หิริ และ โอตตัปปะ คือ อะไร มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันอย่างไร และ เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไหร่ ขอความกรุณาท่านวิทยากร แนะนำด้วยค่ะ
อนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หิริ (ความละอายต่ออกุศล) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) ต่างก็เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีด้วยกันทั้งคู่ คือ เป็นโสภณสาธารณเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีทุกประเภท และเกิดพร้อมกันทุกครั้ง เป็นความละอาย และความเกรงกลัวต่ออกุศล กลัวต่อผลของบาปอกุศลที่จะเกิดขึ้น เพราะบาปอกุศลนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลัง กุศลจิต มีหลายขั้น
เพราะฉะนั้น หิริ โอตตัปปะ จึงมีหลายระดับ ตามระดับขั้นของจิต ด้วย เริ่มตั้งแต่เกิดร่วมกับกุศลจิตในชีวิตประจำวันจนกระทั่งสูงสุด คือ ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น ทำกิจประหารกิเลส หิริ โอตตัปปะ ก็เกิดร่วมกับมรรคจิต ซึ่งเป็นโลกุตตรกุศล
หิริ และโอตตัปปะ เป็นธรรมฝ่ายดี เมื่อเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน อกุศลจิตย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ และที่สำคัญธรรม ๒ ประการนี้ เป็นธรรมคุ้มครองโลก เป็นเครื่องเกื้อกูลให้สัตว์โลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สงบร่มเย็น ปราศจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
อีกประการหนึ่ง เพราะมีความละอายและมีความเกรงกลัวต่ออกุศล กลัวต่อภัยคือการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งเต็มไปด้วยทุกข์นานาประการ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แต่ละบุคคลได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นปกติในชีวิตประจำวันบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นผู้ที่สามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ ไม่ต้องมีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์
ที่สำคัญต้องเข้าใจว่า ธรรม เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แม้แต่สภาพธรรมฝ่ายดี ก็เช่นเดียวกัน เพราะเคยสะสมกุศล เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน กุศลธรรม มี หิริ และ โอตตัปปะ เป็นต้น จึงเกิดขึ้น โดยไม่มีตัวตนที่บังคับหรือทำขึ้นมาได้ แต่เกิดขึ้นเป็นไปแล้วตามเหตุตามปัจจัย ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
หิริ และ โอตตัปปะ [ธรรมสังคณีปกรณ์]
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
หิริ และ โอตตัปปะ เป็นอริยทรัพย์ เป็นคุณธรรมค้ำจุนโลก ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือเป็นผู้ชาย ถ้ามีอริยทรัพย์ ๗ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และ หิริ โอตตัปปะ บุคคลนั้นชื่อว่าไม่จน ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ ฯลฯ ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
หิริ และ โอตตัปปะ คือ อะไร
หิริ คือ สภาพธรรมที่มีความละอาย ละอายในที่นี้ไม่ไ่้ด้หมายถึงความละอายที่แบบทางโลก ละอายขวยเขินที่เป็นอกุศลธรมที่เป็นโทสะ ไม่ใช่แบบนั้นครับ แต่ความละอายในที่นี้เป็นกุศลธรรม ละอายต่อสิ่งที่ควรละอาย อะไรที่ควรละอายคือความไม่ดี ควรละอายเพราะเป็นอกุศลธรรม ละอายในบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ความละอายจึงเป็นกุศลธรรมที่เป็นหิรินั่นเองครับ
