การปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมีการปฏิบัติอย่างไร? และแตกต่างกันอย่างไร? ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบซึ่งเป็นการสงบจากกิเลส สำหรับในชีวิตประจำวันนั้น การสงบจากกิเลส เพียงชั่วขณะ เพราะฉะนั้น การทำให้ความสงบจากกิเลส มีมากขึ้น เจริญมากขึ้น การเจริญมากขึ้น เรียกว่า ภาวนา เพราะฉะนั้น การอบรมความสงบมากขึ้น คือ กุศลธรรมที่เกิดต่อเนื่องเรียกว่า สมถภาวนา
สมถภาวนา คือ การอบรมกุศลธรรมประการต่างๆ ให้เกิดติดต่อกันไป ทำให้กิเลส มีนิวรณ์ ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เจริญสมถภาวนา เช่น ขณะที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย นานๆ เป็นต้น ระลึกถึงคุณของศีล ระลึกถึงคุณเทวดา ขณะนั้น เป็นการเจริญความสงบจากกิเลส ที่เรียกว่า สมถภาวนา แต่อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนา ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่จะรู้ว่าจะระลึกให้เกิดกุศลต่อเนื่องอย่างไรครับ จึงขาดปัญญาไม่ได้โดยประการทั้งปวง แต่การอบรมเจริญสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงระงับกิเลสได้ด้วยการข่มเท่านั้น ยังไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กิเลสยังมีโอกาสเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจได้อีก สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา ได้ฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมก่อนจุติ ก็เป็นเหตุให้ไปเกิดเป็นพรหมบุคคล ในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌานที่ได้ ซึ่งยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ยังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
ส่วนวิปัสสนาภาวนา เป็นการอบรมเจริญปัญญาให้มีมากขึ้น วิปัสสนา หมายถึง ปัญญารู้แจ้ง สภาพธรรมที่รู้แจ้งตามความเป็นจริง คือ ปัญญา วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงกับเหล่าสาวกให้ดำเนินตาม ซึ่งเรียกหลายชื่อ เช่น สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรค เป็นต้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อ ความเจริญขึ้นของปัญญา จนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทำให้ ผู้ที่อบรมเจริญสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระ อรหันต์ พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง
ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ย่อมไม่ละเว้นโอกาสที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจ ยิ่งขึ้น ด้วยการฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
... ยินดีในกุศลของคุณออมบุญและทุกๆ ท่านด้วยนะครับ ...
ขออนุโมทนาครับ
ชักชวนกันไปปฏิบัติ กลัวบ้างไหมว่าจะปฏิบัติผิด
สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรม อย่าเพียงคิดว่าจะปฏิบัติ หรือชักชวนกันไปปฏิบัติ แต่ควรที่จะพิจารณาว่า กลัวบ้างไหมว่าจะปฏิบัติผิด เพราะมักจะสนใจไปปฏิบัติ หรือชักชวนกันไปปฏิบัติ แต่อาจจะไม่เคยกลัวว่าจะปฏิบัติผิด ซึ่งตามความจริงแล้ว การปฏิบัติต้องมีทั้งที่ผิด และที่ถูก เพราะว่าความเห็นมี ๒ ประการ คือ ความเห็นผิด กับความเห็นถูก
ถ้าความเห็นยังไม่ถูก การปฏิบัติก็ถูกไม่ได้ แทนที่จะคิดว่าจะไปปฏิบัติ ก็ควรกลัวว่าจะปฏิบัติผิด และจะยึดถือข้อปฏิบัติผิดนั้นแน่นอน ถ้าไม่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาว่า ถ้ากลัวการปฏิบัติผิด และกลัวการติด การยึดถือ ข้อปฏิบัติที่ผิดแล้ว จะต้องทำอย่างไร
ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม
การปฏิบัติธรรม จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลย
สนใจปฏิบัติ หรือว่าสนใจที่จะเข้าใจ
การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องคืออย่างไร