[คำที่ ๔๔๔] สมฺโมห
โดย Sudhipong.U  27 ก.พ. 2563
หัวข้อหมายเลข 32564

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สมฺโมห”

คำว่า สมฺโมห เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สำ - โม -หะ] มาจากคำว่า สํ (ทั่ว, พร้อม) กับคำว่า โมห (ความหลง) แปลงนิคหิต (อํ) เป็น มฺ จึงรวมกันเป็น สมฺโมห เขียนเป็นไทยได้ว่า สัมโมหะ แปลว่า ความหลงพร้อม, ความหลงโดยทั่ว เป็นอีกคำหนึ่งที่อธิบายถึงความเป็นจริงของ อวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้ความจริง ขณะที่อวิชชาเกิดขึ้น นั้น ไม่รู้สิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นผู้ถูกความไม่รู้ครอบงำ ก็หลงโดยทั่วหลงโดยรอบจริงๆ ในขณะนั้น

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ได้อธิบายความหมายของคำว่า สมฺโมห ไว้ดังนี้ว่า

อวิชชา ชื่อว่า สัมโมหะ ด้วยอำนาจแห่งความหลงพร้อม”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง ทุกคำ เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล เป็นประโยชน์ที่ทำให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นกัลยาณมิตรสูงสุด เพราะเหตุว่า ทุกคำจริงของพระองค์ ไม่ได้หวังให้ใครเข้าใจผิดเลยแม้แต่น้อย แต่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมโดยนัยต่างๆ มากมาย หลากหลาย โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ที่จะทำให้ผู้ฟังผู้ศึกษาค่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจในความเป็นจริงของธรรม ตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของอวิชชา ซึ่งเป็นความไม่รู้ พระองค์ทรงแสดงโดยใช้พยัญชนะมากมายที่แสดงถึงความจริงของธรรมประเภทนี้ ซึ่งมีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง เมื่อกล่าวถึงความเศร้าหมองแล้ว ย่อมเป็นความไม่บริสุทธิ์ เป็นความมัวหมอง ได้แก่ กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทำให้จิตเศร้าหมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา เป็นความเศร้าหมองยิ่งกว่าความเศร้าหมองทั้งหลาย คนที่ยังมีกิเลสอยู่ จะกล่าวว่า ตนเองไม่มีความเศร้าหมอง เป็นผู้ปราศจากความเศร้าหมอง ไม่ได้ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีความเศร้าหมอง เป็นผู้ที่ปราศจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง คือ พระอรหันต์ เท่านั้น

กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ในชีวิตประจำวันก็ยังไม่พ้นไปจากกิเลสประการต่างๆ เลย เป็นผู้ถูกกิเลสกลุ้มรุมเกือบจะตลอดเวลา เพราะถ้ากุศล คือ ความดีไม่เกิด ก็เป็นโอกาสที่กิเลสจะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ทำให้จิตเป็นอกุศล แปดเปื้อนจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง ซึ่งไม่เพียงแต่ในชาตินี้เท่านั้นที่มีกิเลสมาก โดยมีอวิชชา ความไม่รู้ เป็นหัวหน้า แต่เมื่อย้อนไปในอดีตชาติอันยาวนานที่ผ่านมา ก็มีกิเลสมาก ที่สะสมสืบต่อจนมาถึงปัจจุบันชาตินี้ กล่าวได้เลยว่า สะสมความเป็นผู้โง่เขลาทุกครั้งที่อกุศลเกิดขึ้น อวิชชา เป็นสภาพที่ไม่รู้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ หากไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร? ธรรมอยู่ในขณะไหน? เป็นต้น ก็จะไม่เข้าใจความจริงว่ามีแต่ธรรมเท่านั้น เมื่อไม่เข้าใจความจริง ย่อมเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมที่มีจริงในขณะนี้ กล่าวคือ ไม่รู้ว่าในขณะนี้เป็นธรรม จึงหลงยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อถูกความไม่รู้ครอบงำ ย่อมทำให้ไม่เห็นความจริง ไม่เข้าใจความจริง แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ก็ไม่รู้ และก็จะสะสมความไม่รู้อย่างนี้ เป็นผู้โง่เขลาอย่างนี้อีกต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

เป็นความจริงที่ว่าขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้น มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วยทุกขณะ เพราะอกุศลก็มีหลายอย่าง ไม่ใช่มีแต่เฉพาะโลภะ (ความติดข้อง ความยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) เท่านั้นที่เกิดขึ้น ยังมีอกุศลอีกมาก ซึ่งขณะนั้นก็มีความไม่รู้ ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความไม่รู้จะมากมายสักแค่ไหน เพราะบางขณะที่โลภะไม่เกิด โทสะ ไม่เกิด แต่แม้ขณะนั้นก็ต้องมีความไม่รู้อยู่ด้วย นี้คือ ความเป็นจริงของธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า อกุศลจิตทุกประเภท ทั้งที่มีโลภะเป็นมูล ทั้งที่มีโทสะเป็นมูล และทั้งที่มีโมหะหรืออวิชชา เป็นมูล ทุกขณะมีอวิชชาเกิดร่วมด้วย ไม่ปราศจากอวิชชา เลย

พระธรรมทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม แต่เนื่องจากสะสมความเป็นเรามาอย่างยาวนาน ก็ยังเป็นเราอยู่ ยังมีความเป็นเราที่ต้องการสิ่งต่างๆ แต่ตามความเป็นจริง ก็คือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมีจริงๆ ตามเหตุตามปัจจัยซึ่งไม่ใช่เรา พระธรรมทั้งหมดเพื่อให้รู้ความจริง ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนก็ตาม จริงทั้งหมด เช่น ขณะเห็นก็จริง แต่ยังไม่รู้ความจริง ขณะกำลังได้ยิน ก็จริง แต่ยังไม่รู้ความจริง ขณะกำลังคิด ก็จริง แต่ไม่รู้ความจริง อวิชชา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นความไม่รู้ ไม่เห็นความจริง เป็นสภาพที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่รู้ความจริง เป็นผู้หลงโดยทั่วโดยรอบจริงๆ เมื่อไม่รู้ความจริงก็ไม่สามารถที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้ และความไม่รู้ ก็เป็นต้นเหตุของความไม่ดีทั้งหมด, ถ้าไม่มีโอกาสได้

ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่มีทางเข้าใจเลยว่า มากไปด้วยอวิชชา เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ค่อยๆ ขัดเกลาละคลายอวิชชา คือ ความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย

ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจถูกเห็นถูก ขณะนั้น ปัญญาค่อยๆ สะสมอบรมทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาขั้นฟังยังไม่สามารถดับอวิชชาได้ แต่ปัญญาจะค่อยๆ คลายความไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงลงได้ โดยที่ไม่มีตัวตนจะสามารถตัดหรือทำลายอวิชชาให้หมดสิ้นไปได้ นอกจากผู้นั้นจะมีโอกาสฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอวิชชาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หลงโดยทั่วโดยรอบ ได้ ในที่สุด ส่วนการไปทำอย่างอื่นด้วยความไม่รู้ ด้วยความอยาก ด้วยความหวังความต้องการ นั่น ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่เป็นหนทางที่เพิ่มความโง่เขลา เพิ่มความอยาก และเพิ่มความเห็นผิดให้มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นโทษเท่านั้น เป็นโทษทั้งในชาตินี้และสะสมเป็นโทษในชาติต่อๆ ไปอีกด้วย ซึ่งควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 1 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