กายไม่เที่ยง เวทนาไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือว่าทุกขเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เที่ยง จิต แม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิตก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์แล้วหรือยังว่าไม่เที่ยง เข้าใจธรรมว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารธรรม ได้แก่ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่ว่าประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารธรรมหรือยัง และวิธีที่จะประจักษ์ทำอย่างไร หรือว่าไม่มีวิธี ถ้าไม่มีวิธีก็ไม่มีทางประจักษ์ หรือว่าถ้าเจริญไม่ถูกวิธี ก็ไม่ประจักษ์ว่าสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เหมือนกัน
อย่างโลภมูลจิต หรือสราคจิตก็ไม่เที่ยง ทำอย่างไรจึงจะได้ประจักษ์สภาพของโลภมูลจิตว่าไม่เที่ยง เวลาที่จิตเป็นโลภะ ระลึกในขณะนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ระลึกเลย และก็หวังที่จะไปรู้จิตที่สงบ ไปสร้างจิตที่สงบขึ้นเพื่อที่จะรู้ความไม่เที่ยง นั่นไม่เข้าใจอนุสัยกิเลสซึ่งมีอยู่ในจิตอย่างละเอียด ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมจนทั่ว ชัดเจน ถูกต้อง ชินขึ้น ละคลายมากขึ้นแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะไปดับความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่มีหนทางที่จะไปประจักษ์สภาพความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของนามของรูปได้เลย
เพราะฉะนั้น เมื่อโลภมูลจิตเป็นสราคจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน วันหนึ่งๆ ระลึกรู้บ้างหรือไม่ มีโลภะกันคนละมากๆ ไม่ใช่น้อยเลย แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ตามปกติในสภาพของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม ก็ไม่มีหนทางที่จะไปประจักษ์ได้ว่า ที่ทรงแสดงไว้ว่า โลภมูลจิตไม่เที่ยงนั้นจริง แต่ผู้ที่จะประจักษ์ได้ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แม้แต่โลภมูลจิตที่มีเป็นปกติทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ในขณะใดเกิดขึ้นปรากฏ สติก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพของโลภมูลจิต สราคจิตในขณะนั้นบ่อยๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะละคลาย และจะประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของโลภมูลจิตได้
แต่เวลานี้ที่ไม่สามารถประจักษ์ได้ เพราะไม่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดของรูปใดก็เป็นชั่วขณะนิดเดียว ตัวตนเยื่อใยก็เข้าไปแทรกอีกแล้ว เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปจนทั่ว ก็ยังไม่สามารถละคลายได้ เมื่อไม่สามารถละคลายได้ ก็ไม่สามารถประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 126