อิจฉาหมั่นไส้เพื่อนตัวเอง
โดย Wondergirl  18 ธ.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 10710

เพื่อนๆ คนอื่นได้ดีกว่าเราหมดเลย จึงรู้สึกอิจฉาและหมั่นไส้ ทั้งที่ควรจะยินดีด้วย พยายามสกัดกั้นความรู้้สึกตัวเอง แต่ก็ทำไม่ได้ ต้องคิดหรือพิจารณาอย่างไรจึงจะให้ใจสงบ เพราะความอิจฉาและหมั่นไส้ผู้อื่นนี้ ทำให้จิตใจเป็นทุกข์มากเลยค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย ajarnkruo  วันที่ 18 ธ.ค. 2551

คงไม่แนะนำให้ทำอย่างไร แต่แนะนำให้เข้าใจความจริงของ "อิจฉา" ก่อนนะครับ

เชิญคลิกอ่าน --->

อิสสามีลักษณะอย่างไร

อิสสา

อิสสาและมัจฉริยะ


ความคิดเห็น 2    โดย wannee.s  วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ให้รู้จักธรรมะตามความเป็นจริงว่าอิจฉาไม่ใช่เรา มีเหตุปัจจัยก็เกิดค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย พุทธรักษา  วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ขอเสริมความเห็นที่ 2 นะคะ

อิจฉา มีเหตุให้เกิด เช่น เป็นผู้มีปกติมักอิจฉา เมื่อผู้ที่ไม่เป็นที่รักได้ดี อิจฉาจึงมีกำลัง หมายถึงเกิดง่าย เกิดเร็ว เกิดบ่อย เป็นต้น ต่างกับบางคน ที่ไม่ใช่ผู้อิจฉาง่าย เพราะเขาไม่ได้สะสมความอิจฉามามากนั่นเอง เมื่อเรามีความอิจฉาเกิดง่าย จึงห้ามไม่ได้ แต่รู้ลักษณะได้ ซึ่งผู้ถามก็ทราบอยู่แล้วว่า มีโทษอย่างไร ต่อจิตใจ. ถ้าได้ศึกษาพระธรรมจะทราบว่าขณะที่อิจฉาเกิด ๑ ครั้ง สะสมในจิตไปอีก ๗ เท่า ต่อไปก็จะอิจฉามากขึ้นอีกๆ เดือดร้อนที่ตัวเอง ผู้ที่ถูกอิจฉา ไม่ได้เดือดร้อนด้วย เป็นการทำร้ายจิตใจตัวเอง ด้วยการสะสมสิ่งไม่ดีไว้ในใจค่ะ.

ถ้าทราบว่า สติ มีลักษณะ ระลึกรู้ได้ และสามารถ ระลึกสิ่งที่มีจริงคือ สภาพธรรม (อิจฉา) เป็นอารมณ์ได้ ขณะที่สติระลึกที่ "ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ" (คืออิจฉา) ขณะนั้น ไม่ใช่เราที่ระลึก มีแต่ลักษณะสภาพธรรม (อิจฉา) ปรากฏกับสติ ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา. หากสติปัฏฐานเกิด ปัญญารู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรม ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง. เมื่อไม่มีเรา ก็ไม่มีใครเดือดร้อน เมื่อไม่มีเขา (ที่เราอิจฉา) ก็ไม่มีอะไรจะให้อิจฉา ก็ไม่มีใครเดือดร้อนค่ะ. แต่ต้องเป็นการค่อยๆ อบรม ด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อนค่ะ.


ความคิดเห็น 4    โดย choonj  วันที่ 19 ธ.ค. 2551

เพื่อนๆ คนอื่นได้ดีกว่าเราหมดเลย เป็น wondergirl ไม่น่าจะยอมแพ้ง่ายๆ นะครับ แซวครับอย่าโกรธ

เรียนถามท่านวิทยากร

เวลานี้มีสองคำ คืออิจฉา และอิสสา ผมทราบว่าอิสสาเป็นหนึ่งในเจตสิก ๕๒ แต่อิจฉานี้สิมีความหมายเหมือนกับอิสสาหรือเปล่า ผมเข้าใจว่าอิจฉานี้เป็นอาการของสังขารธรรมที่เกิดขึ้นหลังจากอิสสาที่เกิดร่วมด้วย จิตมีกำลังเหมือนกับอาการอื่นๆ เช่น เจ็บ หงุดหงิด โลภ งง ฯลฯ

ตอบ wondergirl อิจฉา ก็เป็นธรรมเกิดแล้วต้องดับ สิ่งที่เกิดดับล้วนไร้สาระ แล้วจะไปเป็นทุกข์ใจกับสิ่งไร้สาระทำไม พยายามเข้าใจว่าอิจฉานี่ไร้สาระบ่อยๆ เข้า ก็จะดีเอง ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย prachern.s  วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ในภาษาบาลีคำว่า อิจฺฉา เป็นชื่อของโลภะ (ความอยาก) แต่ในภาษาไทย อิจฉา ริษยา เป็นชื่อของ อิสสาเจตสิกครับ


