[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 51
๕. อาสังกชาดก
ว่าด้วยเรื่องความหวัง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 51
๕. อาสังกชาดก
ว่าด้วยเรื่องความหวัง
[๘๕๕] เถาวัลย์ ชื่อ อาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดาวัน พันปีมันจึงจะออกผลๆ หนึ่ง.
[๘๕๖] เมื่อมีผลระยะไกลถึงเพียงนั้น ทวยเทพ ก็ยังพากันไปเยือนมันอยู่บ่อยๆ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จงทรงจำนงหวังไว้เถิด เพราะว่าความหวัง ที่มีผลเป็นเหตุ ให้เกิดความสุข.
[๘๕๗] ปักษีนั้นหวังอยู่นั่นเอง นกนั้นหวังอยู่นั่นเอง ความหวังของมัน มีอยู่ไกลถึงเพียงนั้น ก็ยังสำเร็จได้ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ จงทรงจำนงหวังไว้ เพราะว่าความหวัง ที่มีผลเป็นเหตุ ให้เกิดความสุข.
[๘๕๘] เธอให้ฉันเอิบอิ่มด้วยวาจา แต่หาให้เอิบอิ่ม ด้วยสิ่งที่ควรทำไม่ เหมือนดอกหงอนไก่ มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 52
[๘๕๙] ผู้ใดไม่ให้ปันไม่เสียสละโภคะ พูดแต่คำอ่อนหวาน ที่ไร้ผล ในมิตรทั้งหลาย ความสัมพันธ์กับมิตรนั้น ของผู้นั้น จะจืดจางไป.
[๘๖๐] เพราะว่าคนควรพูด แต่สิ่งที่จะต้องทำ ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่ไม่ต้องทำ บัณฑิตทั้งหลาย รู้จักคนไม่ทำ ดีแต่พูด.
[๘๖๑] ก็แหละ กำลังพลของเรา ร่อยหรอแล้ว และเสบียงก็ไม่มี เราสงสัย ในความสิ้นชีวิตของตน เชิญเถิด เราจะไปเดี๋ยวนี้แหละ.
[๘๖๒] ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ สิ่งใดมีอยู่ในชื่อ สิ่งนั้นนั่นแหละ เป็นชื่อของหม่อมฉัน ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ จงทรงรอก่อน หม่อมฉันจะขอบอกลาบิดา.
จบ อาสังกชาดกที่ ๕
อรรถกาอาสังกชาดกที่ ๕
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ การหลอกลวงของภรรยาเก่า จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อาสาวตี นาน ลตา ดังนี้. เรื่องนี้จักมีแจ้งชัด ในอินทริยชาดกข้างหน้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 53
แต่ในที่นี้ พระศาสดา ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ได้ทราบว่า คุณจะสึกจริงหรือ?
ภิ. จริงพระพุทธเจ้าข้า.
พ. อะไรทำให้เธอสึก?
ภิ. ภรรยาเก่า พระพุทธเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงนี้ทำความพินาศ ย่อยยับให้เธอ ไม่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน เธอก็อาศัยหญิงนี้ ละทิ้งจตุรงคเสนา เสวยทุกข์ขนาดหนัก อยู่ในท้องที่ป่าหิมพานต์ เป็นเวลา ๓ ปี แล้วได้ทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิด ในสกุลพราหมณ์ ที่บ้านกาสิกะ เติบใหญ่แล้ว ได้รับการศึกษา ที่เมืองตักกศิลา บวชเป็นฤาษี มีหัวมัน และผลไม้ในป่า เป็นอาหาร ให้อภิญญา และสมาบัติเกิดขึ้นแล้ว อยู่ในท้องถิ่น ป่าหิมพานต์. เวลานั้น สัตวโลกตนหนึ่งถึงพร้อมด้วยบุญ จุติจากดาวดึงส์พิภพ เกิดเป็นเด็กหญิง ที่กลีบบัวกลีบหนึ่ง ในสระบัว ณ ที่นั้น เมื่อดอกบัว เหลืองเหี่ยวร่วงโรยลงไป ดอกบัวดอกนั้น ยังกลีบพองท้องป่องอยู่ นั่นแหละ ไม่โรย. ท่านดาบสได้มายังสระบัวนั้น เพื่ออาบน้ำ เห็นดอกบัวดอกนั้น คิดว่า เมื่อดอกบัวดอกอื่นๆ ร่วงโรยไปแล้ว แต่ดอกนี้ยัง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 54
