ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันศุกร์ ที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจากทันตแพทย์หญิงวิภากร พงศ์วรานนท์ เพื่อไปสนทนาธรรมที่บ้านพัก ในหมู่บ้านสายลม ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
คุณหมอวิภากร ศึกษาพระธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มานานถึงสิบกว่าปีแล้ว ในหนังสือ "เพราะเคยได้กระทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน" ซึ่งคุณหมอเป็นผู้เขียนขึ้นเพื่อเล่าประสบการณ์ทางธรรม พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ในหนังสือเล่มนั้น คุณหมอเล่าว่า สมัยที่คุณหมอรับราชการ เป็นทันตแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี คุณหมอต้องทำงานหนักมาก หลังจากเสร็จงานที่โรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องกลับมาทำฟันให้คนไข้ที่คลินิกต่อ กว่าจะได้นอนก็เป็นเวลาสี่ทุ่มกว่า ขณะล้มตัวลงนอน รู้สึกเหนื่อยมาก เป็นแบบนี้ทุกวัน วันแล้ววันเล่า คิดว่าชีวิตมีแค่นี้ละหรือ ถ้าตายไป ทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยากก็ต้องสูญสิ้นไปด้วย วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา กว่าจะได้เป็นหมอฟันต้องสู้อุตส่าห์สอบเอ็นทรานซ์หลายครั้ง กว่าจะสำเร็จใช้เวลาถึง ๙ ปี ก็จะต้องสูญเสียไปหมด ต้องไปเกิดใหม่ แล้วไปตั้งหน้าตั้งตาเรียนใหม่ วนเวียนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
คุณหมอเล่าว่า ขณะนั้นคุณหมอจะตื่นเช้ามานั่งสมาธิทุกเช้าโดยอ่านจากหนังสือการนั่งทำสมาธิ ซึ่งให้รู้ลมหายใจเข้าออกที่โพรงจมูก ถ้าปวดเมื่อยก็ให้อดทนจนความเจ็บหายไป คุณหมอเล่าว่าคุณหมอทำแบบไม่หลับไม่นอนเลย จนรู้สึกเบื่อชีวิตที่เป็นอยู่ อยากจะขายบ้านแล้วกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิมคือจังหวัดสิงห์บุรี จนวันหนึ่งมีผู้แนะนำให้คุณหมอฟังรายการธรรมะทางวิทยุ ซึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่งจัดรายการ บางวันก็เทศน์ บางวันก็สอนการนั่งทำสมาธิ จนวันหนึ่งเปิดเจอรายการที่ท่านอาจารย์บรรยาย จึงได้ติดตามฟัง เพราะรู้สึกสะกิดใจที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า "ถ้าเห็นแก้วน้ำว่าเป็นแก้วน้ำอยู่ ก็แสดงว่ายังมีความเห็นผิด" จากนั้นจึงสนใจติดตามฟังเรื่อยมา เมื่อติดต่อมาทางมูลนิธิฯ ก็ทราบว่ามีสนทนาที่บ้านคุณหญิงนพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ในสมัยนั้น) จึงนั่งรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาฟัง แล้วก็นำหนังสือมากมายหลายเล่มกลับไปอ่าน รวมทั้งซื้อเทปไปฟังเป็นจำนวนมาก คุณหมอกล่าวว่า เทปคาสเซ็ทของคุณหมอมีมากกว่า ๑,๐๐๐ ม้วนเลยทีเดียว ปัจจุบัน คุณหมอได้ลาออกจากราชการมานานหลายปีแล้ว และเลิกทำงานที่คลินิกส่วนตัวแล้วเช่นกัน คุณหมอมีความแน่วแน่มั่นคงมากที่จะเพียรฟังและศึกษาพระธรรม มีสิ่งหนึ่งที่คุณหมอเคยเล่าเรื่องของคุณหมอในที่สนทนาธรรมที่ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจและรู้สึกอนุโมทนามาก คือ คุณหมอกล่าวว่า คุณหมอจะขายทรัพย์สินที่มีเกินจำเป็นแก่การใช้สอย เพื่อจะเอาติดตัวไปด้วยเมื่อสิ้นชีวิต ความหมายก็คือ การนำเงินที่ได้มาเจริญกุศล เพื่อกุศลจะติดตามท่านไปได้นั่นเอง
อันดับต่อไป ก็ขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมที่บ้านคุณหมอในวันนั้น มาฝากให้ท่านที่ไม่มีโอกาสไปร่วมฟัง ได้อ่านและพิจารณาเพื่อประโยชน์ทั่วกัน เป็นข้อความที่มีค่าอย่างยิ่งที่ทุกคนที่สนใจไม่ควรพลาด ดังต่อไปนี้ครับ
