และจะทราบได้อย่างไร ว่า เป็น ธรรม ที่ถูกต้อง
ทราบได้โดยการตรวจทานกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา ถ้าหากรู้ตามและตรงสอดคล้องกับพระธรรมที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษาคือ เพื่อการละความไม่รู้ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการละและดับสูญแห่งกิเลสทั้งปวง เป็นต้น ชื่อว่าเป็นธรรม ที่ถูกต้อง
ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม มีคนฟังธรรมบรรลุได้ดวงตาเห็นธรรมกัน มากมาย เพราะเขาสะสมบุญและปัญญามาแล้วในอดีต สาวก แปลว่าผู้ฟัง ถ้าไม่อาศัย การฟังธรรมะ การพิจารณาธรรมะ ก็ไม่มีทางรู้แจ้งอริยสัจจธรรมค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ก็ต้องเป็นปัญญาของตนเอง ถึงจะรู้ว่าถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง สอนสิ่งที่มีจริงไหม ไม่ได้คิดนึกเอาเอง แต่มีจริงในชีวิตประจำวัน พิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน สอนให้ได้ หรือให้ละ สอนตรงตามพระไตรปิฎกไหม สอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎกหรือไม่ เช่น สอนให้ทำ แต่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จะมีเราไปบังคับให้ทำได้ไหม เป็นต้น ดังนั้น จะรู้ก็ต่อเมื่อปัญญาของบุคคลนั้นเอง เข้าใจถูกมากขึ้น ย่อมรู้ว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด เพราะปัญญาเป็นเครื่องตัดสินความถูกต้อง เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสัจจะ รู้ได้ด้วยปัญญา
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ธรรมที่ถูกต้องคือ ธรรมที่มีจริง ปรากฏในขณะนี้ ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้ด้วยการศึกษาโดยละเอียดในพระไตรปิฎกครับ
แต่จะทราบได้อย่างไรว่าการฟังธรรมเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง???
ถ้าผู้ที่แสดงธรรมให้เราฟังถามเราว่า เห็นมีจริงไหม (มีจริง) สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงไหม (ก็มีจริง) อะไรเห็น (ไม่ใช่ตาแน่นอน เพราะคนตายก็มีตาแต่ไม่เห็น ฉะนั้น ต้องเป็นสิ่งๆ หนึ่งซึ่งมีจริง ไม่สามารถจับต้องได้ คือนามธรรมได้แก่ จักขุวิญญาณ กระทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็น ไม่ใช่เรา) มีอะไรที่เขาบอกเราผิดไปจากความจริงไหมครับ ในเมื่อก้อนเนื้อที่เราจำได้ว่าเป็นตาของเรา ถ้าหลุดออกไป ยังจะเป็นตาของเราอยู่ไหม ถ้าแตกละเอียดลงไปจนถึงกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ก็คือ รูป ๑ กลาปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานนั้น จะเป็นตาของเราได้อยู่อีกไหม เราจึงต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าเข้าใจในขณะนั้น ก็ย่อมเกิดปัญญาขั้นฟังสังขารขันธ์ซึ่งเป็นธรรมก็จะปฏิบัติธรรมเอง โดยที่ "ตัวเรา" ปรุงแต่งจิตไม่ได้เลย