คงกลีบพอง ท้องป่องอยู่ จะมีเหตุอะไรหนอ? แล้วผลัดผ้าอาบน้ำลงไป เปิดดูดอกบัวดอกนั้น เห็นเด็กหญิงคนนั้นแล้ว เกิดความสำคัญขึ้นว่า เป็นลูกสาว นำมายังบรรณศาลา เลี้ยงดูไว้. ต่อมานางอายุได้ ๑๖ ขวบ มีรูปร่างสวยงาม เลอโฉม เกินผิวพรรณมนุษย์ แต่ไม่ถึงผิวพรรณเทวดา. ครั้งนั้น ท้าวสักกะได้เสด็จมาสู่ ที่อุปฐากพระโพธิสัตว์. ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นนาง จึงตรัสถามว่า หญิงนี้มาจากไหน? ทรงสดับทำนองที่ได้มาแล้ว ตรัสถามว่า ควรจะได้อะไรสำหรับหญิงนี้? ท่านดาบสทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร พระราชสมภารเจ้า ควรจะได้เนรมิตรปราสาท แก้วผลึกเพื่อเป็นที่อยู่ และการจัดแจงที่นอนทิพย์ เครื่องประดับประดา วัตถาภรณ์ และโภชนะอันเป็นทิพย์ให้. ท้าวสักกะทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า ดีแล้วพระคุณเจ้า แล้วได้ทรงเนรมิตร ปราสาทแก้วผลึก ให้เป็นที่อยู่ของนาง เสร็จแล้วทรงเนรมิตรที่นอนทิพย์ เครื่องประดับประดา วัตถาภรณ์ และข้าวน้ำ อันเป็นทิพย์ให้. ปราสาทนั้น เวลานางขึ้น ก็ลดต่ำลง มาสถิตอยู่ที่พื้นดิน แต่เวลานางลงแล้ว ก็เลื่อนขึ้นไป ลอยอยู่บนอากาศ. นางทำวัตรปฏิบัติพระโพธิสัตว์ อยู่ในปราสาท. พรานป่า คนหนึ่ง เห็นนางเข้า จึงเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ หญิงคนนี้ เป็นอะไรของพระคุณเจ้า. ได้ทราบว่า เป็นธิดา จึงไปยังเมืองพาราณสี ทูลในหลวงว่า ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นธิดาของดาบสรูปหนึ่ง มีรูปร่างอย่างนี้ คือ สวยงาม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 55
ในท้องที่ป่าหิมพานต์. พระองค์ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงสนพระทัย เพราะเกี่ยวข้องกับการได้ทรงสดับข่าว นั่นเอง จึงให้พรานป่า เป็นผู้นำทางเสด็จไปยังที่นั้น ด้วยจตุรงคเสนา ทรงตั้งค่ายไว้แล้ว ทรงพาพรานป่าไป มีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม เสด็จเข้าไปยังอาศรมบท ทรงไหว้พระมหาสัตว์แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่า หญิง เป็นมลทินของพรหมจรรย์ โยมจะเลี้ยงดูธิดา ของพระคุณเจ้า.
ส่วนพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งชื่อ ให้กุมาริกานั้นว่า อาสังกากุมารี เพราะว่าท่านแคลงใจว่า อะไรหนออยู่ในดอกบัวนั้น แล้วจึงลงน้ำไป เอาขึ้นมา.
ท่านไม่ทูลพระราชานั้นตรงๆ ว่า มหาบพิตรจงรับเอานางนี้ไป แต่ทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์เมื่อทรงทราบ ชื่อของ กุมาริกาคนนี้แล้ว จงทรงรับเอาไปเถิด.
พระองค์ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อพระคุณเจ้าบอกโยมก็จักรู้.
พระโพธิสัตว์ทูลว่า อาตมาภาพ จะไม่ทูลบอกมหาบพิตร ขอให้มหาบพิตร ทรงทราบนาม ด้วยกำลังพระปัญญา ของมหาบพิตรเอง แล้วทรงรับเอาไปเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 56
พระราชาทรงรับคำท่านแล้ว จำเดิมแต่นั้นมา จึงทรงใคร่ครวญ ดูชื่อของนาง พร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งหลายว่า หญิงนี้ ชื่ออะไรหนอ?