คุณหมออำไพขนิษฐ กราบเรียนท่านอาจารย์และอาจารย์วิทยากรค่ะ ขออนุญาติเริ่มประเด็นการสนทนาก่อนนะคะ คือ จากการที่ได้มาฟังท่านอาจารย์แล้วก็มีความรู้สึกว่าสนใจ อยากจะฟังต่อเนื่อง อยากจะฟังทั้งเสาร์และอาทิตย์ เพราะว่าเนื้อหาแต่ละครั้งที่ฟังรู้สึกว่าได้ประโยชน์ แล้วก็มีความเข้าใจในธรรมะมากขึ้น ก็มีผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันสอบถามว่า เพราะอะไรจึงจะต้องฟังทุกวัน เพราะอะไรจึงต้องไปสนทนาทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ฟังครั้งเดียวไม่พอหรือ? ฟังช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่พอหรือ? จึงต้องไปฟังทุกครั้งต่อเนื่อง จึงอยากจะขอกราบเรียนถามอาจารย์ว่า ความสำคัญของการฟังธรรมะ ศึกษาธรรมะ อย่างต่อเนื่องค่ะอาจารย์คะ
ท่านอาจารย์ ที่จริงการสนทนานี้ก็แล้วแต่อัธยาศัยนะคะ แต่สำหรับดิฉัน ดิฉันชอบถาม ถ้าใครถามดิฉันอย่างนี้ ดิฉันก็จะถามเขาว่า ดิฉันฟังใคร?หรือฟังคำของใคร? เขาจะได้รู้สึกว่าเขาฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรฟังไหม? ฟังคำสองคำ ควรพอไหม? นี่เป็นสิ่งซึ่งเราน่าจะถามเขา ให้เขารู้ว่าคุณหมอฟังใคร คุณหมอไม่ได้ไปฟังวิทยากรท่านหนึ่งท่านใด แต่ว่าฟัง "คำ" ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งลึกซึ้ง ยาก โอกาสที่จะเข้าใจจริงๆ ต้องศึกษา เพราะเหตุว่า แต่ละคนไม่สามารถที่เพียงอ่านพระไตรปิฎกแล้วเข้าใจ แต่ละคำ ต้องเข้าใจจริงๆ มิฉะนั้นคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริง "แล้ว" หรือ? "เข้าใจแล้ว" หรือ? เพราะฉะนั้น มีโอกาสเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร "ฟัง" เพื่อที่จะเข้าใจขึ้น!!
ถามไปเลย ไม่ว่าใครถามคุณหมอ คุณหมอก็ถามเขาเลย รู้หรือเปล่า? ไปมูลนิธิฯฟังอะไร? ฟังคำใคร? เพราะฉะนั้น ควรฟังไหม? ฟังครั้งเดียวพอไหม? เขาเองเขาจะต้องตอบเรา ถ้าเขาบอกว่า ฟังคำของพระพุทธเจ้าครั้งเดียวพอก็น่าอัศจรรย์ ใช่ไหม? ท่านตรัสว่าอะไร เขาถึงได้บอกว่าพอ ลองบอกสิ คำที่ว่าฟังแล้วพอนี่คำไหน? นี่เป็นการสนทนาเพื่อที่จะให้เขาได้เข้าใจถูกต้องด้วย ถึงประโยชน์จริงๆ ของการที่มีโอกาสได้เข้าใจธรรมะ
เพราะว่า เวลาฟังรายการธรรมะทางวิทยุ ทางอะไรๆ ก็ตามแต่ สื่อทั้งหลาย โทรทัศน์ เขาพูดเรื่องธรรมะ แต่ไม่ได้ให้เข้าใจธรรมะ!!! พูดหมดเลย พระไตรปิฎกว่าอย่างนี้ อย่างนั้น ยาวไปเลย แล้วคนฟังก็ฟังไปเลย แต่ว่า เข้าใจธรรมะหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ ไม่ใช่ให้ไปฟัง "เรื่อง" ของธรรมะ แต่ให้เข้าใจธรรมะ ในเรื่องที่ฟังนั่นแหละ!! เพราะฉะนั้น มีเรื่องธรรมะที่ฟัง แต่ฟังเพื่อเข้าใจธรรมะ ในเรื่องที่ฟัง นี่เป็นสิ่งซึ่งต่างกัน ใครถามก็ได้ ถามเขา เขาจะได้คิด เป็นประโยชน์ที่จะให้เขาตอบเองด้วย ถ้าเขาถามอีก คุณหมอก็ตอบอย่างนี้สิคะ หรือไม่ก็ถามเขาอย่างนี้แหละ ถึงแม้เดี๋ยวนี้ ที่เราจะสนทนากัน ก็ฟังใคร ก็ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สู่กันฟัง
คุณอรวรรณ กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ ท่านอาจารย์คะ คล้ายๆ คุณหมอ คือ เมื่อวานนี้ก็คุยกับลูกชาย ก็คือไม่รอให้เขาสนใจธรรมะแล้ว ก็บอกเลยว่า ถึงเวลาต้องฟังแล้ว ฟังความจริง ต้องรู้ว่าชีวิตคืออะไร มาจากไหน จะไปไหน อะไรอย่างนี้ ก็คุยโน่นคุยนี่ ก็ถามเขาว่า เขาเชื่อเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า ชาติอะไรไหม? เขาบอกว่าไม่ได้ไม่เชื่อ และไม่ได้เชื่อ
ท่านอาจารย์ พูดอย่างไรก็ตาม จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความคิดของเขาใช่ไหม? ทำไมไม่ลองฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง? แทนที่จะมาเถียงกันเรื่องคนนั้นเชื่อ คนนี้ไม่เชื่อ ใครพูด ใช่ไหม? ก็บอกเขา เชื่อหรือไม่เชื่อ นั่นเป็นความคิดของเขาใช่ไหม? ทำไมไม่ลองฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง?
