พระอภิธรรมไม่ใช่พุทธวจน
โดย wicha-som  26 ต.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 44879

ได้เห็นจากสื่อโซเชียล มีการกล่าวว่า พระอภิธรรมไม่ใช่พุทธวจน โดยส่วนตัวเข้าใจว่าไม่ใช่ตามที่กล่าวอ้าง แต่ไม่มีข้อมูลพอที่จะไปโต้แย้งครับ ขอรบกวนช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้ด้วย ขอบคุณมากครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 26 ต.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓-
หน้าที่ ๓๑๔

พระศาสดา ประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดา เริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า "กุสลา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศล ได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) อกุสลา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ได้แก่ อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) อพฺยากตา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ทั้งกุศลและไม่ใช่ทั้งอกุศล ได้แก่ วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย, กิริยาจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย, รูปทั้งหมด และ พระนิพพาน) " ดังนี้เป็นต้น”


สิ่งที่มีจริง แม้จะไม่ใส่ชื่อหรือเรียกชื่อสิ่งนั้นก็มีจริง ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เห็น เป็น เห็น โกรธเป็นโกรธ ติดข้องเป็นติดข้อง ความเข้าใจถูกเป็นความเข้าใจถูก เป็นต้น อภิธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ธรรม นั่นแหละ เป็นอภิธรรม เพราะละเอียด ลึกซึ้ง ปฏิเสธความเป็นสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากอภิธรรมเลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรมทั้งสิ้น พระอภิธรรมจึงไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เป็นชีวิตจริงๆ ทุกขณะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องศึกษาให้เข้าใจตั้งแต่คำว่าธรรม ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ ทุกขณะเป็นธรรม มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม สิ่งที่มีจริงเหล่านี้ สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม และ เป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง ด้วยความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทุกกาลสมัย ธรรมก็เป็นธรรม และเป็นอภิธรรมด้วย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ให้เป็นอย่างอื่นไปได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่สัตว์โลกจะเข้าใจอภิธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ได้นั้น ก็ต้องเป็นกาลสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมที่มีจริงที่ละเอียดยิ่ง ให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง ด้วยการทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูก จากที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ ก็จะค่อยๆ มีความรู้ที่เจริญขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ ตามลำดับ พระธรรมคำสอนของพระองค์ เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อละตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด กล่าวคือ ละความไม่รู้ ความเห็นผิด ตลอดจนกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด จึงไม่พ้นจากความเป็นอภิธรรมเลย พระอภิธรรม จึงเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
พระอภิธรรมเป็นคำของใคร

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ต.ค. 2565

ผู้คัดค้านพระอภิธรรมชื่อว่า ทําลายชินจักร

บุคคลเมื่อคัดค้านพระอภิธรรม ชื่อว่าย่อมให้การประหารในชินจักรนี้ย่อมคัดค้านพระสัพพัญุตญาณ ย่อมหมิ่นเวสารัชชญาณของพระศาสดา ย่อมขัดแย้งบริษัทผู้ต้องการฟัง ย่อมผูกเครื่องกั้นอริยมรรค จักปรากฏในเภทกรวัตถุ ๑๘ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ควรแก่อุเขปนิยกรรม นิยสกรรม ตัชชนียกรรม เพราะทํากรรมนั้น จึงควรส่งเธอไปว่า เจ้าจงไป จงเป็นคนกินเดนเลี้ยงชีพเถิด ดังนี้.


ความคิดเห็น 4    โดย wicha-som  วันที่ 26 ต.ค. 2565

ขอบคุณครับ


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 27 ต.ค. 2565

อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 3 โดย chatchai.k

ผู้คัดค้านพระอภิธรรมชื่อว่า ทําลายชินจักร

บุคคลเมื่อคัดค้านพระอภิธรรม ชื่อว่าย่อมให้การประหารในชินจักรนี้ย่อมคัดค้านพระสัพพัญุตญาณ ย่อมหมิ่นเวสารัชชญาณของพระศาสดา ย่อมขัดแย้งบริษัทผู้ต้องการฟัง ย่อมผูกเครื่องกั้นอริยมรรค จักปรากฏในเภทกรวัตถุ ๑๘ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ควรแก่อุเขปนิยกรรม นิยสกรรม ตัชชนียกรรม เพราะทํากรรมนั้น จึงควรส่งเธอไปว่า เจ้าจงไป จงเป็นคนกินเดนเลี้ยงชีพเถิด ดังนี้.

กราบขอบพระคุณอาจารย์ฉัตรชัยเป็นอย่างยิ่งครับ


ความคิดเห็น 6    โดย talaykwang  วันที่ 27 ต.ค. 2565

พระไตรปิฏกประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฏก และพระอภิธรรมปิฏก เหตุใดจึงมีการกล่าวตู่เช่นนั้นได้

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศล สำหรับคำอธิบายค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย worrasak  วันที่ 29 ต.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