"พัก" ใน ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๔ หมายความว่าอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตามข้อความที่ปรากฏในปันธรรม ครั้งที่ ๑๐๔ ที่กล่าวถึง "พัก" นั้น ท่านอาจารย์
สุจินต์ บริหารวนเขตต์ กำลังกล่าวถึงห้วงน้ำใหญ่ ได้แก่กิเลสประการต่างๆ ที่พัดพา
ให้สัตว์โลกจมอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ได้แก่ โลภะ ความติดข้อง มิจฉาทิฏฐิ ความเห็น
ผิด ตลอดจนถึงอวิชชา ความไม่รู้ ถ้าหากว่าไม่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม
อบรมเจริญปัญญาเลย มีแต่ "พัก" ซึ่งพักในที่นี้ มุ่งหมายถึง พักอยู่ด้วยกิเลส หมกมุ่น
ด้วยกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความติดข้องต้องการเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ติดข้อง
ทำให้ลืมกิจที่ควรทำคือการอบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่มีทางข้ามไปถึงฝั่งแห่งการดับ
กิเลสได้ ดังนั้น พัก จึงมุ่งหมายถึงเกลือกกลั้วหมกมุ่นอยู่กับกิเลสนั่นเอง
ตรงตามข้อความที่ว่า
พัก คือ ไม่ฟังพระธรรม พักอยู่ด้วยกิเลส ด้วยความติดข้องต้องการ และเพียร
ไปด้วยความเห็นผิด ย่อมไม่สามารถข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้เลย เพราะเมื่อมีความเห็น
ผิดแล้วจะเพียรไปทางไหน ก็ไปทางที่ผิดอย่างแน่นอน
สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ควรรู้ ควรศึกษาให้เข้าใจ แล้วจะพักอยู่ด้วยการไม่สนใจ
ฟังพระธรรมอย่างนั้นหรือ?
อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๔
ข้อความที่ได้ยินได้ฟังซึ่งเป็นข้อความจากโอฆตรณสูตร คือ “ไม่พัก ไม่เพียร
จึงข้ามโอฆะได้”
โอฆะ เป็นกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่ ที่ท่วมทับหมู่สัตว์อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังพัด
พาให้ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ไม่ให้ถึงการดับกิเลส
ได้อย่างเด็ดขาด โดยสภาพธรรมของกิเลสที่เป็นดุจห้วงน้ำใหญ่ นั้น ไม่พ้นไปจาก
โลภะความติดข้องยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิต
ประจำวัน รวมถึงความยินดีในภพ ความยินดีในขันธ์ด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีทิฏฐิ ซึ่ง
เป็นความเห็นผิด และอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ไม่พัก ไม่เพียร จึงข้ามโอฆะได้นั้น
หมายถึง ไม่พักอยู่ด้วยอกุศล ไม่พักอยู่ด้วยความติดข้องยินดีพอใจ อีกทั้งไม่เพียร
ด้วยการประพฤติปฏิบัติที่ผิด ไม่เพียรด้วยความเห็นผิด (เพราะการเพียรไปในทาง
ที่ผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา) หรือแม้แต่ความเพียรที่เป็นไปใน
กุศลที่ยังเป็นไปในวัฏฏะ ก็ไม่ทำให้ออกไปจากวัฏฏะได้ เป็นต้น จึงข้ามโอฆะได้
บุคคลผู้ที่จะข้ามกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่ได้อย่างเด็ดขาดนั้น ต้องถึงความเป็นพระ
อรหันต์ ดังนั้น จึงไม่มีทางอื่นที่จะทำให้เป็นผู้หมดจดจากกิเลส ไม่จมลงอยู่ใน
กิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่อีกต่อไป นอกจากการอบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจสภาพ
ธรรมตามความเป็นจริง เพราะนอกจากปัญญาแล้ว ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะมาดับกิเลส
ได้เลย
เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะเป็นผู้เห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา ซึ่งต้องเริ่ม
อบรมเจริญจากการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ในชีวิตประจำวัน สะสมความ