คุณอรวรรณ เขาก็บอกว่า ถ้าอยากให้สนใจก็เริ่มเลย ให้เริ่มพูดธรรมะให้เขาฟังเลย ให้แม่พูดให้เขาฟัง หนูก็เริ่มเลยว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง อย่างเห็นเดี๋ยวนี้ จริงหรือเปล่า? เขาก็บอกว่าเห็นจริง ได้ยินจริง แต่จริงๆ เขาก็พอได้ยินบ้างแล้วว่าอย่างไร แล้วก็บอกว่า ความจริงเหล่านี้ ถ้าเราไม่ฟังคำของพระพุทธเจ้าจะไม่มีวันรู้เลย เราก็คิดว่า เกิดมาไปวันๆ ชาติหนึ่ง อยู่ไปวันๆ แล้วก็ตายไป แล้วก็เกิดใหม่ ก็จะเต็มไปด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ควรจะรู้ไหม สิ่งที่ไม่รู้เลยว่า เห็น ได้ยินนี่เขาน่ารู้อย่างไร? เขาก็บอกว่า มันยังไม่น่ารู้ (หัวเราะ)
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ไม่น่ารู้ใช่ไหม? สำหรับเขา เพราะฉะนั้น ไม่มีวันจะรู้ ก็มีสองฝ่าย พวกรู้ กับ พวกไม่รู้ สำหรับคิดว่าไม่น่ารู้ เขาไม่มีวันจะรู้ แต่ก็มีอีกพวกหนึ่ง ที่สามารถที่จะไตร่ตรอง และรู้ว่า ประโยชน์จริงๆ ของชีวิตที่เกิดมาอยู่ที่ไหน ประโยชน์จริงๆ ค่ะ อาหารอร่อย เสื้อผ้าสวย สนุกสนานรื่นเริง แล้วก็หมด ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ อยู่ที่ไหน?
คุณอรวรรณ เข้าใจความจริง
ท่านอาจารย์ เขาพอใจเพียงชั่วสิ่งที่เขาต้องการ แต่เขาไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาต้องการ ไม่อยู่เลย ไม่เหลือเลย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ค่อยๆ ให้เขาเข้าใจขึ้น ว่าประโยชน์ของชีวิต ถ้าเขาตายวันนี้ล่ะ ประโยชน์อยู่ที่ไหน? สำหรับเขาก็ไม่เป็นไร ไปไหนก็ได้ จะตาย หรือจะเป็น ที่โน่น ที่นี่ โลกนี้ โลกนั้น เขาก็ไม่สนใจ แล้วเห็นชีวิตไหม? ว่าหลากหลายเหลือเกิน เป็นนกก็มี เป็นงูก็มี เป็นปลา เป็นไก่ เป็นคน เป็นสุนัข เป็นแมวก็มี เขาก็ไม่สนใจ ก็เรื่องของเขา
คุณอรวรรณ ท่านอาจารย์คะ แต่ว่าเป็นตัวอย่างของคนที่เป็นแบบนี้ เยอะ แบบว่า ก็เกิดมา ก็อยู่ไป แล้วก็ตายไป โดยไม่รู้อะไร
ท่านอาจารย์ ค่ะ พระผู้มีพระภาคฯตรัสว่า แล้วเราจะทำอะไรกับเขาได้ ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ต้องเป็นเรื่องของแต่ละคนว่า ฟังธรรมะแล้วเข้าใจแค่ไหน? ไม่ต้องสนใจชื่อได้ไหม? ถ้าเรารู้ว่าเดี๋ยวนี้มีสภาพธรรมะเกิด ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้สภาพนั้นเกิด เรายังไม่ต้องไปนั่งคิด แล้วปัจจัยอะไร? เพียงแต่ว่า "เห็น" เดี๋ยวนี้มี เกิดแล้ว ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ อย่างที่เราได้ยินคำว่า ถ้าไม่มีตา "เห็น" ก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีสิ่งที่สามารถกระทบตา "เห็น" ก็เกิดไม่ได้ เราฟังอย่างนี้ แล้วก็เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ คือ มีตา แล้วก็มีสิ่งที่กระทบตา แล้วก็มีจิตเห็น แค่นี้ จะต้องมาพูดว่า ปฏิจจสมุปปาท อะไรไหม? แต่ความจริงเป็นหรือเปล่า? เป็น แต่อยากเอาชื่อมาลำดับ แต่ความจริง ไม่ต้องเอาชื่อมาลำดับ เข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกิดขึ้น เกิดเองไม่ได้เลย แต่ว่าต้องมีปัจจัยแน่นอน อาศัยทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ "เห็น" ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าเห็นขณะนี้ ต้องอาศัยปัจจัย แค่นี้เราก็เข้าใจได้แล้ว พอเราเข้าใจทั้งหมด พอมาถึงปฏิจจสมุปปาทแต่ละองค์ก็เข้าใจได้ แต่ถ้าเราจะเอาความไม่รู้ของเรามา โน่นก็ไม่รู้ นี่ก็ไม่รู้ เอาปฏิจจสมุปปาทมาพูด แล้วเราจะเข้าใจหรือ? แต่ถ้าเราเข้าใจหมดแล้ว เราก็พูดได้ พอได้ยินเราก็เข้าใจเลย ว่าจะลำดับ แสดงธรรมะโดยนัยอะไร
คุณอรวรรณ กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าเข้าใจหมดแล้ว ก็สามารถเข้าใจว่า ปฏิจจสมุปปาท คือ เดี๋ยวนี้, ปัจจัย คือ เดี๋ยวนี้ , ทุกอย่าง อายตนะ ก็คือ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ อันนั้นคือ ถ้าเข้าใจหมดแล้ว แต่พวกเรา คือพวกที่ไม่เข้าใจหมด
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้ว อย่าง "เห็น" เกิด เป็นผลของกรรมชาติไหน?
คุณอรวรรณ ก็ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ พอบอกไม่ได้ นี่ก็แสดงแล้ว ต้องมีเหตุในอดีต ใช่ไหม? ซึ่งเหตุของเห็น จะเป็นเหตุในชาตินี้ก็ได้ กรรมในชาตินี้ก็ได้ หรือกรรมในชาติก่อนนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงถึงอดีต เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากในปัจจุบันได้ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ก็เข้าใจสมุปปาทไม่ได้ เพราะเหตุว่า อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณคือปฏิสนธิจิตและวิบากจิตทั้งหมดในชาตินั้น ที่ต้องมาจากกรรมที่ได้ทำแล้ว ซึ่งบอกไม่ได้ว่าชาติไหน แค่นี้เราไม่เข้าใจหรือ? ว่ามีกรรมที่ได้ทำแล้ว จึงมี "เห็น" เดี๋ยวนี้ แต่ใครก็บอกไม่ได้ว่า "เห็น" เดี๋ยวนี้ ไปทำกรรมอะไรมา "ได้ยิน" เดี๋ยวนี้ ไปทำกรรมอะไรมา ก็ไม่มีใครบอกได้ แต่ที่รู้ก็คือว่า มี "เหตุ" ที่ได้ทำแล้ว ทำให้เห็นเกิดขึ้น แต่ก่อนเห็นก็ต้องมี "ปฏิสนธิ"
เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายที่ได้ทำแล้ว คือ กรรมในอดีตที่ได้ทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิในชาตินี้ และ วิบากทั้งหลายในชาตินี้ ทั้งหมด ก็ต้องมาจากกรรมที่ได้ทำแล้ว แค่นี้ เราก็เข้าใจปฏิจจสมุปปาทโดยนัยอดีตเป็นปัจจัยให้เกิดปัจจุบัน คือ เอาความเข้าใจทั้งหมดที่เข้าใจตรง ถูกต้อง แล้วก็พระองค์ทรงแสดงโดยนัยปฏิจจสมุปปาท เท่านั้นเอง ประมวลมาให้รู้ แต่ว่าทั้งหมด คือความเข้าใจของเรา เราไม่ได้เข้าใจหรือ? ว่าเรามีอวิชชา ใช่ไหม? แล้วกุศลเกิดบ้าง อกุศลเกิดบ้าง ยังไม่ได้ดับหมดเลย กุศลนั้นก็ยังไม่ได้เป็นกิริยาจิต เพราะว่า ยังเป็นเหตุให้เกิดอยู่ เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศลทั้งหลาย ก็เพราะยังไม่รู้อยู่ เราก็เข้าใจได้
พอได้ยินคำว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร เราก็รู้ว่า เพราะยังมีอวิชชา ก็ยังต้องมีกุศลและอกุศล ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ ก็คือ ต้องมีการเกิดต่อไปอีก เกิดต่อไปอีก เกิดต่อไปอีก ไม่สิ้นสุด อวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขาร เป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณ เป็นปัจจัยแก่นามรูป กล่าวถึงเฉพาะในขณะที่ปฏิสนธิ นะคะ เห็นได้เลยว่าต้องมีเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม แล้วก็มีรูป ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตด้วย ทั้งหมด ก็คือ ความเข้าใจทั้งหมด แล้วก็มากล่าวโดย ปฏิจจสมุปปาท เท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลย แล้วมาศึกษาปฏิจจสมุปปาท ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้
คุณอรวรรณ กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ ท่านอาจารย์บอก ถ้าเข้าใจแล้ว ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน ท่านอาจารย์ก็อธิบาย จิตเป็นปัจจัยแก่นามรูป ก็รู้แล้วว่าเป็นเจตสิกกับกัมมชรูป แล้วก็นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ
ท่านอาจารย์ ก็เดี๋ยวนี้ ก็เป็นอายตนะ
คุณอรวรรณ ซึ่งก็รู้ว่า เดี๋ยวนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เพราะว่า เริ่มตั้งแต่เกิดมา พอมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ต้องมีผัสสะ กระทบอารมณ์ อะไรอย่างนี้ก็คือ เป็นเดี๋ยวนี้หมด
ท่านอาจารย์ ที่ฟังมาแล้วเข้าใจหมดนั่นแหละ มากล่่าวโดยนัยของปฏิจจสมุปปาท ว่าเป็นมาอย่างไร
คุณอรวรรณ ตรงนี้ก็คือ เข้าใจมาก ในการศึกษาคือเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ตรงนี้ จำเป็นไหมต้องเข้าใจว่า ปฏิจจสมุปปาทเป็นอย่างนี้ อายตนะเป็นอย่างนี้ เพราะว่า ก่อนที่จะรู้ว่ามันคืออันเดียวกัน จริงๆ ถ้าไม่ต้องเรียนนี่จะสบายมาก ขอยกตัวอย่าง ปัจจัยแล้วกัน ปัจจัยแต่ละปัจจัย ๒๔ ปัจจัย ชื่อก็ยาก แล้วยังแตกย่อยไปอีก ซึ่งก็รู้ว่า เรียนแล้วไม่ใช่ไปติดชื่อ ไปติดเรื่อง แต่ให้เข้าใจความเป็นธรรมะขณะนี้ ประเด็นที่สนทนา หลายคนบอกไม่ต้องไปเรียนหรอกว่าปัจจัยมีอะไร ยุ่งยาก เข้าใจขณะนี้เลย คำถามคือ คนที่ไม่รู้เลย ไม่เข้าใจเลย จำเป็นต้องเรียนปัจจัย เพื่อให้เข้าใจขณะนี้ หรือว่า เข้าใจขณะนี้ ไม่ต้องเรียนหรอกปัจจัย นี่เป็นอะไรที่ถกกันค่ะท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีประโยชน์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสไหม?
คุณอรวรรณ ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ตรัส
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจ มาพูดกันเรื่องปัจจัย ดีไหม?
คุณอรวรรณ ไม่รู้เรื่องค่ะ
ท่านอาจารย์ ก็ต้องตามลำดับ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ตามลำดับ ก็คือว่า เริ่มตั้งแต่ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องมีธรรมะซึ่งอาศัยกัน เป็นปัจจัย ทำให้เกิดขึ้น แค่นี้ พอที่จะผ่อนคลายความเป็นเราไหม? ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ที่จะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย ต้องอาศัยธรรมะที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ผ่อนคลายการติดข้องไหม? เริ่มรู้ไหม? ว่านี่คือธรรมะ เกิดเองไม่ได้เลยสักอย่าง "เห็น" เกิดเองไม่ได้ "คิด" เกิดเองไม่ได้ "จำ" เกิดเองไม่ได้ "รู้สึก" เกิดเองไม่ได้ ทั้งหมด ไม่ว่าอะไรที่จะเกิดขึ้น ต้องมีธรรมะที่อาศัย เป็นที่อาศัยให้ธรรมะนั้นเกิดขึ้น
นี่คือความมั่นคง ไม่ใช่ไปจำชื่อมา แล้วก็จำปัจจัยต่างๆ จึงชื่อว่าเรียนปัจจัย ไม่ใช่อย่างนั้น!!! นั่นฟังเรื่องราว แต่ว่า ความเข้าใจจากเรื่องราวมีไหม? นี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเรื่องราว บางคนก็ได้แค่ "เรื่องราว" แต่ไม่ได้เข้าใจธรรมะจากเรื่องราวที่ฟัง แต่ถ้าเราฟังธรรมะ เดี๋ยวนี้มีธรรมะ แล้วก็เข้าใจธรรมะด้วย ตามลำดับด้วย เพียงแค่มีความเข้าใจที่มั่นคง ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเดี๋ยวนี้ ที่กำลังปรากฏนี้ เกิดแล้ว ต้องเกิด ไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ และที่จะเกิดได้ ก็เพราะอาศัยปัจจัย ฟังแค่นี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ ละคลายความเป็นเรา แม้จะไม่มากมาย แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้เลย จะมีการละคลายความเป็นเรา ได้ไหม?
