ขออนุญาตเรียนสอบถามท่านอาจารย์วิทยากรครับว่า
สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะในองค์ของมรรคนั้น มีเหตุอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด และทั้งสององค์แห่งมรรคนี้ทำหน้าที่เกื้อกูลกันอย่างไร แยกกันได้หรือไม่ การศึกษาธรรมะเพื่อความเข้าใจ นำมาสู่องค์แห่งมรรคทั้งสองนี้ ร่วมกัน ใช่หรือไม่ครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้อง หมายถึง ปัญญา
ส่วน สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดชอบ คิดที่ถูกต้อง มุ่งหมายถึง วิตกเจตสิก ที่เกิดกับจิตที่ดีงาม
คำถามที่ว่า
สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะในองค์ของมรรคนั้น มีเหตุอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
- สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ ในองค์ มรรค
มรรคในที่นี้ มีทั้งมรรค ที่เป็นโลกียะ และ โลกุตตรมรรค ในโลกียะ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ขณะนั้น มี มรรคมีองค์ ๕ หรือ ๖ คือ มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ หรือ อาจจะมีสัมมาวาจาได้ ส่วน ขณะที่โลกุตตรมรรคเกิดขึ้น พร้อมด้วยองค์ ๘ ครับ
เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวว่า ขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นโลกียมรรค เหตุให้เกิด โลกียมรรค คือ สัญญาที่มั่นคง ที่เป็น สัญญาที่เกิดพร้อมกับปัญญาขั้นการฟัง ทำให้มีความเห็นถูกในขั้นการฟัง จนทำให้เกิดสติปัฏฐาน ที่เป็นโลกียมรรค ครับ
นี่คือเหตุใกล้ที่ทำให้เกิดสติปัฏฐาน หรือ มรรคมีองค์ ๕ หรือ ๖ นั่นคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเมื่อกล่าวถึง โลกุตตรมรรค มรรค ทั้ง ๘ องค์เกิดพร้อมกัน ถ้าพูดถึงเหตุใกล้ของ โลกุตตรมรรค คือ การเจริญโพชฌงค์ องค์ธรรมที่เป็นเครื่องตรัสรู้ และ รวมทั้ง อิทธิบาท ๔ พละ ๔ อินทรีย์ ๕ ที่มีกำลังแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิด อริยมรรคมีองค์ ๘ พร้อมกันในขณะนั้น ทำกิจประหารกิเลส ครับ ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ในมรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดพร้อมกัน มี โพชฌงค์ อิทธิบาท พละ ที่มีกำลังเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นที่เป็นเหตุใกล้ ครับ แต่ เหตุไกลที่ทำให้เกิดอริยมรรค พร้อมทั้งองค์ ๘ และ เกิดสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ
คำถามที่ว่า
ทั้งสององค์แห่งมรรคนี้ทำหน้าที่เกื้อกูลกันอย่างไร แยกกันได้หรือไม่
- ในการเจริญอบรมปัญญา สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ เกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้ คือ ปัญญา และ วิตกเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มี สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะเกิดพร้อมกัน แต่ทำกิจหน้าที่แต่ละอย่างกัน
สัมมาทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรม สัมมาสังกัปปะ ที่เป็นวิตกเจตสิก จรดในอารมณ์นั้น ซึ่ง ธรรมทั้งสองอย่าง เป็นองค์ของฝ่ายปัญญา ซึ่งทั้งสองนั้น เกื้อกูลกันและกัน ครับ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดง สัมมาสังกัปปะ ต่อจากสัมมาทิฏฐิ เพราะ เกื้อกูลกันและกันดังนี้ครับ ท่านเปรียบเหมือนว่า เจ้าหน้าที่เหรัญญิก ที่มีความฉลาดในการดูเหรียญเงิน แต่แม้จะฉลาดอย่างไร หากไม่มีการพลิกมือโดยรอบ ไปๆ มาๆ ก็ไม่สามารถดูเหรียญได้ละเอียดทั้งหมด เพราะ ไม่สามารถใช้ตาของตนเอง พลิกดูเหรียญได้โดยรอบ แต่อาศัย มือ ที่พลิกไปมา จึงพิจารณาได้อย่างละเอียดในเหรัญญิกนั้นว่าจริงแท้ มีรายละเอียดอย่างไร เช่นเดียวกับสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกที่เป็นปัญญา ไม่สามารถพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรม โดยตัวเอง ธรรมอย่างเดียวได้ แต่ต้องอาศัยวิตกเจตสิก ที่เป็นสัมมาสังกัปปะ ที่มีการจรดในอารมณ์และยกขึ้นสู่ในอารมณ์นั้นบ่อยๆ ก็ทำให้สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้โดยรอบ เพราะอาศัยสัมมาสังกัปปะ เกื้อกูลกันและกัน เพราะฉะนั้น สัมมาสังกัปปะก็มีอุปการะมากกับสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นปัญญา ครับ นี่กล่าวโดยนัยวิปัสสนา ไม่แยกกัน ครับ และ สัมมาทิฏฐิ ก็เกื้อกูล สัมมาสังกัปปะ เพราะ อาศัยความเห็นถูก ทำให้เกิดความคิดที่ถูกต้อง ด้วย ครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมในข้อความพระไตรปิฎกที่นี่ ครับ
สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเกื้อกูลกัน [วิภังค์]
แต่ ขณะที่ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แม้ สัมมาสังกัปปะ ที่เป็นศัพท์ ที่ หมายถึง ความคิดชอบ คิดถูก ที่เป็น วิตกเจตสิก ก็สามารถใช้ได้ เช่น เนกขัมมะวิตก คิดที่ออกจากกาม อพยาบาทวิตก คิดที่จะไม่พยาบาท อวิหิงสาวิตก คิดที่จะไม่เบียดเบียน ซึ่งสามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่มีสัมมาทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็ได้ ครับ เช่น คิดที่จะไม่เบียดเบียน แต่ไม่มีปัญญาในขณะนั้น ครับ
คำถามที่ว่า
การศึกษาธรรมะเพื่อความเข้าใจ นำมาสู่องค์แห่งมรรคทั้งสองนี้ ร่วมกัน ใช่หรือไม่ครับ
- ถูกต้อง ครับ ตามที่กล่าวแล้วในความเห็นที่ 1 ที่ว่า เหตุไกลของการเกิด อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่มีสัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะอาศัย การฟัง การศึกษา ก็เกิดปัญญาที่เจริญขึ้น ขณะนั้น ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่เป็นเพียงขั้นการฟัง ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิในการเจริญวิปัสสนา แต่เพราะ อาศัยปัญญาที่เจริญขึ้น ทำให้ เกิดปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน มี สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ เกิดร่วมด้วย จนปัญญาแก่กล้า ถึง มรรคจิต ก็เกิดอริยมรรคมีองค์ ๘ พร้อมกับสัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะในขณะนั้น อันมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ครับ ซึ่ง สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นถูก แม้ในขั้นการฟัง เปรียบเหมือน แสงเงินแสงทอง ที่เป็นนิมิตของพระอาทิตย์ที่จะขึ้น ปัญญาความเห็นถูกขั้นการฟัง ก็เป็นเหตุให้เกิด อริยมรรคมีองค์ ๘ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จะบังคับให้ปัญญาเกิด ก็ไม่ได้ จะบังคับให้วิตักกะ (สัมมาสังกัปปะ) ที่เป็นองค์มรรค เกิดขึ้นเป็นไปก็ไม่ได้ เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ทั้งปัญญาและวิตักกะ ต่างก็เป็นองค์มรรคด้วยกันทั้งคู่ ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก วิตักกะ เป็นสภาพธรรมที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ที่ปัญญารู้ตามความจริง
ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นมีวิตักกะเกิดขึ้นตรึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ก็เพราะมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดร่วมด้วย นั่นเอง ขณะนั้นก็เป็นหนทางที่ถูกต้องแล้ว จนกว่าจะถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมในที่สุด เพราะมรรคทั้ง ๘ องค์ มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น จะประชุมพร้อมกัน ในขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้น ซึ่งจะไปถึงตรงนั้น ได้ ก็ต้องมีเหตุที่จะทำให้ถึง คือ การอบรมเจริญปัญญา,
ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นไปเพื่อการดับกิเลส นั้น จะมีขึ้นได้ เจริญขึ้นได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะต้องเป็นผู้เคยเห็นประโยชน์ของปัญญามาแล้ว ในชาติก่อนๆ ก็ต้องเคยเป็นผู้เข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตรผู้มีปัญญา เพื่อฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก มาแล้ว จึงทำให้ชาตินี้ เป็นผู้เห็นประโยชน์ของปัญญา สนใจที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เมื่อฟังพระธรรมต่อไปบ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ ครับ
วิตกด้วยปัญญา
...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ เห็นความแยบคายของหน้าที่ขององค์มรรคทั้งสองได้ดีขึ้น จากการเปรียบเทียบที่อาจารย์ผเดิมยกขึ้นมามากครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