ถึงแม้ว่าในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่บังคับหรือว่าไม่ใช่ฝืน แต่ว่าให้เจริญจนกระทั่งเป็นนิสสัย เป็นอุปนิสสัยของผู้นั้น อย่างเรื่องของ นิสสัย ต้องเป็นเรื่องของสิ่งที่ได้กระทำจนกระทั่งชิน จนกระทั่งเป็น นิสสัย แต่ อนุสัย คือกิเลสอย่างละเอียดนั้นละเอียดยิ่งกว่านิสสัย เพราะเหตุว่า นิสสัยนั้นก็อาศัยการฝึกอบรมเป็นเวลานานพอสมควรก็เป็นนิสสัยอันนั้นได้ แต่ว่า อนุสัยนับชาติไม่ถ้วนทีเดียวที่สืบเนื่องนอนเนื่องอยู่ในจิต เป็นต้นว่า เวลาที่เห็นก็ไม่รู้ว่าอะไร ก็เป็นอวิชชานุสัย ไม่รู้ทุกๆ ขณะ ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ ไม่มีขณะที่จะรู้เลยว่าขณะนี้กำลังเป็นอะไร เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นอนุสัยอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อนุสัยจะลึกแล้วจะละเอียดยิ่งกว่านิสสัยสักเท่าไร ฉะนั้น ถ้าเราไม่เจริญสติ ไม่ฝึกนิสสัย ไม่ว่ากำลังเห็นกำลังได้ยิน ก็ฝึกนิสสัยใหม่แทนที่จะหลง ลืมสติ พอเห็นก็ระลึกได้ว่าที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นสภาพรู้ทางตา ถ้าเป็นโดย ลักษณะนี้บ่อยๆ ผู้นั้นก็มีนิสสัยที่ละคลายอนุสัย ความที่ไม่เคยรู้ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจทุกๆ ขณะ จนกว่าจะหมดไปเป็นประเภทๆ ได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของสิ่งที่เราเคยไม่รู้ ก็มีมากแล้วก็เหนียวแน่นแล้วก็เนิ่นนามมาแล้ว ฉะนั้นเรื่องของการละ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญสติเจริญปัญญา ละคลายความไม่รู้ที่มีอยู่ในจิตอย่างละเอียด ด้วยการเจริญสติอย่างละเอียดด้วย ไม่ใช่เจริญหยาบๆ เป็นบางประเภท แล้วก็คิดว่าจะละคลายได้ แต่ว่าจะต้องเป็นการเจริญปัญญาอย่างละเอียดจริงๆ ฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นกิจวัตรเป็นประจำวัน มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปละเอียดกว่า เพราะเหตุว่า ไม่ได้จำกัดลักษณะของนามและรูปทางหนึ่งทางใด แล้วไม่จำกัดเวลาและจำกัดสถานที่ด้วย ถ้าจำกัดบางเวลา เวลานั้นอาจจะไม่ค่อยมีกิเลส โลภะ โทสะ อาจจะเบาบาง เพราะเหตุว่า กำลังสงบเป็นสมาธิ แต่ที่อื่นเวลาที่ไม่เป็นปัจจัยให้จิตสงบมีโลภะ โทสะ และสติก็ไม่มีกำลัง เพราะว่า ไม่เคยเจริญก็ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น ก็ยึดถือนามและรูปในขณะนั้นว่าเป็นตัวตนได้
แต่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นประจำอยู่เรื่อยๆ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นนามนั้นรูปนี้ ก็มีโอกาสที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปละเอียดขึ้น ถ้าจะกล่าวถึงภาษิตของพระเถระสั้นๆ ให้ท่านผู้ฟังได้ฟัง ก็คงจะเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าทุกคำในพระไตรปิฏกนั้นมีสาระ อย่างใน ขุททกนิกาย ชาดกภาค ๔ การันทิยชาดก มีข้อความว่า พราหมณ์ผู้หนึ่ง เห็นการันทิยะยกก้อนหินใหญ่แล้วก็กลิ้งลงไปในซอกภู เขาในป่า ก็ถามว่า ทำอย่างนั้นทำไม การันทิยะก็บอกว่า จะเกลี่ยหินลงให้แผ่นดิน ซึ่งมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขตนั้น ให้ราบเรียบดังฝ่ามือ พราหมณ์ก็บอกว่า มนุษย์คนเดียวย่อมไม่สามารถที่จะทำแผ่นดินให้ราบเรียบดังฝ่ามือได้ จะต้องตายไปเสียเปล่าๆ เป็นแน่ การรันทิยะก็บอกว่า หากว่ามนุษย์คนเดียวไม่สามารถจะทำแผ่นดินใหญ่นี้ให้ราบเรียบได้ฉันใด ท่านก็จะนำมนุษย์เหล่านี้ ผู้มีทิฏฐิต่างๆ กันมาไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