โอตตัปปะ คือ สภาพธรรมที่ยำเกรง เกรงกลัว แต่ไม่ใช่ความกลัวที่เป็นโทสะ เช่น กลัวสิ่งต่างๆ แต่เป็นความเกรงกลัวเพราะเห็นโทษของบาปธรรม และภัยของอกุศลธรรม กลัวแต่การเกิดขึ้นของอกุศลธรรม จึงไม่ทำบาป เป็นโอตตัปปะครับ
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ หน้าที่ 292
ในบทว่า หิริ จ โอตฺตปฺปญฺจ นี้พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้
ชื่อว่า หิริ เพราะอันเขาละอาย หรือชื่อว่า หิริ เพราะเป็นเหตุละอาย
แม้ข้อนี้ท่านก็กล่าวไว้ว่า ข้อที่อันบุคคลละอายด้วยสิ่งที่ควรละอาย คือ ละอายต่อความเกิดแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่า หิริ
ชื่อว่า โอตตัปปะ เพราะกลัว หรือชื่อว่า โอตตัปปะ เพราะเป็นเหตุกลัว แม้ข้อนี้ท่านก็กล่าวไว้ว่า ข้อที่กลัวสิ่งที่ควรกลัว คือ กลัวต่อความเกิดแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่า โอตตัปปะ
มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันอย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า หิริและโอตตัปปะเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส คือ เมื่อมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ย่อมไม่ทำบาปอกุศล เพราะเห็นโทษภัยของอกุศล จึงงดเว้นบาปในชีวิตประจำวัน อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันในขณะนี้
การมีหิริและโอตตัปปะจึงเป็นหนทางในการขัดเกลากิเลสและค่อยๆ ละกิเลสได้จนหมดสิ้นครับ ที่สำคัญเมื่อเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะย่อมเป็นผู้สามารถดำเนินชีวิตประจำวัน ได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปเพื่อความจริญขึ้นของกุศลธรมและห้ามบาปธรรมที่จะเกิดขึ้นด้วยครับ
[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 221
หิริและโอตตัปปะธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระมหาจุนทเถระ ว่าเป็นปฏิปทาเครื่องขัดเกลากิเลส
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓- หน้าที่ 124
คนผู้ชื่อว่า หิรินิเสธบุคคล ในพระคาถานั้น ก็เพราะอรรถว่าห้ามอกุศลวิตก อันเกิดในภายในด้วยความละอายได้
หิริและโอตตัปปะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไหร่
หิริ ความละอาย เกิดขึ้นภายใน
โอตตัปปะเกิดจากภายนอก
หิริถือตนเป็นใหญ่
โอตตัปปะถือโลกเป็นใหญ่
หิริ ความละอาย เกิดขึ้นภายในเป็นดังนี้
หิริ เกิดขึ้นในภายในย่อมเกิดด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ นึกถึงชาติ นึกถึงวัย นึกถึงความเป็นผู้กล้า นึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียน
นึกถึงชาติ คือ ความละอายที่เป็นหิริเกิดขึ้นเพราะ นึกถึงชาติ การที่เราเกิดมาเป็นชาติสูง และมาทำบาป เช่น การฆ่าสตว์ นั่นไม่สมควรกับเราเลยเพราะเป็นการกระทำของคนชาติต่ำมีตระกูลชาวประมง เป็นต้น เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่ควรทำบาป นี่คือ ความหิริมีเหตุเกิดขึ้นเพราะนึกถึงชาติตระกูลของตน อันเป็นภายใน
นึกถึงวัย คือ ความละอายที่เป็นหิริเกิดขึ้น เพราะนึกถึงวัยว่า เรามีวัยสูงแล้ว การทำบาปเป็นสิ่งที่เด็กๆ ทำกัน เพราะฉะนั้น จึงมีความละอายไม่ทำบาปเพราะปรารภวัยว่า ตัวเองมีวัยสูงแล้วครับ นี่คือเหตุให้เกิดหิริประการที่ 2
นึกถึงความเป็นผู้กล้า คือ เมื่อนึกถึงว่าคนที่ทำกรรมชั่วเป็นคนอ่อนแอ คนกล้าอย่างเราไม่ควรทำกรรมชั่วนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีความละอาย เกิดหิริไม่ทำบาปเพราะนึกถึงความกล้าของตนเอง
นึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียน คือ เมื่อนึกถึงว่าคนพาลที่ไม่ใช่บัณฑิตไม่ใช่ผู้ศึกษามากย่อมทำกรรมชั่ว ส่วนเราเป็นผู้ศึกษามากเป็นบัณฑิตไม่สมควรทำกรรมชั่วนั้น เพราะฉะนั้นหิริ ความละอายเกิดขึ้นภายในเพราะนึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียนของตนครับ
นี่คือเหตุให้เกิดหิริ 4 ประการ อันเกิดภายในตนเอง
เหตุให้เกิดโอตตัปปะ
เหตุให้เกิดโอตตัปปะเพราะปรารภ นึกถึงเหตุภายนอกจึงเกิดโอตตัปปะขึ้น คือนึกถึงว่าผู้อื่นเมื่อรู้ย่อมติเตียนเราจึงไม่ทำบาป จึงเกิดโอตตัปปะงดเว้นบาปนั้น นึงถึงภัยน่ากลัวในอบายอันเกิดจากการทำบาปจึงไม่ทำบาปเกิดโอตตัปปะเพราะนึกถึงภัยในอบายภูมิครับ
อีกอย่างหนึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุให้เกิดหิริ โอตตัปปะคือความเป็นผู้มีปัญญาและความเป็นผู้มีสติและสัมปชัญญะย่อมเป็นผู้ทำให้มีหิริและโอตตัปปะ เหตุผลเพราะเมื่อเป็นผู้มีปัญญา มีสติย่อมรู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ย่อมเกิดหิริและโอตตัปปะคือความละอายและเกรงกลัวต่อสิ่งที่ควรละอายและเกรงกลัวเพราะเป็นผู้มีสติและปัญญาครับ
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 669
๑. สติสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ
ขอบคุณสำหรับคำอธิบายที่ละเอียดมาก
ขอเรียนถามต่ออีกนิดนะคะ ยังแยกแยะไม่ออก ระหว่าง ความกลัวเพราะรักตัวเอง กับ ความกลัวเพราะเห็นโทษของอกุศล
เท่าที่สังเกตตัวเอง ส่วนใหญ่แล้ว ที่วิรัติทุจริตได้บางขณะก็เป็นเพราะกลัวว่า ตัวเองจะเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เช่น กลัวว่าในอนาคต จะต้องรับผลของกรรมที่กำลังจะทำ จึง รักษาศีล ๕ หรือ กลัว เพราะไม่อยากเดือดร้อนใจทีหลัง ฯลฯแม้แต่ กลัวที่จะไม่ฟังพระธรรม เพราะถ้าตายไป เกิดในอบายภูมิแล้ว จะไม่ได้สะสมความเข้าใจพระธรรมอีก.สรุปคือ ยังรักตัวตน เพราะเหตุว่า แม้เราจะเชื่อเรื่องกรรม และ ผลของกรรมเชื่อว่า มีนรก สวรรค์ มีอบายภูมิ ฯลฯ
แต่เรายังไม่ใช่พระโสดาบัน ซึ่งหมายความว่า...ถ้ามีเหตุปัจจัยถึงพร้อม ก็สามารถล่วงศีล ๕ ได้ทุกข้อแม้เราจะกล่าวว่า เราเป็นชาวพุทธ และ เป็น "ปุถุชน-ผู้รักษาศีล ๕" แล้วอย่างไร จึงจะ "แยกแยะ" ออกได้ ระหว่าง ความกลัวที่เป็นอกุศล-กลัวเพราะรักตัวเองกับ ความกลัวที่เป็นกุศล คือ กลัวเพราะเห็นโทษของอกุศลจะได้ไม่เข้าใจผิด แล้วกลายเป็น เห็นผิด เป็บชอบ.
เรียนความเห็นที่ 7 ครับ
เป็นคำถามที่ดีครับ ประเด็นคือยังแยกแยะไม่ออกในเรื่องของความกลัว เพราะฉะนั้นเรามาเข้าใจคำว่าความกลัวนั้นเป็นอย่างไร มีความกลัวที่เป็นภัยมีอะไรบ้าง
ความกลัวที่เป็นภัยมี 4 อย่างตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนะครับ
1. ภัยเพราะจิตสะดุ้ง
2. ภัยเพราะญาณ
3. ภัยเพราะอารมณ์
4. ภัยเพราะโอตตัปปะ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
ภัย ความกลัว ๔ อย่าง [สีลขันธวรรค]
ความกลัวที่เป็นภัยที่ทำให้จิตสะดุ้ง เช่น บุคคลเมื่อกลัวความตายย่อมเกิดจิตสะดุ้ง ด้วยโทสะ ภัยเพราะญาณเพราะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ปัญญาเกิดขึ้นขึ้น (ญาณ) จึงเห็นภัย เห็นความน่ากลัว ของสังสารวัฏฏ์ที่มีการเกิด ตายของสภาพธรรมไม่มีที่สิ้นสุด เห็นถึงความทุกข์โทมนัสในสังสารวัฏฏ์ที่จะต้องได้รับ ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดความกลัวโดยความเป็นภัย จนถึงระดับวิปัสสนาญาณที่เป็น ภยนุปัสสนาญาน เป็นต้น เป็นความกลัวที่ไม่ใช่โทสะ แต่เป็นความกลัวในสังสารวัฏฏ์ที่เป็นปัญญา
ภัยความกลัวที่เกิดขึ้นอันเป็นโอตตัปปะ เพราะเห็นความน่ากลัวของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม เห็นความน่ากลัวของบาปที่ทำและเห็นถึงความน่ากลัวของนรก อบายภูมิ เป็นต้น จึงเกิดความกลัวในสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง จึงเว้นจากบาป ไม่ทำบาปนั้น การกลัวบาปธรรมรวมทั้งอบายภูมิมี นรก เป็นต้น แล้วจึงคิดเว้นจากบาป