ในขณะเดียวกันถ้ามีผู้แสดงธรรมอีกท่านหนึ่งบอกว่า ให้ปฏิบัติตามนี้ภายใน ๓ วัน ๗ วัน ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คิดว่าจะเป็นพระธรรมที่พระพุทธองค์ผู้ทรงสะสมบารมีมา ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปป์ เป็นผู้ทรงแสดงหรือไม่ ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นหนทางที่ไม่สมเหตุสมผลและที่สำคัญไม่ได้ทำให้ละกิเลสอะไรได้เลย มีแต่ความหวัง อยากได้ อยากทำ ก็น่าคิดดีใช่ไหมครับ
ผู้ที่ฟังพระธรรม หากสะสมปัญญามา แม้คำพูดที่ผิดไปจากความจริง ก็จะรู้ได้ครับ เขาจะไม่ถูกใครหลอกง่ายๆ และก็จะไม่หลอกตนเอง หรือล่อลวงใครๆ ด้วยกลอุบายใดๆ เขามีแต่จะเกื้อกูลด้วยคำจริง และสัจจะครับ
ขออนุโมทนาครับ
ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ ก็จะกล่าวว่า ถ้าศึกษาพระธรรม ด้วยการอ่านหรือฟัง เป็นเพียงแค่ยาทา ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ วิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นที่แก้ต้นเหตุได้ เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่เราจะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จะละอย่างไรเมื่อยังมีตัวตน ยังมีอวิชชา
อวิชชาละได้ด้วยปัญญา ขั้นต้นต้องอาศัยการฟัง การศึกษา และที่สำคัญคือความเข้าใจถูกเป็นเบื้องต้น ความเห็นถูก ความมั่นคงในหนทาง ในข้อปฏิบัติ ไม่เปลี่ยนหนทาง ไม่ใจร้อน เพราะคิดว่าวิธีอื่นได้ผล การที่บอกว่าธรรมะยาก ถูกต้องและเป็นการ สรรเสริญพระปัญญาของพระพุทธเจ้า กว่าท่านจะตรัสรู้ต้องใช้เวลานาน ๔ อสงไขย แสนกัป แล้วเราก็เพิ่งเริ่นต้นศึกษากว่าจะเข้าใจถูกและได้มาพบพระธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเป็นผู้ที่เคยสะสมบุญ มาแล้วในปางก่อนค่ะ
การฟังธรรม เป็นการปฏิบัติธรรม???
การศึกษามีทั้งขั้นปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ผู้ที่มีปัญญาขั้นปริยัติ
- การฟังธรรมคือ การศึกษาขั้นปริยัติ นั่นคือการฟังเรื่องราวของธรรมะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นเรื่องราวของความจริง ผู้ที่มีปัญญาขั้นปฏิบัติ
- มีความเข้าใจมั่นคงจากขั้นปริยัติ สัมมาสติเกิดขึ้น ทำกิจระลึกสภาพธรรมได้แม้ในขณะที่กำลังฟังธรรม หรือทำกิจอื่นใด โดยไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่ ผู้ที่มีปัญญาขั้นปฏิเวธ
- ปัญญาจากขั้นปฏิบัติมีกำลังจนดับกิเลสได้ ตามระดับของการเป็นพระอริยบุคคล การศึกษาจะต้องเป็นไปตามขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะสลับหรือข้ามขั้นหนึ่งขั้นใดไม่ได้เลย
จะทราบได้อย่างไร ว่า เป็น ธรรม ที่ถูกต้อง ขั้นปริยัติ
- ธรรมที่ถูกต้อง เป็นเรื่องราวของความจริง นั่นคือ เป็นเรื่องราวของธรรมและที่สำคัญเป็นเรื่องที่ศึกษาเพื่อการสละออกซึ่งทุกข์ทั้งปวง มิใช่เรื่องราวเพื่อแสวงหาทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือคำสรรเสริญ ขั้นปฏิบัติ
- ธรรมที่ถูกต้อง ต้องเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่มั่นคงจากขั้นปริยัติ โดยไม่ลืมว่าเพื่อการละ ไม่ใช่การติดข้อง ขั้นปฏิเวธ
- ธรรมที่ถูกต้อง คือการหลุดพ้นอย่างแท้จริง กิเลสที่ดับแล้วจะไม่เกิดขึ้นอีก และจะไม่มีการย้อนกลับมาเป็นปุถุชนอีกเลย
อ้างอิงจากคุณนิบภาน การฟังธรรม เป็นการปฏิบัติธรรม??? และจะทราบได้อย่างไร ว่า เป็น ธรรม ที่ถูกต้อง?
