เกี่ยวกับ อันธการสูตร
โดย ใหญ่ราชบุรี  10 ต.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25626

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต

๘. อันธการสูตร

๑. เรียนขอทราบ อรรถสาระโดยสังเขป เป็นเบื้องต้น แห่งพระสูตรนี้

๒. เรียนขอคำอธิบาย เกี่ยวกับ ความหมาย ของ ธรรมะ ตามชื่อที่ปรากฏเหล่านี้ (เป็นเจตสิกประเภทต่างๆ หรืออย่างไรคะ)

-พระโยคาวจร

-อกุศลวิตก ๓ ประการเป็นไฉน คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑

-กุศลวิตก ๓ ประการเป็นไฉน คือ เนกขัมมวิตก ๑ อพยาบาทวิตก ๑ อวิหิงสาวิตก ๑

-พึงตรึก

-กุศลวิตก ๓ ประการ

-แต่พึงนำอกุศลวิตก ๓ ประการออกเสีย

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนา สำหรับคำตอบคำอธิบาย นะคะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 10 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ใน อันธการสูตร แสดงถึงอกุศลวิตก ทำให้ไม่รู้ กั้น ไม่เกิดปัญญา ส่วนกุศลวิตกทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ ซึ่งวิตกเหล่านี้กล่าวโดยนัยสูงสุดที่ทำให้ละกิเลสได้คือ เกิดกับมรรคจิตนั่นเองครับ ก่อนอื่นเข้าใจวิตกก่อนว่าคืออะไร

วิตก คือ สภาพธรรมที่ตรึก นึกคิด พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วิตก เป็นดั่งเช่น เท้าของโลก คือ เที่ยวไปในอารมณ์ ในสิ่งต่างๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า ตรึกนึกไปในอารมณ์ต่างๆ มากมาย ดังนั้นคำว่า วิตก โดยภาษาที่เข้าใจกันทางโลก ก็มักหมายถึง วิตกกังวลความเครียด คือ ความวิตก แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิตกเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท และเกิดกับอกุศลจิตด้วย ทั้งโลภะ โทสะ ก็เช่นกัน วิตกก็สามารถเกิดขึ้นได้ดังนั้นไม่ใช่เฉพาะขณะที่ทุกข์ใจ เครียดหรือกลัว จะเป็นอกุศลวิตกเท่านั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงความวิตก 3 ประการ ดังนี้

วิตก ๓ อย่าง คือ

๑. กามวิตก (ความดำริในทางกาม)

๒. พยาบาทวิตก (ความดำริในการปองร้าย)

๓. วิหิงสาวิตก (ความดำริในการเบียดเบียน)

ส่วนฝ่ายกุศลวิตกก็นัยตรงกันข้าม

ซึ่งแต่ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน มากไปด้วยกิเลสที่มีมาก ก็ย่อมจะเกิดอกุศลวิตกได้มากกว่า ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางการละอกุศลวิตกที่ถูกต้อง และหมดสิ้นจริงๆ ซึ่งเป็นหนทางที่ประเสริฐ คือการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะเข้าใจว่าแม้อกุศลวิตกที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา การรู้ความจริงเช่นนี้ ย่อมจะละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล ที่เป็นความเห็นได้ และย่อมละกิเลสเป็นลำดับ โดยเริ่มจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจไปเรื่อยๆ ในหนทางที่ถูกต้อง ครับ

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 210

[๑๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วใน สติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตตสมาธิอยู่ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 10 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังผู้ศึกษาได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง สำหรับอันธการะ แปลว่า มืดมน ในความเป็นจริงของธรรมแล้ว มุ่งหมายถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ประกอบด้วยอวิชชา ความไม่รู้ ทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเกิดไม่ได้ ไม่สามารถเข้าใจความจริงได้ในขณะที่เป็นอกุศล สภาพธรรมที่ทำให้เกิดความมืดมืน ไม่ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ในอันธการสูตรพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอกุศลวิตก ๓ ซึ่งเป็นความตรึกไปในกาม เป็นไปกับด้วยความติดข้องยินดีพอใจพยาปาทวิตก ตรึกไปในทางพยาบาท โกรธ ขุ่นเคืองใจ และ วิหิงสาวิตก ตรึกไปในทางเบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่น เป็นเรื่องของอกุศธรรมทั้งหมด

สภาพธรรมที่เป็นอกุศล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อุปการะเกื้อกูล แก่ผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีความเพียรที่ศึกษาพระธรรม เจริญปัญญา (โยคาวจรบุคคล) เพื่อขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลธรรม ต่อจากนั้นพระองค์ทรงแสดงถึง กุศลวิตก ๓ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันกับอกุศลวิตก ๓ อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นความตรึกไปในการออกจากกาม ตรึกไปในการไม่พยาบาท ตรึกไปในการไม่เบียดเบียน

พระธรรมคำสอนทั้งหมดเป็นเครื่องแนะนำที่ดี ส่องให้เข้าใจถึงการสะสมของแต่ละคนว่ามากไปด้วยสิ่งที่ไม่ดีเพียงใด เพื่อประโยชน์แก่การขัดเกลาละคลายด้วยธรรมฝ่ายดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก จนในที่สุดก็สามารถละอกุศลธรรมที่เปรียบเหมือนกับความมืดให้หมดสิ้นไปได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 10 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย tanrat  วันที่ 10 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ประสาน  วันที่ 11 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 14 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