ว เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์ เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยังยืน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากมหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน) ๔ และ อุปาทยารูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูป) ๒๘ จึงมีรูปทั้งหมด รวมแล้ว คือ ๒๘ รูป แต่รูปทั้ง ๒๘ รูป จะไม่เกิดพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด ย่อมตามสมควรแก่กลุ่มของรูปนั้นๆ ว่าเกิดจากสมุฏฐานใด ถ้าเป็นรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานแล้ว อย่างต่ำก็ต้อง ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ถ้าเป็นกลุ่มที่มีเสียง เกิดด้วย ก็เป็น ๙ รูป เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องเข้าใจด้วยว่า กลุ่มของรูปนั้นๆ เกิดจากสมุฏฐานใด สำหรับอวินิพโภครูป ๘ รูป แล้ว ทั่วไปทุกสมุฏฐาน ทุกสมุฏฐานจะขาดรูป ๘ รูปนี้ไม่ได้เลย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนถาม
ต้นไม้เกิดจากอุตุ ถูกต้องหรือไม่คะ ในต้นไม้ มีทั้งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ยังมี อากาศคั่นอยู่ระหว่างธาตุ อีกด้วยถูกต้องหรือไม่ แล้วยังมีรูปอะไรในต้นไม้อีกมั้ยคะ และขอเรียนถามเพิ่มเติมว่า สภาวรูป และ อสภาวรูป เป็นอย่างไร
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ
ถูกต้องครับ
ต้นไม้ เป็นการประชุมรวมกันของรูป ที่เกิดจาก อุตุชรูป ซึ่งก็มีรูปอย่างน้อย ๘ รูป และก็มี ปริจเฉทรูป ที่เป็นอากาสธาตุ แทรกคั่นระหว่างรูปด้วยครับ อันเกิดจาก อุตุเป็นสมุฏฐาน ส่วน สภาวรูป และ อสภาวรูป เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
สภาวรูป
อสภาวรูป
เรียนถาม
โอชารูป มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ทำไมจึงเป็นสภาวรูป ขอความกรุณาอธิบายด้วยค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ
อาหารชรูป หรือ โอชารูป คือ รูปที่เกิดจากโอชา หมายถึง กลุ่มของรูปที่เกิดจากอาหาร รูป (โอชา) คือเมื่อรับประทานอาหารที่เป็นคำๆ (กพฬิงการาหาร) เข้าไปในร่างกาย แล้ว โอชารูปในอาหารที่เป็นคำๆ นั้น จะเป็นปัจจัยให้เกิดกลุ่มของรูปใหม่ ทำให้ร่างกาย เจริญเติบโตแข็งแรง รูปที่เกิดจากอาหาร (อาหารชรูป) มี ๑๒ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ ปริจเฉทรูป ๑ เป็นสภาวรูป เป็นรูปที่สามารถทำให้เกิดกลุ่มของรูปใหม่ได้ เป็นอาหารชรูป คือ กิน เข้าไปก็ทำให้เกิดกลุ่มของรูปใหม่ในร่างกาย
เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ
อาหารที่เป็นคำๆ นำรูปอันมีโอชารูปเป็นที่ ๘ มา
เรียนถาม
ดิฉันอ่านเรื่องรูปแล้ว บางทีเกิดความงุนงง คล้ายๆ กับว่า รูปนี้ต้องอาศัยรูปนี้ จึงเกิดได้มีรูปนี้ ต้องมีรูปนี้จึงเกิดได้ ส่วนที่อาจารย์ผเดิมกล่าวว่า รูปที่เกิดจากอาหารชรูป หรือโอชารูป ถ้าท่านไม่เอ่ยว่า โอชารูป ก็คือ อาหารชรูป ดิฉันก็ยังนึกไม่ออกว่า โอชารูปเป็นอย่างไร เพราะจิตก็จะนึกไปถึงรส ซึ่ง รสก็เป็นรูปๆ หนึ่งอยู่แล้ว ทีนี้ท่านอธิบายว่า รูปที่เกิดจากอาหารชรูปนั้น มี ๑๒ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ ปริจเฉทรูป ๑ นั้น ขอยกข้อสงสัยจาก อวินิพโภครูป ๘ และ อากาสรูป กล่าวคือ รูปต่างๆ ต้องอิงอาศัยกันเกิดขึ้น ไม่สามารถเกิดขึ้นเองโดดๆ ได้ เหมือนกับเป็นก้อนๆ หนึ่งที่ต้องไปด้วยกันตลอด ใช่หรือไม่ ส่วนวิการรูปนั้น ดิฉันยังศึกษาไม่ถึงค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 8 ครับ
