ทุกข์ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรติด ควรยินดี ควรเพลิดเพลิน
โดย pirmsombat  5 ก.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 16660

ข้อความบางตอนจาการสนทนาธรรมโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เพราะฉะนั้น อรรถหรือความหมายอีกอย่างหนึ่งของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ ก็คือตรงข้ามกับสภาพธรรมที่เป็นสุข เพราะเหตุว่าถ้าสภาพธรรมใดเป็นสุข ก็เป็นที่ยินดีพอใจ แต่ทำอย่างไรจะคลายความเพลิดเพลินพอใจได้ ถ้ายังคงเห็นว่าลักษณะนั้น่าพอใจก็จะติด และก็จะเพลินเพลินอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นว่าลักษณะนั้นไม่น่าพอใจเลย ไม่ควรจะเป็นที่ติด ที่ยินดี เพราะฉะนั้นลักษณะนั้นตรงกันข้ามกับสุข นี่คือ ความหมายของคำว่าทุกข์ ไม่ใช่ให้เจ็บปวด ไม่ใช่ให้ทรมานหรือไม่ใช่ให้เศร้าโศกเสียใจ แต่ให้เห็นว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรติด หรือว่าควรยินดี หรือควรเพลิดเพลินอีกต่อไป

กราบท่านอาจารย์ผู้มีพระคุณสูงยี่ง ที่สอนให้พวกเราได้เข้าใจธรรม ตามกำลังปัญญาของแต่ละคน ได้มีโอกาสสะสมอุปนิสัยที่ดีงาม และมีปัญญาเพี่มมากขึ้นทีละน้อย



ความคิดเห็น 1    โดย choonj  วันที่ 6 ก.ค. 2553

ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดดับเป็นธรรมดาล้วนไร้สาระ สิ่งที่เกิดดับเป็นสังขารธรรม สังขารธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์ จึ่งไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรติด ควรยินดี หรือควรเพลิดเพลินอีกต่อไป


ความคิดเห็น 2    โดย opanayigo  วันที่ 6 ก.ค. 2553

นี่คือ ความหมายของคำว่า ทุกข์ ไม่ใช่ให้เจ็บปวด ไม่ใช่ให้ทรมาน หรือ ไม่ใช่ให้เศร้าโศกเสียใจ แต่ให้เห็นว่า ไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรติด หรือว่าควรยินดี หรือควรเพลิดเพลินอีกต่อไป


เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้น

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 6 ก.ค. 2553

คำที่ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ หมายถึง ทุกขลักษณะ ถ้ากล่าว สิ่งใดเที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข สุขในที่นี้คือ ความไม่เปลี่ยนแปลงยั่งยืน โลกุตตรจิต และเจตสิก ที่เกิดร่วม มีทุกขลักษณะ เพราะเกิดดับ แต่ไม่ใชทุกขอริยสัจ เพราะไม่ใช่ทุกข์ ที่ผู้อบรมเจริญปัญญากำหนดรู้ สำหรับผู้ที่เริ่มอบรมเจริญปัญญา ขั้นแรกปัญญา ยังไม่สามารถรู้ทุกขลักษณะในไตรลักษณ์ได้ แต่รู้ทุกขอริยสัจ โดยการฟังและการค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพของนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ที่กำลังปรากฏ ก่อนที่จะไปรู้ทุกขลักษณะ อนิจลักษณะอนัตตลักษณะ ส่วนการอธิบายทุกขลักษณะของจิต มีนัยเดียวกับ ขันธ์อื่นๆ คือ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ...... (ข้อความเขียนโดย study)

เชิญคลิกอ่าน...

