จาก ๗.นหานสิกขาบท เรื่องการสรงน้ำนอกสมัย กล่าวถึงว่า ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ / ขอเรียนถามว่า ภิกษุอาบน้ำทุกวันไม่ได้หรือคะ ต้องครึ่งเดือนค่อยอาบได้ มีเหตุผลอะไรอย่างไร ช่วยอธิบายด้วยค่ะ ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้นะคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ พระองค์ปรารภภิกษุทั้งหลายที่อาบน้ำที่แม่น้ำตโปทา โดยไม่รู้จักประมาณ ขนาดเห็นพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาเพื่อจะสรงสนาน ก็ยังอาบต่อ จนเป็นเหตุทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้สรงสนาน ช้า เมื่อสนานเสร็จแล้ว เป็นเวลาที่ประตูพระนครปิด พระองค์ไม่ทรงสามารถเสด็จเข้าไปในภายพระนครได้ จึงทรงพักอยู่ภายนอกพระนคร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปรารภเรื่องนี้ จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ คือ "ภิกษุใด
ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำเป็นปาจิตตีย์" แต่ก็มีข้อยกเว้นมากมาย เช่น อาบน้ำในเวลาร้อนอบอ้าว เวลาเปรอะเปื้อน เวลาที่เมื่อทำงานแล้ว เวลาที่เป็นไข้ เป็นต้น และสำหรับประเทศไทย เป็นปัจจันตชนบท ภิกษุสามารถอาบน้ำได้ทุกวัน ครับ
พระวินัยเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ขอเชิญอ่านข้อความโดยตรงจากพระวินัยปิฎก ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
นหานสิกขาบท สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๗
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาครับ
เรียนถามเพิ่มเติมค่ะ ปัจจันตชนบท คืออย่างไรคะ ทำไมถึงอาบน้ำได้ทุกวัน ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความคิดเห็นที่ ๓
ปัจจันตชนบท คือ บริเวณเขตนอกพื้นที่ตอนกลางของอินเดีย เนื่องจากในเขตปัจจันตชนบท อากาศร้อนเป็นนิตย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงอนุญาตไว้ว่า ภิกษุอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาครับ