[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 591-593
๑๐. สุปุพพัณหสูตร
(ว่าด้วยเวลาที่เป็นฤกษ์ดี)
[๕๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น.
(นิคมคาถา)
กายกรรม วาจากรรม มโนกรรม ความปรารถนาของท่าน เป็นประทักษิณ เป็นฤกษ์ดี มงคลดี แจ้งดี รุ่งดี ขณะดี ครู่ดี และเป็นการบูชาอย่างดีในพรหมจารีทั้งหลาย คนทำกรรมอันเป็นประทักษิณแล้ว ย่อมได้ประโยชน์อันเป็นประทักษิณ ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้มีประโยชน์อันได้แล้ว ถึงซึ่งความสุข งอกงามในพระพุทธศาสนา เป็นผู้หาโรคมิได้ สำราญกายใจ พร้อมด้วยญาติทั้งปวงเทอญ.
จบสุปุพพัณหสูตรที่ ๑๐
อรรถกถาสุปุพพัณหสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสุปุพพัณหสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
ในคำเป็นต้นว่า สุนกฺขตฺตํ วันที่คนทั้งหลายบำเพ็ญสุจริตธรรมทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ ชื่อว่าเป็นวันที่ได้การประกอบฤกษ์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วันนั้น มีฤกษ์ดีทุกเมื่อ. วันนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า เป็นวันทำมงคลแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วันนั้นมีมงคลดีทุกเมื่อ. แม้วันที่มีความสว่างไสวทั้งวัน จึงชื่อว่า สุปฺปภาตเมว (มีความสว่างไสวเป็นประจำ) . แม้การลุกขึ้นจากการนอนของวันนั้น ก็ชื่อว่า สุหุฏฺฐิตํ (ลุกขึ้นด้วยดี) . แม้ขณะของวันนั้น ก็ชื่อว่า สุกฺขโณ (ขณะดี) . แม้ยามของวันนั้น ก็ชื่อว่า สุมุหุตฺโต (ยามดี) .
ก็ในบทว่า สุมุหุตฺโต นี้ พึงทราบการแบ่งเวลาดังนี้ เวลาประมาณ ๑๐ นิ้ว ชื่อว่า ขณะ เวลา ๑๐ นิ้ว โดยขณะนั้น ชื่อว่า ลยะ. เวลา ๑๐ ลยะ โดยลยะนั้น ชื่อว่าขณลยะ. เวลา ๑๐ เท่า โดยขณลยะนั้น ชื่อว่า มุหุตฺตะ. เวลา ๑๐ เท่า โดยมุหุตตะนั้น ชื่อว่า ขณมุหุตฺตะ.
บทว่า สุยิฏฐํ พฺรหฺมจาริสุ ความว่า ทานที่เขาให้ในผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ในวันที่บำเพ็ญสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์แล้ว ชื่อว่า สุยิฏฺฐํ (มีการบูชาดีแล้ว) .
บทว่า ปทกฺขิณํ กายกมฺมํ ความว่า กายกรรมที่เขาทำแล้วในวันนั้น ชื่อว่าเป็นกายกรรม ประกอบด้วยความเจริญ. แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า ปทกฺขิณานิ กตฺวาน ความว่า ครั้นกระทำกายกรรมเป็นต้น ที่ประกอบด้วยความเจริญแล้ว.
บทว่า ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ ความว่า จะได้ประโยชน์ที่เป็นประทักษิณ คือประโยชน์ที่ประกอบด้วยความเจริญนั่นเอง.
ข้อความที่เหลือในพระสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาสุปุพพัณหสูตรที่ ๑๐
สาธุ
อนุโมทนาค่ะ
น้อมกราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