ถูกต้องครับ
รูปจะเกิดขึ้นมารูปเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยรูปอื่นเกิดพร้อมกันและอาศัยซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น เช่น อุปาทายรูป เป็นรูปที่ต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔ จึงเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับรูปอื่นๆ ก็ต้องอาศัยรูปอื่นประชุมรวมกัน จึงจะเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ก็มี ๘ รูป น้อยกว่านี้ไ่ม่ได้ คือ อวินิพโภครูป ๘ ก็ต้องมีอย่างน้อย ๘ รูปเป็นกลุ่มก้อนของรูปที่เกิดพร้อมกัน ซึ่ง คุณวิริยะเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ
เรียนถาม
ชีวิตอินทรีย์รูป มีเฉพาะในสิ่งมีชีวิต และต้นไม้ ใช่หรือไม่
เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ
ชีวิตอินทรีย์รูป มีเฉพาะสิ่งมีชีวิตครับ แต่ต้นไม้ไม่มีชีวิต จึงไม่มี ชีวิตอินทรีย์รูป ครับ
เรียนถาม
จากความเห็นที่ 11 ถ้ากล่าวว่า ต้นไม้ไม่มีขันธ์ ๕ หรือไม่มีขันธ์ ๕ ในต้นไม้ ต้นไม้จึงไม่มีชีวิตอินทรีย์รูป กล่าวเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่
เรียน ความเห็นที่ 12 ครับ
จะกล่าวโดยนัยนั้นก็ได้ครับว่า เพราะต้นไม้ไม่มีขันธ์ ๕ มีเพียงขันธ์เดียว คือ รูปขันธ์ แต่ ถ้าจะให้ละเอียด ก็ควรกล่าวว่า เพราะต้นไม้ไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย จึงไม่มี ชีวิตอินทรีย์รูป อันนี้จะตรงกว่า เพราะ ภูมิที่มีขันธ์เดียว คือ มีแต่รูปที่เกิดขึ้นไม่มีนาม คืออสัญญสัตตาพรหม ก็มี ชีวิตอินทรีย์รูป แต่แม้มีขันธ์เดียว ก็มีชีวิต เพราะเกิดจากกรรมเป็นปัจจัยครับ ส่วนต้นไม้ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย จึงไม่มีชีวิต ครับ
เรียนถาม
ปสาทรูป ๕ เกิดเพราะมีกรรมเป็นปัจจัยใช่หรือไม่
และมีรูปอะไรอีกที่เกิดเพราะมีกรรมเป็นปัจจัย
เรียน ความเห็นที่ 14 ครับ
กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม หมายถึง รูป ๑๘ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑
เพราะฉะนั้น ปสาทรูป ๕ ก็มีกรรมเป็นปัจจัย จึงเกิดขึ้นด้วยครับ และก็มีรูปอื่นๆ ตามที่กล่าวมา ที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย
เรียนถาม
สมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูปมีกี่สมุฏฐานคะ มี กรรม จิต อุตุ แล้วยังมีอีกมั้ยคะ
เรียน ความเห็นที่ 16 ครับ
สมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูป มี กรรม จิต อุตุ รวมทั้งอีกประการหนึ่งคือ อาหาร ครับ
เรียนถาม
เมื่อมีเสียงมากระทบกับโสตประสาท จิตได้ยินจึงเกิด กล่าวว่า เสียงเป็นสัทรูป เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน กล่าวเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ และเสียงสามารถเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานอีกด้วย ขอความกรุณาอธิบายว่าเป็นเช่นไร
