กังขาวิตรณวิสุทธิ
โดย บ้านธัมมะ  29 พ.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 5699

กังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขา (ความสงสัย) + วิตรณ (ข้ามพ้น) + วิสุทธิ (ความบริสุทธิ์วิเศษ)

ความบริสุทธิ์วิเศษเพราะข้ามพ้นความสงสัยเสียได้ หมายถึง ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งเหตุปัจจัยของนามรูป ทราบชัดว่านามรูปมิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หรือมีใครสามารถดลบันดาลให้นามรูปเกิดขึ้นได้ นามรูปทั้งมวลเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ทำให้หมดความสงสัยในกาลทั้ง ๓ คือ อดีตชาติ ปัจจุบันชาติ และอนาคตชาติ

ปัจจยปริคคหญาน (ปัญญาที่รู้ชัดปัจจัยของนามรูป)

ธรรมฐิติญาน (ปัญญารู้ที่ตั้งแห่งธรรมทั้งหลาย)

ยถาภูตญาน (ปัญญารู้ตามความเป็นจริง)

สัมมาทัสสนะ (ความเห็นชอบ)

ล้วนเป็นชื่อของกังขาวิตรณวิสุทธิทั้งนั้น และผู้ที่ได้บรรลุวิปัสสญานที่ ๒ นี้แล้ว ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงว่า เป็นผู้ได้ความอุ่นใจเพราะได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่า จูฬโสดาบัน คือมีคติแน่นอน



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 พ.ย. 2550

ข้อความบางตอนจาก....
[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 443
[๔๕๖] ธรรม ๙ อย่าง ควรเจริญเป็นไฉน. ได้แก่องค์เป็นที่ตั้งแห่งความบริสุทธิ์ ๙ อย่าง คือ ศีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีลเป็นองค์ เป็นที่ตั้งแห่งความบริสุทธิ์ จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต . . .ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ. . . กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย . . .มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง . . .ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ. . . ญาณทัสสน-วิสุทธิ ความหมดแห่งญาณทัสสนะ . . . ปัญญาวิสุทธิ ความหมดจดแห่งปัญญา ...วิมุตติวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความหลุดพ้น เป็นองค์ เป็นที่ตั้งแห่ง
[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 471
บทว่า กงฺขาวิตรณวิสุทฺธิ ได้แก่ความรู้ในปัจจยาการ.จริงอยู่ เมื่อบุคคลเห็นว่า ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งปัจจัย แม้ในกาลทั้ง ๓ นั่นเอง ดังนี้ ย่อมข้ามความสงสัยเสียได้.
ข้อความบางตอนจาก...
[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 352

รถวินีตสูตร
[๒๙๗] ปุ. ผู้มีอายุ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงบัญญัติสีลวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานี้ ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ถ้าจักทรงบัญญัติจิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้วก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ถ้าหากว่าธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ จักเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ปุถุชนจะชื่อว่าปรินิพพาน เพราะว่าปุถุชนไม่มีธรรมเหล่านี้ผู้มีอายุ ผมจะอุปมาให้ท่านฟัง บุรุษผู้เป็นวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้เนื้อความแห่งคำที่กล่าวแล้วด้วยอุปมา.


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 28 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