จุลลธรรมปาลชาดก
โดย sutta  20 ธ.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25934

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 765

๘. จุลลธรรมปาลชาดก

ความรักของแม่ที่มีต่อลูก

[๗๓๗] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดมือของหม่อมฉันเถิด.

[๗๓๘] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดเท้าของหม่อมฉันเถิด.

[๗๓๙] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดศีรษะของหม่อมฉันเถิด.

[๗๔๐] ใครๆ ผู้เป็นมิตรและอำมาตย์ของพระราชานี้ ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์ พระราชบุตรซึ่งเกิดแต่พระอุระเสียเลย ก็ไม่มี.

[๗๔๑] ใครๆ ผู้เป็นมิตรและพระญาติของพระราชานี้ ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่ห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรที่เกิดจากพระองค์เสียเลย ก็ไม่มี.

[๗๔๒] แขนของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดิน อันลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์แดงมาขาดไปเสีย ข้าแต่สมมติเทพ ชีวิตของหม่อมฉันก็คงจะดับไป.

จบ จุลลธรรมปาลชาดกที่ ๘

อรรถกถา จุลลธรรมปาลชาดกที่ ๘

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภการพยายามของพระเทวทัต เพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อหเมว ทูสิยา ภูนหตา ดังนี้.

ในชาดกอื่นๆ พระเทวทัตไม่ได้อาจเพื่อจะทำ แม้มาตรว่าความสะดุ้งแก่พระโพธิสัตว์. ส่วนในจุลลธรรมปาลชาดกนี้ พระเทวทัตให้ ตัดมือ เท้า และศีรษะ และให้ทำกรรมกรณ์ชื่ออสิมาลกะ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์มีอายุ ๗ เดือน

ในทัททรชาดก พระเทวทัตหักคอให้ตายแล้วปิ้งเนื้อบนเตากิน ในขันติวาทีชาดก ให้เอาแช่หวายสองเส้นเฆี่ยนพันครั้ง ให้ตัดมือ เท้า หู และจมูก แล้วจับที่ชฎาดึงมาให้นอนหงาย กระทืบที่อกแล้วไป พระโพธิสัตว์ถึงความสิ้นชีวิต ในวันนั้นเอง.

ในจุลลนันทิกชาดกก็ดี ในมหากปิชาดกก็ดี ได้แต่ฆ่าให้ตายเท่านั้น พระเทวทัตนี้ พยายามปลงพระชนม์อยู่ตลอดกาลนานด้วยประการอย่างนี้ ในครั้งพุทธกาล ได้พยายามอยู่เหมือนกัน อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า

อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตกระทำอุบายเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าเท่านั้น พระเทวทัตคิดว่า จักปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงประกอบนายขมังธนูกลิ้งศิลา และให้ปล่อยช้างนาฬาคิรี

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนาด้วยเรื่องอะไรในบัดนี้ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบว่า เรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็พยายามฆ่าเราเหมือนกัน แต่ว่า ในบัดนี้พระเทวทัตไม่อาจทำแม้สักว่าความสะดุ้งตกใจ ในกาลก่อน ในเวลาที่เราเป็นธรรมปาลกุมาร พระเทวทัตทำเราผู้เป็นบุตรของตนให้ถึงความสิ้นชีวิต แล้วให้ทำกรรมกรณ์ชื่อ อสิมาลกะ ครั้นตรัสแล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ามหาปตาปะ ครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี อัครมเหสีของพระเจ้ามหาปตาปราชนั้น พระญาติทั้งหลายขนานนามพระโพธิสัตว์นั้นว่า ธรรมปาละ