พระองค์ทรงกำหนดชื่อ ไว้หลายชื่อ ที่รู้กันยาก แล้วตรัสบอกกับ พระโพธิสัตว์ว่า จักเป็นชื่อโน้น จักเป็นชื่อโน้น. พระโพธิสัตว์ทรงสดับคำนั้นแล้ว ก็ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ชื่ออย่างนี้. ลำดับนั้น เมื่อ พระราชาทรงใคร่ครวญ ดูชื่ออยู่นั่นแหละ กาลเวลาได้ล่วงไป ๑ ปีแล้ว. ครั้งนั้น สัตว์ร้ายทั้งหลาย มีสิงห์โต เป็นต้น ตะครุบช้าง ม้า และมนุษย์ทั้งหลายกิน. อันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานก็มี. อันตรายจากเหลือบก็มี. คนทั้งหลายลำบากเพราะตายกันไปมาก. จึงพระราชาทรงกริ้ว แล้วคิดว่า เราจักมีความต้องการทำไม ด้วยหญิงนี้. ตรัสบอกพระโพธิสัตว์ แล้วก็เสด็จไป. วันนั้นอาสังกากุมาริกา เปิดหน้าต่างแก้วผลึก แล้วได้ยืนแสดงตัวให้เห็น. พระราชาทอดพระเนตรเห็นนางแล้วตรัสว่า เราไม่อาจจะรู้จัก ชื่อของเธอได้ เธอจงอยู่ที่ป่าหิมพานต์ไปเถิดนะ พวกฉันจักไปละ. นางจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์จะเสด็จไปที่ไหน จึงจะได้ผู้หญิงเช่นหม่อมฉัน ขอพระองค์ทรงสดับคำของหม่อมฉัน เถาวัลย์ ชื่ออาสาวดี มีอยู่ที่จิตรลดาวัน ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ น้ำทิพย์เกิดขึ้น ภายในผลของมัน เทพยดาทั้งหลาย ดื่มน้ำนั้นครั้งเดียว นอนเมา อยู่บนที่นอนทิพย์ ถึง ๔ เดือน แต่เถาอาสาวดีนั้น หนึ่งพันปี จึงจะออกผล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 57
พวกเทพบุตรที่เป็นนักเลงสุรา คิดว่า พวกเราจักได้ผล จากเถาอาสาวดีนี้ จึงยับยั้งความกระหาย ในการดื่มน้ำทิพย์ไว้ พากันไปดูเถานั้นเนืองๆ ว่า ยังปลอดภัยอยู่หรือ? ตลอดพันปี. ส่วนพระองค์ปีเดียวเท่านั้นเอง ก็ท้อพระราชหฤทัยเสียแล้ว ธรรมดาความหวังที่มีผล คือ ความสมหวัง เป็นเหตุให้เกิดความสุข ขอพระองค์อย่าทรงท้อ พระราชหฤทัยเลย ดังนี้ แล้วกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-
เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดาวัน พันปีมันจึงจะออกผลๆ หนึ่ง เมื่อมีผลระยะไกลถึงเพียงนั้น ทวยเทพยังพากันไป เยือนมันอยู่บ่อยๆ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ จงทรงจำนงหวังไว้เถิด เพราะความหวังที่มีผล เป็นเหตุให้เกิดความสุข. นกนั้นหวังอยู่นั่นเอง ความหวังของมัน มีอยู่ไกลถึงเพียงนั้น ก็ยังสำเร็จได้. ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ จงทรงจำนงหวังไว้เถิด เพราะความหวังที่มีผล เป็นเหตุให้เกิดความสุข.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสาวตี ได้แก่ เถาวัลย์ที่มีชื่อ อย่างนี้ อธิบายว่า เถาวัลย์นั้น ได้ชื่อนี้ เพราะเทวดาเกิดความหวังใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 58
ผลของมัน. บทว่า จิตฺตลตาวเน ความว่า ในสวนที่มีชื่ออย่างนี้. ได้ทราบว่า ในสวนนั้น รัศมีของต้นไม้ และเถาวัลย์ ทำสีของร่างกายเทวดาทั้งหลาย ผู้เข้าไปในวันนั้น ให้วิจิตรงดงาม ด้วยเหตุนั้น สวนนั้นจึงเกิด มีชื่อว่า จิตรลดาวัน. บทว่า ปยิรุปาสนฺติ ความว่า ไปเยือนบ่อยๆ. บทว่า อาสึเสว ความว่า จงทรงจำนงหวังเถิด คือทรงปรารถนาทีเดียว ได้แก่ จงอย่าทำกรรม คือ การตัดความหวังทิ้ง.