ร่วมด้วยช่วยตอบ
จะทราบเมื่อเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกตามหลักมหาปเทสทั้ง ๔ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้กล่าวแต่คำจริง และการสังคายนาพระไตรปิฎกกระทำโดยพระอรหันต์ เพื่อยังให้เกิดประโยชน์ คือ ความถูกต้อง คงไว้ซึ่งธรรมวาทีบุคคล ซึ่งในอนาคตกาล เป็นธรรมดาที่คนยุคนี้จะไม่ชอบฟังธรรม และ พระธรรม เน้นทำอะไรง่ายๆ โดยไม่เทียบเคียงกับพระไตรปิฎก (ซึ่งพระไตรปิฎก ถือเป็นพระศาสดาแทนพระพุทธองค์หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานดับรอบ โดยสิ้นเชิง) เป็นยุคที่คนมักจะเชื่อและชื่นชอบแต่อธรรมวาทีบุคคล และด้วยความที่ไม่สามารถบังคับบัญชาความเป็นไปของเหตุปัจจัยได้ในยุคนี้ หากจะชักชวนใครมาศึกษาหรือฟังธรรม จึงต้องปล่อยไปตามการสะสม แนะนำได้บ้างตามโอกาสที่เหมาะที่ควรแก่การแสดงธรรม เพื่อคนที่สนใจสดับซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอุปนิสัย ควรแก่การแสดงธรรม ซึ่งเราก็เป็นเพียงผู้ชี้แนะตามหน้าที่ของกัลยาณมิตรที่ห่วงใย โดยไม่หวังว่า เค้าจะต้องทำแบบนี้ๆ คนจะต้องมาร่วมมากๆ หรือเปลี่ยนโลกทั้งใบให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย หากท่านเกิดมาในยุคที่ปริยัติใกล้อันตรธาน และภายใต้กฏของอนัตตาคือ บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อมเท่านั้น และเป็นไปเพื่อการละคลาย (ซึ่งจะละคลายได้ ปัญญาต้องรู้ก่อนว่า จิตที่มีโลภะ โทสะ โมหะ อย่างละเอียดเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิด หลงคิดว่าความต้องการอย่างละเอียดคือ การละคลาย) จะเป็นการดีที่เราได้ช่วยแนะให้เพื่อนๆ ได้พบเหตุปัจจัยที่ทำให้ปัญญาเกิด เช่น การฟังธรรม ขอให้ทราบว่า ปัญญาเกิดตามลำดับขั้น ข้ามขั้นศึกษาให้เข้าใจไม่ ได้ และยังลดหลั่นลงตามยุคสมัยด้วย (กาลสมัย) การฟังธรรมนั้น ทำให้ได้ฟังในสิ่งที่ ยังไม่เคยได้ฟังมาก่อน และทำให้ที่เคยฟังมาแล้วแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น คำว่า"ปัญญา ปฏิบัติกิจของปัญญา" ในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา อาจจะไม่เคยได้ยินได้ ฟังคำนี้มาก่อน แต่ เมื่อได้เงี่ยโสตลงฟังด้วยความเคารพ จะเริ่มโยนิโสมนสิการ ว่าเพราะเหตุใด การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องของนามธรรมคือ ปัญญา เพราะเหตุใด การศึกษาเพื่อเข้าใจ เพื่อละคลาย จึงเป็นการสะสมปัญญาที่จะประหารกิเลส และเข้าใจว่าเหตุใดการปฏิบัติธรรมจึง เป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน คำว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะลัดขั้นตอนไม่ได้ เพราะ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยจะบังคับบัญชาให้เป็นคนดีเลิศ ประเสริฐศรีหรือถึงนิพพานโดยฉับพลันย่อมเป็นไปไม่ได้ หากไม่เคยเริ่มต้นสดับพระธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา ปฏิบัติกิจของปัญญา