ในเวลาที่ธรรมปาลกุมารนั้นมีอายุได้ ๗ เดือน พระมารดาให้สรงสนานธรรมปาลกุมารนั่นนั้น โดยน้ำผสมด้วยของหอม แต่งพระองค์แล้วประทับนั่งให้เล่นอยู่ พระราชาเสด็จมายังสถานที่พระเทวีนั้นประทับอยู่ พระเทวีนั้นให้พระโอรสเล่นอยู่ เป็นผู้ทรงเปี่ยมด้วยความสิเนหา แม้ได้เห็นพระราชาก็มิเสด็จลุกขึ้นรับ พระราชานั้นทรงดำริว่า เดี๋ยวนี้ นางจันทานี้กระทำมานะถือตัวเพราะอาศัยบุตรก่อน ไม่สำคัญเราในเรื่องไรๆ ก็เมื่อบุตรเติบโตขึ้น นางจักไม่กระทำความสำคัญเราว่าเป็นมนุษย์ก็ได้ เราจักฆ่าเสียในบัดนี้แหละ ท้าวเธอจึงเสด็จกลับไปประทับนั่งบนราชอาสน์ แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตมา โดยพระโองการว่า เพชฌฆาตจงมาโดยพิธีธรรมเนียมของตน

เพชฌฆาตนั้นจึงนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ทัดทรงดอกไม้แดง แบกขวาน ถือท่อนไม้สำหรับวางพาดมือและเท้า มีปุ่มเป็นที่รองรับมาถวายบังคมพระราชากราบทูลว่า เทวะ ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำอะไร ครั้นกราบทูลแล้ว ได้ยืนคอยรับพระบัญชาอยู่ พระราชารับสั่งว่า ท่านจงเข้าไปยังห้องอันมีสิริของพระเทวี แล้วนำธรรมปาลกุมารมา.

ฝ่ายพระเทวีทรงทราบว่า พระราชาทรงกริ้วแล้วเสด็จกลับไป จึงให้พระโพธิสัตว์นอนแนบพระอุระ ประทับนั่งทรงพระกรรแสงอยู่ นายเพชฌฆาตมาถึงเอามือตบพระปฤษฎางค์พระเทวีนั้นแล้ว ชิงพระกุมารไปจากพระหัตถ์ พามายังสำนักของพระราชาแล้วกราบทูลว่า เทวะ ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำอะไร

พระราชารับสั่งว่า ท่านจงให้นำเอาแผ่นกระดานมาแล้วให้เรียบลงข้างหน้า แล้วให้กุมารนั้นนอนบนแผ่นกระดานนี้ นายเพชฌฆาตนั้นได้กระทำตามรับสั่งอย่างนั้น พระนางจันทาเทวีทรงปริเทวนาการร่ำไรมาข้างหลังพระโอรสนั่นแล

เพชฌฆาตกราบทูลอีกว่า เทวะ ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำอะไร พระราชารับสั่งว่า จงตัดมือทั้งสองของธรรมปาลกุมาร พระนางจันทาเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช บุตรของหม่อมฉันเพิ่งมีอายุได้ ๗ เดือน ยังอ่อนอยู่ ไม่รู้อะไร บุตรของหม่อมฉันนั้น ไม่มีโทษผิด ก็โทษผิดแม้จะยิ่งใหญ่ก็ควรจะมีในหม่อมฉัน เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้ตัดมือทั้งสองของหม่อมฉันเถิด เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำ ความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติ เทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยธรรม ปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดมือทั้ง สองของหม่อมฉันเถิด

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูสิยา ได้แก่ ผู้ทาให้เสียหาย อธิบายว่า เห็นพระองค์แล้วไม่ลุกขึ้นรับ ชื่อว่าผู้กระทำผิด. บาลีว่า ทูสิกา ดังนี้ก็มี เนื้อความก็อย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า ภูนหตา ได้แก่ ขจัดความเจริญ อธิบายว่า กำจัดความเจริญ.

บทว่า รญฺโ พึงประกอบกับบทว่า ทูสิยา

ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า หม่อมฉันทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ มิใช่กุมารนี้ เพราะฉะนั้น ขอพระองค์โปรดปลดปล่อยธรรมปาละ ผู้ยังอ่อนหาความผิดมิได้นี้เสียเถิด ก็ถ้าพระองค์ประสงค์จะตัดมือทั้งสอง ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงตัดมือทั้งสองของหม่อมฉันผู้กระทำผิด

พระราชาทรงแลดูนายเพชฌฆาตๆ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จะการทำอย่างไร

พระราชาตรัสว่า ท่านอย่าชักช้าจงตัดมือทั้งสองเสีย ขณะนั้น นายเพชฌฆาตถือขวานอันคมกล้าตัดมือทั้งสองของพระกุมารเหมือนตัดหน่อไม้อ่อนฉะนั้น.

เมื่อนายเพชฌฆาตตัดมือทั้งสองอยู่ ธรรมปาลกุมารนั้น ไม่ร้องไห้ ไม่ร่ำไร กระทำขันติและเมตตาให้เป็นปุเรจาริก อดกลั้นอยู่. ส่วนพระนางจันทาเทวีถือเอาปลายมือที่ขาดใส่ไว้ในพก มีโลหิตไหลอาบพระองค์ ทรงเที่ยวปริเทวนาการอยู่.

นายเพชฌฆาตทูลถามอีกว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จะทำอะไร.

พระราชาตรัสว่า จงตัดเท้าทั้งสองเสีย.

พระนางจันทาเทวีได้สดับดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนั้นเสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดเท้าของหม่อมฉันเถิด.

อธิบายในคาถาที่ ๒ นั้น พึงทราบโดยนัยคาถาแรกนั่นแล.

ฝ่ายพระราชาทรงสั่งบังคับเพชฌฆาตอีก นายเพชฌฆาตนั้น ได้ตัดเท้าทั้งสองขาด พระนางจันทาเทวีถือเอาปลายเท้าใส่ไว้ในพกมีโลหิตโซมกาย ทรงร่ำไห้กราบทูลว่า ข้าแต่พระเจ้ามหาปตาปะผู้เป็นพระสวามี ทารกชื่อว่ามีมือและเท้าอันพระองค์ให้ตัดแล้ว อันมารดาจำต้องเลี้ยงดูมิใช่หรือ หม่อมฉันจักรับจ้างเลี้ยงบุตรของหม่อมฉัน ขอพระองค์จงประทานบุตรนั่นแก่หม่อมฉันเถิด.

นายเพชฌฆาตกราบทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์กระทำตามพระราชอาชญาแล้ว กิจของข้าพระองค์เสร็จแล้วหรือ

พระราชาตรัสว่า ยังไม่เสร็จก่อน นายเพชฌฆาตกราบทูลว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์จะทำอะไร

พระราชาตรัสว่า จงตัดศีรษะธรรมปาลกุมารนี้

ลำดับนั้น พระนางจันทาเทวี จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :- หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดศีรษะของหม่อมฉันเถิด. ก็แหละครั้นตรัสแล้ว พระนางจึงน้อมศีรษะเข้าไป

เพชฌฆาตกราบทูลถามพระราชาอีกว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จะกระทำอะไร

พระราชาตรัสว่า จงตัดศีรษะของธรรมปาลกุมารนั้นเสีย

นายเพชฌฆาตนั้นครั้นตัดศีรษะแล้ว จึงกราบทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์กระทำตามพระราชอาชญาแล้วหรือ

พระราชาตรัสว่า ยังไม่ได้กระทำก่อน

นายเพชฌฆาตกราบทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์จะกระทำอะไรอีก

พระราชาตรัสว่า ท่านจงเอาปลายดาบรับร่างธรรมปาลกุมารนั้น กระทำกรรมกรณ์ชื่อ อสิมาลกะ

นายเพชฌฆาตนั้นจึงโยนร่างของธรรมปาลกุมารนั้นขึ้นไปในอากาศ แล้วเอาปลายดาบรับร่างของธรรมปาลกุมารนั้น กระทำกรรมกรณ์ชื่อ อสิมาลกะ แล้วโปรยลงที่ท้องพระโรง

พระนางจันทาเทวีจึงใส่เนื้อของพระโพธิสัตว์ไว้ในพก ทรงร้องไห้คร่ำครวญ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

ใครๆ ผู้เป็นมิตรและอามาตย์ของพระราชานั้น ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรซึ่งเกิดแต่พระอุระเลย ก็ไม่มี.

ใครๆ ผู้เป็นมิตร และพระญาติของพระราชานั้น ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรซึ่งเกิดแต่พระอุระเลย ก็ไม่มี. แขนของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดิน อันลูบไล้ด้วยแก่นจันทร์แดง มาขาดไปเสีย ข้าแต่สมมติเทพ ชีวิตของหม่อมฉันก็คงจะดับไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺตามจฺจา จ วิชฺชเร ความว่า ใครๆ ผู้เป็นมิตรสนิทของพระราชานี้ หรืออำมาตย์ผู้ร่วมในกิจทั้งปวง หรือผู้ที่ชื่อว่ามีใจดี เพราะมีหทัยอ่อนโยน จะไม่มีแน่นอน.

บทว่า เย น วทนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดมาทันเวลา ไม่พูด คือห้ามพระราชานี้ว่า อย่าปลงพระชนม์พระปิโยรสของพระองค์ ชนเหล่านั้น เราเข้าใจว่า ไม่มีเลย.

บทว่า าตี ในคาถาที่ ๒ ได้แก่ ญาติหลายคน.

ก็พระนางจันทาเทวี ครั้นกล่าวคาถา ๒ คาถานี้แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

พระพาหาทั้งสองของธรรมปาลกุมารผู้ เป็นทายาทแห่งแผ่นดิน อันลูบไล้ด้วยแก่น จันทร์แดง มาขาดไป ข้าแต่สมมติเทพ ชีวิต ของหม่อมฉันก็คงจะดับไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทายาทสฺส ปพฺยา ความว่า พระนางจันทาเทวีรำพันคำมีอาทิอย่างนี้ว่า มือของทายาทแห่งแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต อันเป็นของพระบิดา ซึ่งไล้ทาด้วยแก่นจันทร์แดงขาดไป เท้าขาด ศีรษะขาดทั้งถูกลงกรรมกรณ์ชื่ออสิมาลกะ บัดนี้ พระองค์ได้ตัดวงศ์ของพระองค์เอง ดังนี้ จึงตรัสอย่างนั้น.

บทว่า ปาณา เม เทว รุชฺฌติ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อหม่อมฉันไม่อาจสามารถกลั้นความโศกนี้ได้ ชีวิตคงจะดับไป.

เมื่อพระนางทรงร่ำไห้อยู่อย่างนั้น พระหทัยก็แตกไป เหมือนไม้ไผ่ถูกไฟไหม้อยู่อย่างนั้นฉะนั้น พระนางได้ถึงความสิ้นพระชนม์ลง ณ ที่นั้นเอง.

ฝ่ายพระราชาก็ไม่อาจดำรงอยู่บนบัลลังก์ได้ จึงตกลงไปที่ท้องพระโรง. พื้นที่อันเรียบสนิทแยกออกเป็นสองภาค. พระเจ้ามหาปตาปะนั้นพลัดตกจากพื้นเรียบแม้นั้นถึงพื้นดิน. แต่นั้น แผ่นดินทึบหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ไม่อาจรองรับโทษผิดของพระราชานั้นได้ จึงได้แยกให้ช่อง. เปลวไฟตั้งขึ้นจากอเวจีมหานรก หอบเอาพระเจ้ามหาปตาปะไปโยนลงในอเวจีมหานรก ประดุจหุ้มด้วยผ้ากัมพลที่ตระกูลมอบให้ฉะนั้น.

ส่วนพระนางจันทาเทวี และพระโพธิสัตว์ อำมาตย์ทั้งหลายได้ปลงพระศพให้แล้ว.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต พระนางจันทาเทวี ได้เป็นพระมหาปชาบดีโคตมี ส่วนธรรมปาลกุมารได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาจุลลธรรมปาลชาดกที่ ๘



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ใครๆ ผู้เป็นมิตรและอามาตย์ของพระราชานั้น ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรซึ่งเกิดแต่พระอุระเลย ก็ไม่มี.

ใครๆ ผู้เป็นมิตร และพระญาติของพระราชานั้น ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรซึ่งเกิดแต่พระอุระเลย ก็ไม่มี. แขนของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดิน อันลูบไล้ด้วยแก่นจันทร์แดง มาขาดไปเสีย ข้าแต่สมมติเทพ ชีวิตของหม่อมฉันก็คงจะดับไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺตามจฺจา จ วิชฺชเร ความว่า ใครๆ ผู้เป็นมิตรสนิทของพระราชานี้ หรืออำมาตย์ผู้ร่วมในกิจทั้งปวง หรือผู้ที่ชื่อว่ามีใจดี เพราะมีหทัยอ่อนโยน จะไม่มีแน่นอน.

บทว่า เย น วทนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดมาทันเวลา ไม่พูด คือห้ามพระราชานี้ว่า อย่าปลงพระชนม์พระปิโยรสของพระองค์ ชนเหล่านั้น เราเข้าใจว่า ไม่มีเลย.

บทว่า าตี ในคาถาที่ ๒ ได้แก่ ญาติหลายคน.

ก็พระนางจันทาเทวี ครั้นกล่าวคาถา ๒ คาถานี้แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

พระพาหาทั้งสองของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดิน อันลูบไล้ด้วยแก่นจันทร์แดง มาขาดไป ข้าแต่สมมติเทพ ชีวิตของหม่อมฉันก็คงจะดับไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทายาทสฺส ปพฺยา ความว่า พระนางจันทาเทวีรำพันคำมีอาทิอย่างนี้ว่า มือของทายาทแห่งแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต อันเป็นของพระบิดา ซึ่งไล้ทาด้วยแก่นจันทร์แดงขาดไป เท้าขาด ศีรษะขาดทั้งถูกลงกรรมกรณ์ชื่ออสิมาลกะ บัดนี้ พระองค์ได้ตัดวงศ์ของพระองค์เอง ดังนี้ จึงตรัสอย่างนั้น.

บทว่า ปาณา เม เทว รุชฺฌติ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อหม่อมฉันไม่อาจสามารถกลั้นความโศกนี้ได้ ชีวิตคงจะดับไป.

เมื่อพระนางทรงร่ำไห้อยู่อย่างนั้น พระหทัยก็แตกไป เหมือนไม้ไผ่ถูกไฟไหม้อยู่อย่างนั้นฉะนั้น พระนางได้ถึงความสิ้นพระชนม์ลง ณ ที่นั้นเอง.

ฝ่ายพระราชาก็ไม่อาจดำรงอยู่บนบัลลังก์ได้ จึงตกลงไปที่ท้องพระโรง. พื้นที่อันเรียบสนิทแยกออกเป็นสองภาค. พระเจ้ามหาปตาปะนั้นพลัดตกจากพื้นเรียบแม้นั้นถึงพื้นดิน. แต่นั้น แผ่นดินทึบหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ไม่อาจรองรับโทษผิดของพระราชานั้นได้ จึงได้แยกให้ช่อง. เปลวไฟตั้งขึ้นจากอเวจีมหานรก หอบเอาพระเจ้ามหาปตาปะไปโยนลงในอเวจีมหานรก ประดุจหุ้มด้วยผ้ากัมพลที่ตระกูลมอบให้ฉะนั้น.

ส่วนพระนางจันทาเทวี และพระโพธิสัตว์ อำมาตย์ทั้งหลายได้ปลงพระศพให้แล้ว.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต พระนางจันทาเทวี ได้เป็นพระมหาปชาบดีโคตมี ส่วนธรรมปาลกุมารได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาจุลลธรรมปาลชาดกที่ ๘


ความคิดเห็น 4    โดย supim  วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ขอขอบคุณและอนุโมทนาในความกรุณาของ อ.เผดิมค่ะ พระสูตรนี้เป็นอีกเรื่องที่จะช่วยเกื้อกูลต่อการเจริญกุศลธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะได้ยึดถือเป็นเครื่องระลึกในแบบอย่างความอดทน อดกลั้นความเมตตา ความไม่สะดุ้งกลัวต่อการประทุษร้ายที่อาจจะเพียงเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่พระโพธิสัตว์ได้ประสบ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น