พระราชาทรงสนพระทัย ในถ้อยคำของนาง จึงทรงประชุมอำมาตย์ทั้งหลาย ทรงแสวงหาชื่อของนาง โดยทรงตั้งชื่อ ๑๐ ชื่อ ได้ประทับอยู่อีกหนึ่งปี. ในชื่อทั้ง ๑๐ นั้น ไม่มีชื่อของนาง เมื่อพระราชดำรัส ว่าชื่อนี้ พระโพธิสัตว์ปฏิเสธเหมือนกัน. พระราชาจึงทรงม้าเสด็จออกไปอีก ด้วยทรงดำริว่า เราจักมีความต้องการทำไม ด้วยหญิงคนนี้. ส่วนนางก็ยืนที่หน้าต่าง แสดงตัวให้เห็นอีก. พระราชาทรงเห็นนางแล้ว ได้ตรัสว่า พวกเราไม่สามารถรู้จัก ชื่อเธอ เธอจงอยู่ที่ป่าหิมพานต์ไปเถิด พวกฉันจักกลับละ
อา. ข้าแต่มหาราช เหตุไหนพระองค์จึงจะเสด็จไปเสีย?
รา. ฉันไม่สามารถจะรู้จัก ชื่อของเธอ.
นางทูลว่า ข้าแต่มหาราช เหตุไฉน? พระองค์จักไม่ทรงรู้จักชื่อ ธรรมดาความหวัง ที่จะไม่ให้สำเร็จ ตามประสงค์ไม่มี ขอพระองค์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 59
จงทรงสดับคำของหม่อมฉันก่อน ได้ทราบว่า นกยางตัวหนึ่ง เกาะอยู่บนยอดเขา แต่ก็ได้รับสิ่งที่ตนปรารถนา เหตุไฉนพระองค์จักไม่ได้รับ ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงยับยั้งอยู่เถิดพระเจ้าข้า. เล่าต่อกันมาว่า นกยางตัวหนึ่ง บินไปคาบเอาเหยื่อ ที่สระบัวแห่งหนึ่ง แล้วกลับมาซ่อนอยู่บนยอดเขา มันอยู่ที่นั้น นั่นแหละ ตลอดวันนั้น รุ่งขึ้นจึงคิดว่า เราได้เกาะอยู่อย่างสบายบนยอดเขาลูกนี้ ถ้าหากเราจะไม่เคลื่อนย้ายไป จากที่ตรงนี้ เจ้าอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น คาบเอาเหยื่อดื่มน้ำแล้ว อยู่ตลอดวันนี้ คงจะเจริญหนอ. จึงในวันนั้น นั่นเอง ท้าวสักกเทวราช ทรงทำการย่ำยีพวกอสูร ได้ความเป็นใหญ่ในเทวโลก ในดาวดึงส์พิภพ แล้วทรงดำริว่า ก่อนอื่นมโนรถ คือความต้องการของเรา ได้ถึงที่สุดแล้ว มีอยู่หรือไม่ ใครอื่นที่มีมโนรถยังไม่ถึงที่สุด. ท้าวเธอทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ทรงเห็นนกยางตัวนั้น จึงทรงดำริว่า เราจักให้มโนรถของมันถึงที่สุด. แล้วได้ทรงบันดาลให้แม่น้ำสายหนึ่ง ที่อยู่ไม่ไกล จากที่ที่นกยางนั้นเกาะอยู่ เต็มไปด้วยห้วงน้ำ แล้วส่งน้ำไปทางยอดเขา. นกยางเกาะอยู่ยอดเขานั้น นั่นแหละ จิกกินปลาดื่มน้ำแล้ว อยู่ ณ ที่นั้น นั่นเอง ตลอดวันนั้น ภายหลังแม่น้ำก็เหือดหายไป. ข้าแต่มหาราช นกยางยังได้รับผล เพราะความหวังของตนอย่างนี้ก่อน เหตุไร? พระองค์จักไม่ทรงได้รับ ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาว่า อาสึสเถว ดังนี้เป็นต้น
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึสเถว ความว่า จงหวังเถิด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 60
คือจงปรารถนาเถิด. บทว่า ปกฺขี ความว่า นกชื่อว่า ปักขี เพราะประกอบด้วยปีก. ชื่อว่า ทิช เพราะเกิด ๒ ครั้ง. บทว่า ตาว ทูรคตา สติ ความว่า ขอพระองค์จงทรงดูเถิด ความที่ปลา และน้ำมีอยู่ ใกล้จากยอดเขา แต่ความหวังของนกยางนั้น มีไปในระยะไกลอย่างนี้ ก็ยังเต็มได้เหมือนกัน ด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ.
