[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 78
ปฐมปัณณาสก์
สุมนวรรคที่ ๔
๔. สีหสูตร
ว่าด้วยผลแห่งทาน ๕ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 78
๔. สีหสูตร
ว่าด้วยผลแห่งทาน ๕ ประการ
[๓๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน. ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสามารถ บัญญัติผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นได้ ในปัจจุบันหรือหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สามารถ ท่านสีหเสนาบดี แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนท่านสีหเสนาบดี ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก แม้ข้อนี้เป็นผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง.
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาทายก ผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง.
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายก ผู้เป็นทานบดีย่อมขจร แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 79
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปอยู่ที่ประชุมใดๆ คือ ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขินเข้าไป แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง.
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทาน ที่จะพึงได้ ในสัมปรายภพ.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ดังนี้แล้ว สีหเสนาบดีจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ ย่อมเชื่อต่อผู้มีพระภาคเจ้า ในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ทราบดี คือ ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของชนเป็นอันมาก สัตบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาข้าพระองค์ ผู้เป็นทายกเป็นทานบดี กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมขจรทั่วไปว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือ ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เอง ก็ย่อมทราบดี ส่วนผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง (ข้อที่ ๕) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสบอกข้าพระองค์ว่า ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสย้ำว่า อย่างนั้นท่านสีหะ อย่างนั้นท่านสีหะ ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 80
นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชนเป็นอันมาก ย่อมคบหานรชนนั้น นรชนนั้นย่อมได้เกียรติ มียศ เจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้า เข้าสู่ที่ประชุมชน เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตผู้หวังสุข จงขจัดมลทิน คือ ความตระหนี่แล้ว ให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมประดิษฐานในไตรทิพย์ ถึงความเป็นสหายของเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน บัณฑิตเหล่านั้น ได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง ได้ทำกุศลแล้ว จุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง เที่ยวชมไปในอุทยาน ชื่อ นันทนวัน ย่อมเพรียบพร้อม ด้วยกามคุณ ๕ เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงใจ อยู่ในนันทนวัน สาวกทั้งปวงของพระสุคต ผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่ ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ.
จบสีหสูตรที่ ๔
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 81
อรรถกถาสีหสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในสีหสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สนฺทิฏฺิกํ ได้แก่ ที่พึงเห็นเอง. บทว่า ทายโก คือ เป็นผู้กล้าในการให้. อธิบายว่า ไม่ใช่หยุดอยู่ด้วยเหตุ เพียงเชื่อว่า ทาน เป็นของดีเท่านั้น ยังสามารถแม้บริจาคได้ด้วย. บทว่า ทานปติ ได้แก่ ให้ทานใด ก็เป็นเจ้าแห่งทานนั้นให้. ไม่ใช่ทาส และไม่ใช่สหายทาน. ก็ผู้ใดตนเองบริโภคของอร่อย แต่ให้ของไม่อร่อยแก่บุคคลอื่น ผู้นั้น เป็นทาสแห่งไทยธรรม กล่าวคือ ทานให้. ผู้ใดตนเองบริโภคสิ่งใดให้สิ่งนั้นแล ผู้นั้นเป็นสหายแห่งทานให้. ฝ่ายผู้ใดตนเอง ยังอัตตภาพให้เป็นไป ด้วยของธรรมดาๆ แต่ให้ของที่อร่อยแก่พวกคนอื่น ผู้นั้นชื่อว่า เป็นเจ้า เป็นใหญ่ เป็นเจ้าของให้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึง ทายกผู้เป็นเช่นนั้นว่า เป็นทานบดี ดังนี้.
บทว่า อมงฺกุภูโต ได้แก่ ไม่ใช่เป็นผู้ไร้อำนาจ. บทว่า วิสารโท คือ ได้โสมนัสประกอบด้วยญาณ. บทว่า สหพฺยคตา คือ ถึงความร่วมกัน เป็นอันเดียวกัน. บทว่า กตาวกาสา ความว่า ชื่อว่า มีโอกาสอันทำแล้ว เพราะตนกระทำกรรม ที่มีโอกาสในไตรทิพย์นั้น แต่เพราะเหตุที่กรรมนั้น เป็นกุศลอย่างเดียว เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า กตกุสลา (สร้างกุศลไว้). บทว่า โมทเร คือ ร่าเริง บันเทิงอยู่. บทว่า อสิตสฺส ได้แก่ พระตถาคต ผู้อันกิเลสไม่อาศัยแล้ว. บทว่า ตาทิโน คือ เป็นผู้ถึงลักษณะคงที่.
จบอรรถกถา สีหสูตรที่ ๔