นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๕ พ.ค. ๒๕๕๐
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.
ปฐมอาฆาตวินยสูตร
ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 337
อาฆาตวัตถุสูตร
ว่าด้วยวัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการ
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 252
นำการสนทนาโดย ..
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 337
อาฆาตวรรคที่ ๒
๑. ปฐมอาฆาตวินยสูตร
ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
[๑๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้น แก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิด ขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นใน บุคคลใด พึงถึงการไม่ใส่ใจไม่นึกถึงบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้น ในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑ ภิกษุพึงระงับความอาฆาต ในบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้.
จบ ปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑
อาฆาตวรรควรรณนาที่ ๒
อรรถกถาปฐมอาฆาตวินยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
ชื่อว่า อาฆาตวินยะ เพราะอรรถว่า สงบระงับอาฆาต.
บทว่า ยตฺถ ภิกฺขุโน อุปปนฺโน อาฆาโต สพฺพโส ปฏิเนตพฺโพ ความว่า ความอาฆาตเกิดขึ้นแก่ภิกษุในอารมณ์ใด พึงระงับความอาฆาตทั้งหมดนั้นใน อารมณ์นั้นด้วยอาฆาตปฏิวินัย (ธรรมระงับอาฆาต) ๕ เหล่านี้.
บทว่า เมตฺตา ตสฺมึ ปุคฺคเล ภาเวตพฺพา ความว่า พึงเจริญเมตตาด้วยติกฌาน (ฌานหมวด ๓) และจตุกฌาน (ฌานหมวด ๔) . แม้ในกรุณาก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่อุเบกขาควรเจริญด้วยจตุกฌาน (ฌานหมวด ๔) และปัญจกฌาน (ฌาน หมวด ๕) ก็เพราะจิต (อาฆาต) ของผู้ที่เห็นบุคคลใดยังไม่ดับ มุทิตาจึงไม่ ปรากฏในบุคคลนั้น ฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวถึงมุทิตา.
บทว่า อสติ อมนสิกาโร ได้แก่ พึงถึงการไม่ใส่ใจไม่นึกถึงบุคคลนั้นโดยอาการที่บุคคลนั้นไม่ปรากฏเป็น เหมือนเอาฝาเป็นต้น กั้นไว้ฉะนั้น.
บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยกล่าว ไว้แล้วในหนหลัง.
จบ อรรถกถาปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 252
๙. อาฆาตวัตถุสูตร
ว่าด้วยวัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการ
[๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็น ประโยชน์แก่เรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ ย่อม ผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ ย่อมโกรธในที่ไม่ควร ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความ อาฆาต ๑๐ ประการนี้แล.
จบอาฆาตวัตถุสูตรที่ ๙
อรรถกถาอาฆาตวัตถุสูตรที่ ๙
อาฆาตวัตถุสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อฏฺาเน ได้แก่ ในที่มิใช่เหตุ จริงอยู่ เหตุเป็นต้นว่า เขา ได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา จะพึงมีได้ในความเป็นไปของสิ่ง ที่มีจิตใจ หรือว่าในสิ่งที่ไม่มีจิตใจเป็นต้นว่า ตอไม้ แผ่นหิน ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น อาฆาตในข้อนี้ จึงชื่อว่าอาฆาตในที่มิใช่เหตุ.
คำที่เหลือ ทุกแห่ง มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
จบ อรรถกถาอาฆาตวัตถุสูตรที่ ๙
จบอากังขวรรคที่ ๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น