สุขและทุกข์


ความคิดเห็น 4    โดย yupa  วันที่ 6 ก.ค. 2553

สุข หรือ ทุกข์ ก็ไม่จีรังยั่งยืน เพียงแค่สภาพธรรมกำลังปรากฎแล้วก็ดับไป เท่านั้น เพียงแต่ผู้ใดจะมีระดับสติปัญญาที่สะสมมาเข้าใจได้ว่า เดียวมันก็ผ่านไป

ไข่ไก่ฟองละ4 บาท สำหรับคนมีกำลังซื้อก็ไม่เท่าไหร่ แต่ เป็นทุกข์สำหรับคนมีเงินน้อย

ขออนุโมทนาด้วยกุศลจิต


ความคิดเห็น 5    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 8 ก.ค. 2553

โลกุตตรจิต และเจตสิก ที่เกิดร่วม มีทุกขลักษณะ เพราะเกิดดับ แต่ไม่ใชทุกขอริยสัจ เพราะไม่ใช่ทุกข์ ที่ผู้อบรมเจริญปัญญากำหนดรู้ ขอความอนเคราะห์ study กรุณาอธิบายข้อความข้างต้นด้วยคะทุกขลักษณะ และทุกขอริยสัจ...ต่างกันอย่างไรจากการคลิกอ่าน...ทุกข์อริยสัจ กับ ทุกข์ในไตรลักษณ์ ทำไมมีการกล่าวว่าทุกขลักษณะ เป็นบัญญัติ (อ้างข้อความข้างล่าง) ทุกขลักษณะ (ทุกฺขตา,ทุกฺขลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกข์. ทุกขลักษณะเป็นบัญญัติ ไม่ใช่สภาวธรรม ไม่มีอยู่จริง ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอัฏฐ

สาลินีว่า "วุฏฺฐานคามินี ปน วิปสฺสนา กิมารมฺมณาติ ลกฺขณารมฺมณาติ. ลกฺขณํ นาม ปญฺญตฺติคติกํ น วตฺตพฺพธมฺมภูตํ.-ก็วุฏฐานคามินีวิปัสสนามีอะไรเล่าเป็นอารมณ์ ตอบว่า มีลักษณะเป็นอารมณ์ ชื่อว่า ลักษณะมีคติเป็นบัญญัตติ เป็นนวัตตัพพธรรม"


ความคิดเห็น 6    โดย รากไม้  วันที่ 8 ก.ค. 2553

แท้จริงแล้ว สุขเวทนามีหรือไม่ ทุกขเวทนามีหรือไม่ ...หรือว่ามีแต่สภาพธรรมต่างๆ นาๆ ที่เกิดดับสลับกันไปเรื่อยๆ ตามธรรมดาของโลก

เพียงแต่โมหะ คือความไม่รู้ที่ครอบงำจิต เข้าไปปรุงสภาพธรรมเหล่านั้น ให้เป็นสุขเป็นทุกข์ ขึ้นมาเอง , เมื่อพอใจในสภาพธรรมนั้น ก็เป็นสุข และอยากให้สุขนั้นเกิดอีก , เมื่อไม่พอใจในสภาพธรรมนั้น ก็เป็นทุกข์ และอยากให้ทุกข์นั้นพ้นไปเร็วๆ

ปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลส จึงดิ้นรน พยายามทำโน่นทำนี่ ตามความต้องการของจิต เพื่อตามหาความสุขที่ไร้สาระเหล่านี้ เมื่อเจอสุขแล้วก็อยากสุขอีก เมื่อไม่เจอสุขก็เป็นทุกข์แทนที่

...ชีวิตจึงต้องมีแต่ สะสมสุขและทนทุกข์ ปะปนคละเคล้ากันไป จนกว่าจะตายไป อย่างน่าเสียดาย ชีวิตที่อุตส่าห์เกิดมาเป็นมนุษย์ได้ชาติหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าปัญญาน้อยก็ทุกข์มาก ถ้าปัญญามากก็ทุกข์น้อย ถ้าปัญญามีมากสุดๆ ก็ไม่ทุกข์เลย

ขออนุโมทนา ทุกดวงจิตที่ใฝ่ธรรม