อ้างอิงจากคุณ yupa
ถ้าศึกษาพระธรรม ด้วยการอ่านหรือฟังเป็นเพียงแค่ยาทา ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ วิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นที่แก้ต้นเหตุได้ ร่วมด้วยช่วยตอบ การศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจคือ การสะสมสาเหตุของการดับทุกข์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะกิเลสไม่ใช่น้อยๆ คืออย่างหนา ปัจจุบันนี้สภาพจิตเป็นอย่างไร ก็คือผลของการสะสมมาจากอดีตชาติที่นับไม่ถ้วน คิดดูว่า เป็นแสนๆ โกฏิกัปป์แล้ว แต่ยังต้องมาเริ่มนั่งสมาธิใหม่ แทนที่จะฟังธรรมเหมือนที่เคยได้ฟังมาหลายๆ ชาติ ตราบใดที่ยังไม่เข้ากระแสคือเป็นพระอริยบุคคล ย่อมมีโอกาสหวั่นไหวจากทางตรง และหาสาเหตุไม่เจอ หรือไม่ก็ เข้าใจสาเหตุผิด จึงต้องมีการสะสมเหตุปัจจัยที่สามารถดับกิเลส เพื่อประหารกิเลสได้โดยเด็ดขาด ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ซึ่งข้ามขั้นตอนหรือทำลัดๆ ไม่ได้ หากจะกล่าวแบบถ้อยคำเปรียบเปรยสมัยใหม่ กิเลสทั้งหลายนั้นคือโรคเรื้อรังที่เป็นมานาน หาจุดเริ่มต้นไม่ได้ (หมายถึงว่า อาจจะเป็นโรคนี้ มานานแล้ว มากกว่าอสงไขยย้อนไปหาจุดเริ่มไม่ได้ จุดปลายเป็นอินฟินิตี้) ยารักษาคือปัญญาที่ค่อยๆ สะสม มีการเริ่มต้นตามขั้นตอนที่จะให้ยา ซึ่งจะถอนพิษไข้ของกิเลสที่หนาแน่นอย่างช้าๆ ตามกำลังของการสะสมปัญญา หากจะแก้โรคกิเลส ด้วยการหลับตาโดยไม่รู้อะไร หรือไม่ เริ่มศึกษาให้เข้าใจ ก็อาจจะเป็นการหยิบยาผิดขวดได้ เช่น จะทานยาธาตุน้ำแดง แต่ไปหยิบยาแดงมาทาน อาจจะมียาง่ายๆ เช่น แค่รู้อาการในชีวิตประจำวัน ไปวันๆ ไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าพระพุทธองค์ตรัสสอนพระธรรมในพระไตรปิฎกไว้มากมายเพื่อใคร ยานี้ทานแล้วอาจจะไม่ทราบว่าขณะนั้น จิตสะสมกิเลสมากมายก่ายกอง โดยปฏิบัติไปเรื่อยๆ แต่เป็นการสะสมโรคกิเลสเพิ่ม เพราะคิดว่าเป็นยารักษา คือไม่รู้ความต่างกันของ กุศลจิตและอกุศลจิต โรคกิเลสจึงกำเริบอยู่เรื่อยๆ และหายาดีไม่พบ เพราะทิ้งยาไปแล้ว (เช่นบอกให้ทิ้งตำรา แล้ว ปฏิบัติเลย) พระพุทธเจ้าทรงตรัส สอนอะไร ละเอียดลึกซึ้งแค่ไหน ทรงบำเพ็ญบารมีอย่างไร อะไรบ้าง เมื่อท่านศึกษาพระไตรปิฎก หมั่นสนทนาธรรมกับผู้รู้ เห็นสาระของชีวิตคือการเข้าใจ พระธรรม ท่านจะซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณ และมั่นใจว่า ปริยัติ-ปฏิบัติ เกิดสืบต่อกันรวด เร็วมาก ไม่สามารถแยกจากกันได้ อาศัยเหตุปัจจัยคือ การฟังธรรมศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของการละคลาย เป็นเรื่องของการทำในใจโดยแยบคาย ชื่อว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจตามลำดับขั้นเริ่มต้น ด้วยความเข้าใจ คือการเริ่มสะสมเหตุปัจจัย ที่จะดับที่สาเหตุของทุกข์
ขออนุโมทนา ในกุศลเจตนา (ธรรมทาน) ของทุกท่าน (ทุกความเห็น) ครับ
ขออนุโมทนาค่ะ