ครั้งนั้น พระราชาได้ทรงสดับคำของนางแล้ว ทรงติดพระทัยในรูป ทรงข้องพระทัยอยู่ในถ้อยคำของนาง ไม่อาจจะเสด็จไปได้ ทรงประชุมอำมาตย์ทั้งหลาย ตั้งชื่อ ๑๐๐ ชื่อ. เมื่อพระองค์ทรงแสวงหาชื่อ ๑๐๐ ชื่ออยู่ ก็ล่วงไปอีกปีหนึ่ง. ท้าวเธอเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ โดยเวลาล่วงเลยไป ๓ ปี ตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางจักมี ชื่อโน้น จักมีชื่อนี้. ตามอำนาจของชื่อ ๑๐๐ ชื่อ. พระโพธิสัตว์ทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ไม่ทรงรู้จักชื่อของนาง. ท้าวเธอ ตรัสว่า บัดนี้พวกกระผมจักลาไปละ. ทรงไหว้พระโพธิสัตว์แล้วเสด็จออกไป. อาสังกากุมาริกา ก็ได้ยืนพิงประตูหน้าต่างแก้วผลึก อีกนั่นแหละ. พระราชาทอดพระเนตรเห็นนางแล้ว ตรัสว่า เธอจงอยู่ไปเถิด พวกเราจักไปละ. นางทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เหตุไร? พระองค์จึงจักเสด็จไปเสียล่ะ. พระราชาตรัสว่า เธอให้เราอิ่มเอิบด้วยคำพูดอย่างเดียว แต่ไม่ให้อิ่มเอิบด้วยความยินดีในกาม. ๓ ปีได้ผ่านไปแล้ว สำหรับเรา ผู้ติดใจถ้อยคำที่อ่อนหวานของเจ้า บัดนี้ฉันจักไปละ แล้วได้ตรัส
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 61
พระคาถาเหล่านี้ว่า :-
เธอให้ฉันเอิบอิ่มด้วยวาจา แต่หาให้เอิบอิ่มด้วยสิ่งที่ควรทำไม่ เหมือนดอกหงอนไก่ มีสีสวยแต่ไม่มีกลิ่น ผู้ใดไม่ให้ปันไม่เสียสละ โภคะ พูดแค่คำอ่อนหวานที่ไร้ผล ในมิตรทั้งหลาย ความสัมพันธ์กับมิตรนั้น ของผู้นั้น จะจืดจางไป. เพราะว่าคนควรพูด แต่สิ่งที่จะต้องทำ ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่ไม่ต้องทำ บัณฑิตทั้งหลายรู้จักคนไม่ทำ ดีแต่พูด. ก็แหละ กำลังพลของเราร่อยหลอแล้ว และเสบียงก็ไม่มี เราสงสัยในความสิ้นชีวิตของตน เชิญเถิด เราจะไปเดี๋ยวนี้แหละ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺเปสิ ได้แก่ ให้อิ่มเอิบ คือให้ เอิบอิ่ม. คำว่า มาลา โสเรยฺยกสฺเสว นี้ เป็นเพียงหัวข้อเทศนา ของหญ้าหางช้างในกระถาง แต่พระราชาตรัส หมายถึง ดอกไม้ แม้อื่นๆ ทุก อย่างนั่นแหละ ที่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่น เช่น ดอกคำ ดอกว่านหางช้าง และดอกชบาเป็นต้น. ด้วยคำว่า วณฺณวนฺตา อคนฺธิกา พระราชาทรงแสดงว่า ดอกของต้นโสเรยยกะ เป็นต้น ให้คนอิ่มเอิบด้วยการดู
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 62