ขณะนั้นเป็นโอตตัปปะ ขอเน้นคำว่า เมื่อกลัวแล้วจึงคิดหรือทำการงดเว้นจากบาป จึงเป็นโอตตัปปะ ที่เน้นคำนี้เพราะลักษณะของโอตตัปปะนั้น ไม่ใช่กลัวที่เป็นโทสะเฉยๆ เช่น พอมีใครอธิบายนรกให้ฟังว่ารุนแรงอย่างไร ก็กลัวนรก แต่ไม่่ได้เกิดความคิดหรือการกระทำที่งดเว้นจากบาป เพราะรู้ว่าทำบาปจะต้องไปนรก รู้ในเหตุในผล เมื่อไม่ได้คิดงดเว้นจากบาปจะเป็นกุศลไมได้ จะเป็นโอตตัปปะไม่ได้ครับ เพราะลักษณะของโอตตัปปะ มีการงดเว้นจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นอาการปรากฎคือลักษณะให้รู้ของโอตตัปปะครับ จึงไม่ใช่กลัวเท่านั้น แต่กลัวในสิ่งที่ควรกลัว อกุศลธรรมน่ากลัวอบายภูมิน่ากลัว เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น แล้วงดเว้นบาปโดยการคิดและการกระทำเป็นต้น จึงเป็นโอตตัปปะครับ เพราะถ้ากลัวเท่านั้น ก็เป็นภัยข้อที่หนึ่งคือภัยอันเกิดจากจิตสะดุ้ง ไม่ใช่ ภัยข้อที่ 4 คือความกลัวที่เป็นภัยเพราะโอตตัปปะครับ
เรื่องเกิดโอตตตัปะ งดเว้นจากบาปขณะนั้นหรือขณะนั้นเป็นกุศลธรรม
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑- หน้าที่ 131
หิริและโอตตัปปะทั้งสองนั้น ย่อมปรากฏในการเว้น ขาดจากบาป เหมือนอย่างบุคคลบางคนก้าวลงสู่ลัชชีธรรมแล้ว ย่อมไม่ทำบาปเหมือนบุรุษคนหนึ่งกำลังถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่ เห็นคนคนหนึ่งซึ่งควรจะละอาย พึงถึงอาการละอาย เป็นผู้กระดากอาย ฉะนั้น บุคคลบางคนเป็นผู้กลัวแต่ภัยในอบาย ย่อมไม่ทำบาป
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 339
....บุคคลนั้นกระทำโลกเท่านั้นให้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าแล้ว ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ย่อมละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมไม่มีโทษ ย่อมบริหารตนให้หมดจด ชื่อว่า โอตตัปปะ มีโลกเป็นอธิบดี ด้วยประการฉะนี้
การจะแยกแยะออกหรือไม่ว่าเป็นโอตตัปปะเป็นกุศลหรืออกุศลนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญญาที่ไม่ใช่ขั้นคิดพิจารณาเพราะเราจะเอาชื่อความกลัวมาใส่ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นที่เป็นความกลัวจริงว่าขณะนั้นกลัวด้วยจิตอะไร ด้วยปัญญาหรือด้วยโอตตัปปะ
ความคิดในเรื่องชื่อของสภาพธรรมที่เกิดแล้ว จึงไม่สามารถแยกแยะได้จริงว่าเป็นสภาพธรรมใดนอกจากการเจริญสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ดังเช่น ฉันทะและโลภะ โลภะและเมตตาหากไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ตัวลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แล้วก็อยากที่จะแยกความแตกต่างของสภาพธรรม แม้ขณะนี้มีโลภะ ก็ไม่รู้เลยว่าโลภะขณะไหนครับ ดังนั้นที่สามารถอธิบายก็เพียงขั้นให้เข้าใจขึ้นในขั้นการฟัง ที่พอจะเข้าใจได้ในขั้นเรื่องราว แต่ถ้าจะรู้จริงๆ ถึงความแตกต่างแล้วก็ต้องเป็นปัญญาระดับสูงกว่า เช่น ขณะนี้เมื่อ กุศลจิตเกิด โดยทั่วไปแล้ว หิริและโอตตัปปะเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีเป็นโสภณสาธารณะเจตสิก คือ เมื่อกุศลจิตเกิดจะต้องมีหิริและโอตตัปปะเกิดด้วยเสมอ แต่เราไม่รู้เลยว่าขณะนั้นมีโอตตัปะแล้ว ไม่ว่ากุศลระดับใดก็มีโอตตัปปะ นอกจากปัญญาที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐานครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ด้วยความเคารพ จาก ใหญ่ราชบุรี-ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