เข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่พัก ไม่เพียร มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ตามปกติ ที่เราเข้าใจ การพัก ก็คือ
การไม่ทำอะไร หยุดกิจการงาน เพียร คือ การทำกิจการงานอย่างใด อย่างหนึ่ง ชื่อว่า
เพียร
ไม่พัก ก็คือ การทำกิจการงานต่างๆ ไม่หยุดในขณะนั้น และ ไม่เพียร ก็คือ การ
พัก ที่ไม่ทำกิจการงานในขณะนั้น นี่ก็เป็นการสมมติของชาวโลกที่เข้าใจคำว่า พัก
เพียร ไม่พัก ไม่เพียร โดยมีตัวตน สัตว์บุคคลอยู่ในนั้น แต่แท้ที่จริงไม่มีสัตว์ บุคคล
มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น ดังนั้นคำว่าไม่
พัก ไม่เพัยร การพัก และ การเพียร จึงไม่พ้นจากการทำหน้าที่ของ จิต เจตสิก นั่นเอง
ครับ ที่พัก หรือ ที่ และ เพียร ไม่พัก ไม่เพียร
ซึ่ง คำว่า ไม่พัก ไม่เพียร เป็นหนทางการอบรบปัญญาเพื่อดับกิเลส จึงเรียกว่า
ไม่พัก ไม่เพียร แต่ ขณะที่พัก และ ขณะใดที่เพียร ไม่ใช่หนทางการดับกิเลส
เพราะ มีเรา มีสัตว์ บุคคลด้วยความยึดถือในขณะนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า
ทรงแสดง ขณะที่พัก ไว้ หลายนัยดังนี้ ครับ
พัก อยู่ด้วยอำนาจกิเลส คือ ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ขณะนั้น กำลังพัก ที่จะ
ไม่ไปสู่ฝั่ง เพราะเปรียบสัตว์โลก เหมือนอยู่ในโอฆะ ห้วงน้ำมหาสมุทรอันกว้าง
ใหญ่ เมื่อฝั่ง คือ พระนิพพาน ที่ดับกิเลสมีอยู่ แต่ว่า เกิดกิเลสขึ้นมาในจิตใจใน
ขณะใด ไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใด กิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ทางที่จะไปสู่หนทาง
การดับกิเลส พราะฉะนั้นเมื่อกิเลส เกิดขึ้น ชือ่ว่า พักอยู่ คือ จมลงในมหาสมุทร
ของความไม่รู้ ไม่ได้ว่ายข้ามไป เพื่อจะไปถึงฝั่ง และ ขณะที่เพียรอยู่ ด้วยความ
จงใจ ตั้งใจ ที่เป็นเจตนาเจตสิก ที่เกิดขึ้น ในการทำกุศล อกุศลกรรม อันเป็นไป
ในวัฏฏะ อันทำให้วนเวียนอยยู่ในมหาสมุทร ไม่ไปถึงฝั่งก็ชื่อลอย อยู่ในมหาสมุทร
นั้น ไม่ก้าวข้าม ว่ายไปถึงฝั่ง ครับ เพราะ เจตนาเจตสิก ที่เป็นในกุศล อกุศล ที่
เรียกว่า อภิสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดในภพ เป็นปัจจัยให้เกิดร่ำไป ไม่มีที่สิ้นสุด ครับ
สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ตามที่ได้อธิบาย ใน นัยของคำว่า พัก และ เพียร
ว่าคืออย่างไร ครับ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 37
จริงอยู่ ว่าด้วยอำนาจกิเลส เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.ว่าด้วยอำนาจอภิสังขาร เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย
-------------------------------------------------
และ อีกนัยหนึ่ง ของคำว่า พักอยู่ และ เพียรอยู่ ซึ่งไม่ใช่หนทางการดับกิเลส
ก็แสดงลึกลงไปถึงกิเลสที่ประณีตลงไปอีก คือ ขณะใดที่โลภะเกิดขึ้น ขณะที่
ยินดี พอใจในสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ขณะนั้น ไม่ใช่หนทางการดับกิเลส เพราะเป็นกิเลส
ทีเกิดขึ้น ก็พักอยู่ในสังสารวัฏฏ์ด้วยความติดข้องทีเกิดขึ้นในขณะนั้น และขณะ
ที่เพียรอยู่ ทีเป็นความเพียรผิด ที่ทำให้ลอยไปในสังสาวัฏฏ์ในห้วงน้ำแห่งความ
ไม่รู้ คือ ขณะที่เกิดความเห็นผิดเกิดขึ้นในจิตใจ สำคัญว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีเรา
ที่จะทำได้ เมื่อคิดว่ามีเรา ก็คิดว่าบังคับได้ เช่น บังคับ สติ จะใช้สติ เป็นต้น ก็เพียร
ด้วยความเป็นเรา ด้วยความเห็นผิด ก็ชื่อว่า ลอยไปในความไม่รู้ อันเป็นความเพียร
ที่ไม่ถูกต้อง ก็ชื่อว่า เพียรอยู่ ครับ สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 37
อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจแห่งตัณหา เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย.