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 18 ครับ
เสียงที่มากระทบกับโสตปสาทรูป และทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น เสียงนั้น มีอุตุเป็นสมุฏฐานก็ได้ เช่น ของแข็งกระทบกัน เกิดเสียง หรือ เสียงเกิดขึ้นมีจิตเป็นสมุฏฐานก็ได้ ครับ
เรียนถาม
ดิฉันยังไม่เข้าใจคำว่า อุตุ ค่ะ อาจารย์กรุณาอธิบายด้วยค่ะ
เรียน ความเห็นที่ 20 ครับ
อุตุ ในที่นี้ หมายถึง เตโชธาตุ ๒ อย่าง คือ
๑. สีตเตโช ได้แก่ ความเย็น ทั้งภายในและภายนอก
๒. อุณหเตโช ได้แก่ ความร้อน ทั้งภายในและภายนอก
เรียนถาม
สมมติว่า มีผู้เล่นเครื่องดนตรี อาทิ ไวโอลิน เมื่อคันชัก กระทบกับสายบนไวโอลิน ทำให้เกิดเสียง เช่นนั้นกล่าวว่า เสียงนั้นมีอุตุเป็นสมุฏฐาน เพราะมีธาตุไฟ และเสียง นั้นมากระทบโสตปสาทอีกทีหนึ่ง ทำให้มีจิตได้ยินเกิดขึ้น เสียงที่จิตได้ยิน ก็มีจิตเป็นสมุฏฐาน กล่าวเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่
และอันที่จริงยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่า ความเย็น ความร้อนทั้งภายใน ภายนอก มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับเสียงที่เกิดจากของแข็งกระทบกัน แต่จะค่อยๆ พยายามศึกษาและค่อยๆ ทำความเข้าใจไปค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 22 ครับ
เสียงที่เกิดจากการสีไวโอลิน เสียง หรือ รูปนั้น มีอุตุเป็นสมุฏฐาน และเมื่อได้ยินเสียงนั้น เสียงไวโอลิน ก็ยังเป็นเสียงที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานไม่เปลี่ยนครับ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อได้ยินแล้ว เสียงนั้นจะต้องมีจิตเป็นสมุฏฐาน ส่วนเสียงที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เช่น เสียงที่เราพูดที่ต้องการสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจ เป็นต้นครับ แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อได้ยินแล้ว เสียงนั้นจะเป็นเสียงที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ครับ
เรียนถาม
จากความเห็นที่ 23 จำเป็นหรือไม่ที่ เสียงที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานจะต้องเกิดจากของแข็ง หรือรูปสองรูปกระทบกัน เสมอไป พอจะมีตัวอย่างอื่นๆ อีกหรือไม่สำหรับ อุตุชรูป
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 24 ครับ
ไม่จำเป็นก็ได้ครับ เพียงความแตกต่างของ ความเย็น ความร้อน ก็ทำให้เกิดเสียงได้ครับ เช่น เสียงของไม้ที่ถูกเผา เป็นต้น
เรียนถาม
เสียงหรือสัทรูปนั้น มีจิตเป็นสมุฏฐานก็ได้ หรือมีอุตุ เป็นสมุฏฐานก็ได้ ส่วน รูปที่เกิดจากจิตเห็น กลิ่นที่เกิดจากจิตได้กลิ่น รสที่เกิดจากจิตที่ลิ้มรส และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่เกิดจากกระทบสัมผัส มีอะไรเป็นสมุฏฐาน มีอุตุมั้ยคะ อุตุ เป็นธาตุไฟ เป็นความเย็นความร้อน ภายในหรือภายนอก ดังที่ท่านได้อธิบายในความเห็นที่ 21 แต่ธาตุไฟก็อยู่ในมหาภูตรูป ๔ ซึ่งต้องมีอยู่ในทุกรูป
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 26 ครับ
รูปไม่ได้เกิดจากจิตเห็น เสียงไม่ได้เกิดจากจิตได้ยินนะครับ เพียงแต่ว่าเป็นอารมณ์ของจิตเหล่านี้ ส่วนรูปเหล่านี้ ก็เกิดได้ ทั้งสมุฏฐาน ๔ ครับ เกิดเพราะอุตุก็ได้ ครับ
ขออนุโมทนาครับ