ความคิดเห็น 6    โดย natnicha  วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ถ้าคำว่า "ได้ดี" ของคุณ wondergirl หมายถึง ชื่อเสียง ลาภยศ หรือสรรเสริญ นั่นก็เป็นเพราะกรรมดีที่เขาเคยทำมาในอดีตทำให้เขาได้รับผลที่ดีในปัจจุบัน ถ้าในวันนี้เราไม่มีเหมือนเขาก็เพราะอดีตไม่ได้ทำกรรมดีไว้ หรือกรรมดีที่ได้ทำในอดีตยังไม่ส่งผล แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณ wondergirl ควรจะยินดีเพราะมีค่ามากกว่า นั่นก็คือการที่เราได้ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง การได้พบกัลยาณมิตรที่สามารถทำให้เราเข้าใจพระธรรมความจริงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และจะสะสมความเข้าใจไปยังโลกหน้าได้ ส่วนชื่อเสียง ลาภยศ หรือสรรเสริญ ได้มาก็เพียงชั่วขณะเดียว แล้วก็หมดไป ไม่ยั่งยืนมีแต่จะทำให้สะสมอกุศลมากยิ่งขึ้นถ้าไปหลงยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น


ความคิดเห็น 7    โดย khampan.a  วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ที่อกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและบ่อยมาก เพราะเหตุว่าได้สั่งสมมาอย่างเนิ่นนาน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยอกุศลจิตก็เกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไปไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า กิเลสที่มีมาก ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องทำลายได้ นอกจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาสั่งสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย

และในความเป็นจริง ที่ใช้คำว่า เพื่อน ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยว่า คำว่า เพื่อน นั้น ต้องลึกลงไปถึงไม่แข่งดีกับเพื่อน ไม่ริษยาเพื่อน ขณะที่เราริษยาเพื่อน เราก็ไม่ใช่เพื่อนของเขา จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง (ความริษยา เป็นอิสสาเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต พระโสดาบันดับอิสสาได้อย่างเด็ดขาด) เมื่อเพื่อนได้ดี มีความสุข ก็ควรที่จะยินดีในความสุขของเพื่อน ซึ่งก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ขัดเกลาไป พระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้อย่างแท้จริง (ที่สำคัญ ไม่ขาดการฟัง) ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 8    โดย เกมส์  วันที่ 20 ธ.ค. 2551

ผมก็เป็นครับ ความริษยาเป็นเรื่องยากที่จะสลัดออกจริงๆ ครับ ผมเคยเข้าใจผิดว่า คนๆ หนึ่งได้ดีอย่างไม่ถูกต้องแล้วเราควรจะไปตำหนิเค้าหรือหาความยุติธรรมให้เรา เช่น เพื่อนได้เงินจากการเอารัดเอาเปรียบผม สุขสบายจากเงินนั้น ในขณะนั้น ผมว่าเป็นริษยาจิตของผมเองครับ เพราะไม่พอใจในการได้ผลของกุศลของเพื่อน แม้เพื่อนได้มาอย่างไม่ถูกต้อง แต่ที่ได้มาเพราะเป็นผลของกุศลในชาติก่อนๆ ของเขา และอกุศลที่เขาเอาเปรียบเราก็จะต้องให้ผลแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ควรไปรอลุ้นดูผลกรรมของใคร ควรเป็นผู้ตรงในผลของกรรม อนุโมทนาในผลของกุศลของคนอื่น น่าจะลดความริษยาได้นะครับ อกุศลของตนเองควรใส่ใจก่อนอกุศลของคนอื่นครับ คุณเจ้าของกระทู้ถือว่ายังดีที่ระลึกรู้ได้ครับว่าเป็นอกุศลของเราเอง เป็นกำลังใจให้หมั่นระลึกรู้อกุศลของตนเองบ่อยๆ นะครับ จะได้ไม่เผลอเข้าข้างตนเองครับ


ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 20 ธ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เพื่อน คือ ความเป็นมิตรด้วยกาย วาจาและใจ หากเป็นเพื่อนแท้แล้วก็ย่อมน้อมนำประโยชน์มาให้เพื่อนและระลึกถึงด้วยความเป็นมิตร ไม่ตระหนี่กับเพื่อน ไม่อิจฉาเพื่อน แต่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการอบรมปัญญา เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะอิจฉาก็เป็นธรรมที่มีจริง เกิดแล้วแต่เดือดร้อนเพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา หนทางที่ถูกต้องคือรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ

ขออนุโมทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 10    โดย Nareopak  วันที่ 20 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาในทุกความคิดเห็นค่ะเพราะ ทำให้ได้รับความรู้ (ทางปัญญา) เพิ่มขึ้น


ความคิดเห็น 11    โดย SURAPON  วันที่ 23 ธ.ค. 2551

ใครสร้างสมสิ่งใดก็ได้รับผลของแต่ละสิ่งต่างๆ กัน เพียรสร้างให้กับตนเองก็จะได้รับเอง คนที่เขาดีกว่าก็เพราะกรรมดีของเขา ไม่มีประโยชน์อะไรที่อิจฉาเขา คนที่ลำบากกว่าเราก็เพราะเขาทำมาน้อยมีอยู่มากมาย เคยฟังธรรมะมาว่า ผู้ที่รู้ธรรมและบรรลุธรรมนั้นดีกว่ากำเนิดทั้ง ๓ โลก


ความคิดเห็น 12    โดย pornpaon  วันที่ 9 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 13    โดย คุณ  วันที่ 22 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย สิริพรรณ  วันที่ 10 ต.ค. 2556

กราบขอบพระคุณทุกคำชี้แนะค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย worrasak  วันที่ 7 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 16    โดย chatchai.k  วันที่ 13 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