--------------------------------------
และ การพัก อีกนัยหนึ่ง ที่แสดงถึง กิเลสที่ละเอียดลึกลงไปอีก คือ ขณะที่พัก
คือ ขณะที่เกิดความเห็นผิดว่าเที่ยง ยั่งยืน ตายแล้วเกิด เป็นต้น แต่ไม่เข้าใจว่า
เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคลเกิดขึ้น ขณะนั้น พักอยู่ พักด้วย ทิฏฐิ ความ
เห็นผิด ว่าเที่ยง ยั่งยืน และ ขณะใดที่เห็นผิดว่า ตายแล้วไม่เกิด ขาดสูญ ขณะนั้น
ก็ชื่อว่า ลอย คือ เพียรอยู่ เป็นความเพียรที่เกิดกับควาเห็นผิด ซึ่งการพัก และ
การเพียรทั้งสองอย่างนี้ ก็ไม่สามารถไปถึงฝั่ง คือ การดับกิเลสได้ ครับ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 37
ว่าด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย. อีกอย่างหนึ่งว่าด้วยสัสสตทิฏฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอุจเฉททิฏฐิเมื่อบุคคลเพียรชื่อว่า ย่อมลอย
----------------------------------------------
จะเห็นถึงความละเอียด ความละเอียดของอะไร เป็นความละเอียดของกิเลสที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะพัก จะเพียร แม้ไม่ทำ ไม่อบรมปัญญา อยู่เฉยๆ แต่ อยู่ด้วยจิตเป็นอกุศล
ก็เป็นการพักในขณะนั้น และ แม้จะมีการทำ พยายามที่จะทำ อบบรมปัญญา
แต่ไม่เข้าใจหนทางที่ถูกต้อง แต่ มีเรา ที่จะทำสติ ทำปัญญาให้เกิด ไปนั่ง
ปฏิบัติ เป็นต้น ก็เป็นเราด้วยความเห็นผิด ก็เป็นขณะที่เพียรอยู่ ก็เป็นทาง
ผิดอีกเช่นกัน ก็ไม่ชื่อว่า ไม่พัก ไม่เพียร ครับ
ดังนั้น การไม่พัก ไม่เพียร คือ หนทางการดับกิเลสที่ถูกต้อง การไม่พัก ไม่เพียร
ไม่ได้หมายความให้ทำอะไร และ ไม่ให้ทำอะไร เพราะ ไม่มีตัวตนที่จะให้ทำ หรือ
จะไม่ให้ทำ แต่เป็นการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่จะไม่พัก ไม่พียร คือ ไม่พัก ไป
ในอำนาจของกิเลส คือ ไม่เกิดกิเลสในขณะนั้น และ ขณะนั้น ไม่เพียรด้วยความ
เป็เนราที่จะทำ พยายามด้วยอกุศล จึงกล่าวได้ว่า การไม่พัก ไม่พียร ที่ถูกต้อง
คือ ขณะทีสติและปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียง
ธรรมไม่ใชเรา ขณะนั้น ชื่อว่า ไม่พัก ไม่เพียร ที่เป็นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เพราะ
ขณะที่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่พัก อยู่ในสังสารวัฏฏ์ เพราะกำลังว่ายข้ามมหา-
สมุทรของความไม่รู้เพื่อไปสู่ ฝั่ง คือ การดับกิเลสทีละน้อย และ ขณะนั้น ก็ ไม่
พยายามเพียรด้วยความเห็นผิด เพราะกำลังรู้ความจริงของสัจจธรรมในขณะนั้น ครับ
ขณะที่ไม่ฟังพระธรรม แต่ ขณะที่ปัญญารู้ความจริง ขณะนั้นชื่อว่าไม่พัก ไม่เพียร
แต่ ถ้าฟังพระธรรม เพื่ออยากจะรู้ มากๆ ขณะนั้น ก็เพียรด้วยความเป็นเรา ก็ไม่ใช่
หนทางการดับกิเลส ธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยมาก ก็พักอยู่ด้วยอกุศล คือ
เกิดกิเลส เป็นธรรมดา จะฟัง หรือ ไม่ฟังก็ตามแต่ควรเข้าใจถึงการจะรู้ความจริง
ถึงการไม่พัก ไม่เพียรได้ ก็ด้วยการอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม
ใช้ชีวิตเป็นปกติ ปัญญาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็จะเห็นประโยชน์ของการฟัง ศึกษาพระธรรม
และ การเจริญทุกๆ ประการ ที่เป็นบารมี อันจะเป็นธรรมที่จะทำให้ถึง ฝั่ง คือ การดับ
กิเลส ครับ ขออนุโมทนา
ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านครับที่ให้ปัญญา
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาคะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