เพราะฉะนั้น จะเห็นประโยชน์ของความเข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย แม้หนึ่งขณะ สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าขณะนั้น ไม่มีความเข้าใจใน "หนึ่งขณะ" ขณะต่อไปจะมีไหม? นี่คือผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ ว่าไม่รู้มานานแสนนาน และรู้เท่าไหร่ ถึงสามารถละความไม่รู้และความติดข้องได้ เพราะฉะนั้น เพียงแค่ "หนึ่งขณะ" ก็ไม่ประมาท ที่เราจะเข้าใจธรรมะ แต่ต้องรู้จุดประสงค์ว่า ฟัง เพื่อเข้าใจ "ลักษณะ" ที่เป็นธรรมะ เพื่อรู้ว่า ลักษณะนั้น ไม่ใช่เรา เพราะเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง เห็นเป็นเห็น ได้ยินเป็นได้ยิน คือ เรากำลังศึกษาสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ว่าหลากหลายมาก และเกิดโดยไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ ทั้งหมดก็ไปสอดคล้องกับคำที่ว่า ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ว่าจะโดยปัจจัย โดยปฏิจจสมุปปาท โดยอะไรทั้งหมด ก็คือ ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา จนกว่าปัญญาสามารถที่จะเข้าถึงความเป็นอนัตตาได้
แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจจากการฟังเลย เราจะรู้ไหมว่า ขณะนี้เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ไม่ใช่ให้ไปจำชื่อ!! แล้วก็จำเรื่อง!!! แต่ให้รู้ความเป็นปัจจัยว่า ตา รูปที่สามารถกระทบ สี ต้องมี เป็นปัจจัย มิฉะนั้น "เห็น" เกิดไม่ได้ แค่นี้เราก็ไม่ต้องไปนั่งคิดแล้วใช่ไหม? ว่าโดยนิสสยปัจจัย โดยอะไร เพราะนั่น เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเราก็เอามาพูดเป็นภาษาไทยให้หมดเลย "เป็นที่อาศัยให้จิตเห็นเกิด" ก็เท่านี้เอง!!! "นิสสย" คือ "ที่อาศัย" แต่พอเราไม่เข้าใจ เราก็ไปจำชื่อและคำแปล เพราะไม่เข้าใจ แต่เมื่อเข้าใจแล้ว สองภาษา พูดเหมือนกันหมดเลย ความหมายอย่างเดียวกัน แต่ไม่ใช่ภาษาเดียวกัน แต่ก็กล่าวถึง สิ่งที่มีจริง
เพราะแม้ปัจจัยทั้งหลายที่เรียน ไม่ใช่ตั้งหน้า ตั้งตาเรียน เพื่อเราจะรู้ จะจำปัจจัย แต่เรียนเพราะรู้ว่า ปัจจัยหลากหลายมาก และทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างยิ่ง และใครเป็นผู้ที่ทรงแสดง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงเพื่อใคร? แสดงเพื่อให้คนที่ได้ฟัง ได้เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้ว่า แม้แต่เพียงหนึ่งอย่างที่เกิดดับ เร็วประมาณไม่ได้เลย เหมือนเกิดแล้วดับเลย คิดดู ทุกอย่างเวลานี้ เกิดแล้วดับเลย เกิดแล้วดับเลย แต่พระผู้มีพระภาคฯก็ยังทรงแสดงปัจจัย ของแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง เพื่อใคร? ให้ผู้ที่ฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ ได้เข้าใจความจริงว่า นี่แหละ ไม่ใช่เรา!!!
เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ต้อง "ไม่ใช่เรา" ไม่ใช่เป็นตัวเราจะไปรู้ปัจจัยต่างๆ หรือว่า ไปเรียนปัจจัยต่างๆ ถ้าเรียนโดยการรู้ว่าไม่ใช่เรา การเข้าใจปัจจัยทั้งหมดก็สะดวก ไม่ต้องไปจำชื่อ ใช่ไหม? แต่ชื่อนี้แหละ คำนี้แหละ อีกภาษาหนึ่งว่าอะไร เท่านั้นเอง!!! แต่ก็เป็นประโยชน์ที่จะรู้ภาษานั้นด้วย อย่างเมื่อกี้นี้ เราพูดถึงบุคคล ๔ ใช่ไหม? ถ้ารู้คำแปลด้วย เราไม่มีโอกาสจะเรียน จนกระทั่งมีความสามารถ เชี่ยวชาญ ที่จะไปรู้หลักเกณฑ์ กฏ ธาตุต่างๆ ของภาษาบาลี ซึ่งยาก ลึกซึ้งด้วย แต่อาศัยผู้ที่เรียนแล้ว รู้แล้ว ใช่ไหม? ทำให้เราได้เข้าใจบ้าง ในแต่ละคำที่เราพูด ไม่ใช่พูดโดยไม่รู้อะไรเสียเลย ใช่ไหม? อย่างน้อยก็พอจะเข้าใจแต่ละคำ แต่ละคำ เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพื่อที่จะไปรู้ภาษา แต่ภาษานั้นแหละ ส่องถึงความเป็นจริงของธรรมะ!!!