เพราะมีสีสวย แต่ไม่ให้อิ่มเอิบด้วยกลิ่น เพราะไม่มีกลิ่นฉันใด เธอก็ ฉันนั้น ให้เราอิ่มเอิบด้วยการทัศนา และถ้อยคำที่น่ารัก แต่ไม่ให้อิ่มเอิบด้วยสิ่งที่ควรทำ. บทว่า อททํ ความว่า น้องนางเอ๋ย ผู้ใดพูด ด้วยคำหวานว่า ผมจักให้โภคทรัพย์ชื่อนี้ แก่คน. แต่ไม่ให้ไม่สละโภคะนั้น ชื่อว่า สร้างคำหวานอย่างเดียวเท่านั้น มิตรสัมพันธ์ของเขากับผู้นั้น จะเสื่อมทรุด คือต่อไม่ติดด้วยมิตรสันถวะ. บทว่า ปาเกยฺยญฺจ ความว่า น้องนางเอ๋ย เมื่อฉันติดใจคำหวานของเธออยู่ที่นี่เท่านั้น เป็นเวลา ๓ ปี ทั้งกำลังพล กล่าวคือ ช้าง ม้า รถ และพลเดินเท้า ทั้งเสบียง กล่าวคือ อาหาร และเบี้ยเลี้ยงคนเล่าก็ไม่มี. บทว่า สงฺเก มานุปโรธาย ความว่า เรานั้นสงสัยถึงความพินาศแห่งชีวิตของตน ในที่นี้นั่นเอง เชิญเถิด ฉันจักไปเดี๋ยวนี้ ดังนี้.
อาสังกากุมาริกา ได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว เมื่อจะทูลปราศรัย กับพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ จงทรงทราบชื่อ ของหม่อมฉันเถิด ชื่อของหม่อมฉัน พระองค์ตรัสอยู่แล้วนั่นแหละ ขอพระองค์ จงทรงบอกชื่อนี้ แก่บิดาของหม่อมฉัน แล้วรับเอาหม่อมฉันไปเถิด ดังนี้ แล้วได้ทูลว่า :-
ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ สิ่งใดมีอยู่ในชื่อ สิ่งนั้นแหละ เป็นชื่อของ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 63
หม่อมฉัน. ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงรอก่อน หม่อมฉันจะขอบอกลาบิดา.
คาถานั้น มีเนื้อความว่า พระราชาตรัสคำใดกะหม่อมฉัน คำว่า อาสงกานั้น นั่นแหละ เป็นชื่อของหม่อมฉัน.
พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงได้เสด็จไปยังสำนัก ของท่านดาบสทรงไหว้แล้ว ตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธิดาของพระคุณเจ้า ชื่อว่า อาสงกา. พระมหาสัตว์ ครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร เริ่มแต่เวลาที่มหาบพิตร ทรงรู้จักชื่อแล้ว ขอมหาบพิตรจงทรงรับนางไปเถิด. พระองค์ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงไหว้พระมหาสัตว์ เสด็จมายังวิมานแก้วผลึก ตรัสว่า น้อง นางเอ๋ย วันนี้บิดาได้ให้น้องแก่พี่แล้ว มาเถิด เราจักไปกันเดี๋ยวนี้. นางได้ฟังดังนี้แล้ว จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชจงทรงรอก่อน หม่อมฉัน ขอบอกบิดาก่อน แล้วลงจากปราสาทไหว้พระมหาสัตว์ ร่ำไห้ขอขมาโทษ แล้วได้ไปยังราชสำนัก. พระราชาทรงพานางเสด็จไปนครพาราณสี ประทับอยู่ครองกันด้วยความรัก ทรงจำเริญด้วยพระราชโอรส และพระราชธิดา. พระโพธิสัตว์ไม่เสื่อมจากฌาน คือมรณภพแล้ว เกิดในพรหมโลก.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดกไว้. ในเวลาจบสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันจะสึก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 64
ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. นางอาสังกากุมาริกา ในครั้งนั้น ได้แก่ ภรรยาเก่าในปัจจุบันนี้ พระราชา ได้แก่ ภิกษุผู้กระสันจะสึก ส่วนดาบส ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถา อาสังกชาดกที่ ๕