ซึ่งด้วยข้อความเพียงสั้นๆ พราหมณ์นั้นก็ได้สติและเห็นด้วย เพราะเหตุว่าความคิดเห็นก็มีต่างกันมากทีเดียว ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเองในครั้งอดีต จะได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงหนทางข้อประพฤติปฏิบัติแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามนั้นมีมาก เพราะเหตุว่าไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะทำให้แผ่นดินราบเรียบได้ ฉะนั้น ก็เป็นการเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะทำให้ทิฏฐิความเห็นผิดของบุคคลอื่นนั้น กลับมาเห็นถูกเหมือนกันทั้งหมดได้
การฟังธรรมก็ควรที่จะให้ได้ประโยชน์ ได้เหตุผลจากการฟัง เพื่อจะได้ ประพฤติปฏิบัติตามได้ถูกต้องด้วย แต่รู้สึกว่าถ้าเป็นแบบปกติธรรมดานี่ หลายท่านก็อาจจะรู้สึกว่าสตินี้เจริญน้อยเสียจริงๆ ท่านอยากจะได้สติมากๆ แต่อย่าลืมเรื่องของการเจริญสตินั้น เป็นเรื่องของการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ด้วยสติ คือการที่ขณะนั้นมีการระลึกได้แล้วก็พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ วิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นไม่ใช่วิธีอื่น เพราะเหตุว่าไม่ว่ากิเลสที่ละเอียดสลับซับซ้อนซ่อนอยู่อย่างไรก็ตาม ถ้าขณะนั้นปรากฏ ปัญญาจะต้องรู้ว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
แล้ววิธีนี้เป็นวิธีขัดเกลา เป็นวิธีที่ทำให้ท่านละคลายความไม่รู้ ละคลาย อกุศลต่างๆ โดยที่ประการแรกที่สุดนั้นรู้ว่าอกุศลต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่เหมือนกับวิธีที่จะระงับไว้ด้วยสมาธิ ถ้าเป็นวิธีที่ระงับไว้ด้วยสมาธิแล้วละก็ ท่านได้ความสงบเพียงชั่วคราว แต่ไม่รู้ว่าชีวิตจริงๆ ของท่านวันหนึ่งๆ นั้นไม่มีสิ่งใดเลยที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบให้แน่ใจจริงๆ ว่า ถ้าเป็นทางที่จะให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้วท่านจะต้องเจริญสติในขณะนี้เอง
การรู้ลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏโดยไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอารมณ์ คือไม่เลือกอารมณ์ ถ้าขณะนั้นรู้ลักษณะของนามและรูปโดยไม่จงใจ โดยไม่เลือก เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาทิฏฐิ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมากทีเดียว ความต้องการแอบแฝงอยู่ที่ไหนอย่างไรบ้างบางท่านอาจจะไม่รู้สึกตัวเลย เคยมีความจงใจในเฉพาะบางนามบางรูป พอมีความรู้สึกตัวทีไร รู้เฉพราะนามนั้น รู้เฉพาะรูปนั้น จิตจดจ้อง อยู่ที่นั่น ไม่สามารถที่จะทำให้รู้กำลังเห็นตามปกติ กำลังได้ยินตามปกติคือในขณะนี้ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ไม่ได้จดจ้อง แล้วแต่ว่ากำลังเห็นเกิดระลึกได้ รู้ว่าที่กำลังเห็นก็เป็นเพียงสภาพรู้ทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ก็เป็นของจริงที่ปรากฏทางตา การเจริญสติปัฏฐานนั้นละ อภิชฌาและโทมนัสในโลก โลกคืออารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ละความยินดียินร้ายด้วยการรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 20
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 21