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการแปลจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย คนไทยก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรมะ ชาติอื่นก็ไม่มีโอกาส แต่เพราะเหตุว่า แต่ละชาติมีการศึกษาภาษาบาลี ซึ่งดำรงพระศาสนาไว้ ไม่ให้คลาดเคลื่อน ก็มีโอกาสที่จะได้เข้าใจ "ตัวธรรมะ" เพราะฉะนั้น "ตัวธรรมะ" เป็นเครื่องที่ยืนยันความถูกต้องของปัญญา มากกว่า "คำ" ซึ่งจำได้ แปลได้ แต่ไม่รู้ความหมาย หรือว่า ไม่รู้ความเป็นธรรมะ
เมื่อเข้าใจความเป็นธรรมะแล้ว "อารัมณปัจจัย" ก็ไม่ยาก ใช่ไหม? จิต เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมณ เพราะฉะนั้น ขาดสิ่งที่ถูกรู้ ได้ไหม? จิตเกิดมาแล้วไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ แล้วจิตไปรู้อะไร? เพราะฉะนั้น นั่นก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งขาดไม่ได้เลยสำหรับจิต เพราะว่า จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น อารัมณปัจจัย แค่สิ่งที่จิตรู้ ก็เป็นปัจจัย ที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น ขาดไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ แต่ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ มิฉะนั้น ก็เกิดไม่ได้ นี่คือ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิต แม้จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน รู้แจ้ง แต่ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ เห็นความ "ไม่ใช่เรา" มากขึ้น การศึกษาธรรมะ ที่เข้าใจตัวธรรมะ ก็จะทำให้รู้จุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อเข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมะ จริงๆ
อย่างเดี๋ยวนี้ เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ตัวธรรมะจริงๆ ที่ปรากฏกับจิตเห็น จะเกินกว่านี้ไม่ได้เลย และถ้าเราไม่มีความเข้าใจตรงนี้ แล้วเราไปรู้คำว่า อารัมณปัจจัย แต่ไม่รู้ว่า แม้เพียงเห็น อารัมณ อารมณ์ที่จิตเห็น เห็นจริงๆ แค่ไหน? ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็ผิด แปลว่าไม่ได้เข้าใจอะไร นี่คือการศึกษาให้เข้าใจในภาษาของตน ของตน เมื่อเข้าใจแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าใจคำในภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วย ว่าพระองค์ตรัสในภาษานี้ ก็ตรงกับที่สามารถที่จะเข้าใจในภาษาของตน ของตน ได้
คุณอรวรรณ กราบท่านอาจารย์ค่ะ ฟังท่านอาจารย์แล้ว สำหรับดิฉัน เป็นประโยชน์มากในแง่ที่ว่า ถ้าเข้าใจความเป็นธรรมะที่มั่นคง เมื่อเรียนอะไร เช่น...จิตเกิดรู้อารมณ์ นี่มั่นคง เพราะฉะนั้น อารมณ์ก็เป็นปัจจัยของจิต ถ้าใส่ชื่อก็เป็นอารัมณปัจจัย คือจะเข้าใจง่าย แต่ถ้าไปท่องว่า ปัจจัยมี ๒๔ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า อะไรบ้าง ก็โอ้โฮ..ไม่รู้เรื่องเลย แต่ถ้าเรียน รู้ตัวธรรมะ แล้วเขาจะใช้ชื่อว่าอะไร ก็เข้าใจไปตามนั้น ก็ทำให้ไม่ยุ่งยาก ไม่สับสน แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ แล้วก็ชินไปเรื่อยๆ ชื่อก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรมาก ในการเรียน แต่ถ้าเมื่อไหร่ต้องการไปจำแล้วก็ท่องก็จะยุ่งไปหมดเลย เดี๋ยวอายตนะ ๑๒ นี่ โน่น ๑๒ นี่ ๒๔ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ อะไรอย่างนี้ จะยุ่งยากมาก
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจธรรมะแล้ว ก็เข้าใจคำอื่นๆ หมดเลย แม้แต่อายตนะ ถ้าไม่มีสิ่งที่กระทบตา ไม่มีตา ไม่มีจิตเห็น ไม่มีเจตสิก ขณะนี้ก็ไม่มี นั่นคือ ความหมายของอายตนะ ที่ประชุม ที่ขาดไม่ได้เลย ต้องมีทั้ง ๔ ในขณะนั้น ซึ่งยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจ สำคัญกว่า และ ความเข้าใจนี้ จะถึงการรู้แจ้ง "ปัจจยปริคคหญาณ" ไม่ใช่เป็นชื่อ แต่เป็นความเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น การละคลายว่า ไม่มีใครในห้องนี้เลย ขณะใดที่เห็น ก็มีเพียงสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็น กว่าจะเอาใคร ดอกไม้ โต๊ะ เก้าอี้ ออกไปจากสิ่งที่ปรากฏได้ ถึงความเป็นอนัตตาว่า ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใครเลย แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง
แต่ละหนึ่งจริงๆ สิ่งที่ปรากฏ กระทบตา ไม่ใช่อย่างอื่นมากระทบได้เลย สิ่งนั้นอยู่ที่มหาภูตรูป ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม กระทบตาไม่ได้ แต่ สิ่งนี้แหละ ที่อยู่ที่นั่นแหละ กำลังกระทบตา เพราะฉะนั้น จิตเห็น เห็นอะไร? ก็เห็นแค่สิ่งที่กระทบตา เท่านั้นเอง!!! หนึ่งขณะจิต ต่อไปจะรู้ว่าเป็นอะไรก็ต้องเป็น "จิตคิด" ใช่ไหม? แล้วก็มีความจำ ทุกอย่างหมด ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีความไตร่ตรอง แล้วก็เข้าใจขึ้น แล้วก็มั่นคงด้วย
เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่เพียงแต่ จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ในภาษาไทย พอบอกเป็นภาษาบาลีก็ จักขุวิญญาณมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ พูดทำไมในเมื่อไม่เข้าใจเดี๋ยวนี้!!! ก็เดี๋ยวนี้ต่างหาก พูดเพื่อให้เข้าใจเดี๋ยวนี้ ว่านี่แหละจิตเห็น เห็นอะไร? ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ จนกว่าจะมั่นคง เพราะฉะนั้น ปัจจัยก็สามารถที่จะเข้าใจได้เลย ในความเป็นอารัมณปัจจัย มิฉะนั้น เอา "เรา" ออกได้อย่างไร? ขณะนี้ เป็นธรรมะ แน่นอน แต่รู้แค่ไหน? เห็นไหม? ต่างกันแล้ว ฟังคำ เข้าใจคำ เพราะคำนั้น ส่องถึงสภาพธรรมะที่มีจริง ทุกคำ เป็นไปตามความหมายของธรรมะ "ได้ยิน" แค่คำนี้ ต้องมีสภาพธรรมะที่ได้ยิน มีคำว่า "ได้ยิน" เป็นไปตามความหมายของคำ คือ ธรรมะที่มีจริงๆ ว่า ไม่ใช่ธรรมะอื่น
ยังไม่ถึงปัจจัย ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ปัจจัยจะมาเมื่อไหร่? "ปัจจยปริคคหญาณ" ต่อจาก "นามรูปปริจเฉทญาณ" จะให้รู้ปัจจัยเลยได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่รู้ "ตัวธรรมะ" แต่เพราะตัวธรรมะนี่แหละ ที่คุ้น จนกระทั่ง พอรู้ก็รู้ได้เลยว่า อะไรเป็นปัจจัย มิฉะนั้นแล้ว สิ่งนี้ ปรากฏไม่ได้เลย แต่ไม่ไปเรียกชื่อ!!! แต่ "เข้าถึงความเป็นธรรมะ" ซึ่งเกิดเพราะปัจจัย กว่าจะค่อยๆ ละ "ความเป็นเรา" เพราะไม่รู้ ไปเรียนธรรมะ โดยการที่ว่า ไม่ได้เข้าใจว่า "เพื่อเข้าใจธรรมะ" ไม่ใช่ไปจำชื่อ!!! เพราะฉะนั้น เวลาที่เรียนธรรมะ ก็สามารถที่จะรู้ว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้ "ตัวธรรมะ" คือ อะไร ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือ พระอภิธรรม
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็คือว่า เข้าใจตัวธรรมะอย่างมั่นคงขึ้น จนกระทั่งสามารถที่ สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่พอมาถึงก็ สติปัฏฐาน ก็จบกัน คือ เรื่องไม่รู้!!!
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ
อนุโมทนาคะ
อนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ
.................สาธุ
กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่อุทิศตนเผยแพร่พระธรรมตลอดเวลาที่ทราบว่ามีผู้สนใจฟังความจริง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มีหลายคนแนะนำให้ท่านพักผ่อนมากขึ้น ท่านตอบว่า เสียเวลาซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว นั่งที่ไหนก็นั่งเหมือนกัน พูดที่ไหนก็พูดเหมือนกัน แต่พูดธรรมให้คนเข้าใจมีประโยชน์มากที่สุด เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด กราบขอบพระคุณค่ะ
ขออนุโมทนาคุณหมอวิภากร ที่เพราะเคยทำบุญไว้แต่ปางก่อน จึงทำให้คิดด้วยโยนิโสมนสิการ ทำให้เห็นประโยชน์ของการฟังธรรมให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็คิดจะนำทรัพย์ที่หามาด้วยความยากลำบากติดตามไปในชาติต่อๆ ไปด้วย และคุณหมอก็ทำได้ที่จัดให้มีสนทนาธรรมที่บ้านพักในวันนี้ ทำให้อีกหลายคนได้ฟังธรรมด้วย
ขออนุโมทนาคุณวันชัย ภู่งามที่เสียสละเวลาปลูกต้นไม้ตกแต่งสวนในบ้านใหม่มาถอดเทป ใส่เรื่องและภาพประกอบ ทำให้ผู้ไม่ได้ไปร่วมการสนทนาธรรม ได้ติดตามอ่าน ได้ทั้งอรรถรสและธรรมรสค่ะ
ขอบขอบคุณ
ขออนุโมทนาครับ
กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
ทุกข้อความ แม้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็มีธาตุรู้ที่ทำหน้าที่ให้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก นอกจากการฟัง ทุกวัน ๆ ที่ค่อยๆปรุงแต่งสังขารขันธ์ อย่างตรงตามหน้าที่ ให้เห็นประโยชน์ที่จะสะสมความเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณและพระปัญญาธิคุณ ตลอด 45 พรรษา จึงมีความพอใจด้วยกุศลฉันทะที่จะฟังต่อไปด้วยความเคารพ และอดทน
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
ยินดีในกุศล อ.วิทยากร คุณหมอวิภากร คุณหมออำไพขนิษฐ์ คุณวันชัย พี่อรวรรณ และผู้ร่วมสนทนาและสหายธรรมทุกท่านค่ะ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วมีจิต โสมนัสยินดีในกุศลนี้ด้วยเทอญ