กัลยาณมิตตตา.
โดย พุทธรักษา  22 ก.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 4889

คือ การมีกัลยาณมิตร ผู้แนะนำสั่งสอน เป็นแบบอย่างในทางที่ดี ตลอดจนเกื้อกูลกัน ให้ดำเนินก้าวหน้าในทางที่ดีงาม ทั้งการครองชีพ การศึกษาอบรมและปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัย สมจริง ดังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น คือ "ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับ เป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค"

"เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มาก สำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น"

"ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธาน แห่งสัทธรรม"



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 23 ก.ย. 2550

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 91

ปฐมกัลยาณมิตตสูตร กัลยาณมิตรเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค

[๑๖๕] สาวัตถีนิทาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีเลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดีพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘

[๑๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล

จบปฐมกัลยาณมิตตสูตรที่ ๑


ความคิดเห็น 2    โดย wannee.s  วันที่ 23 ก.ย. 2550

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 220

๒. ปฐมสุริยูปมสูตร

อาศัยกัลยาณมิตรเจริญโพชฌงค์ ๗

[๔๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อนสิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนคือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗

[๔๑๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ ฯลฯ


ความคิดเห็น 3    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 23 ก.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำหรับการที่ทุกท่าน เกิดมาพบกันในแต่ละชาติในสังสารวัฏฏ์ โดยสถานต่างๆ บางชาติก็เป็นเพื่อนฝูง มิตรสหาย บางชาติก็อาจจะเป็นศัตรู หรือบางชาติอาจจะเป็น มารดา บิดา เป็นญาติพี่น้อง แต่ว่าการพบกันในชาติที่เกิ้อกูลเป็นมิตรกันในพระธรรมหรือว่ามีส่วนร่วมกันเผยแพร่พระธรรม ชาตินั้นก็ต้องเป็นชาติที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์ ยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ซึ่งเกิดมาในสถานอื่น

ข้อความบางตอนจาก เรื่อง บารมีในชีวิตประจำวัน

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย อิสระ  วันที่ 23 ก.ย. 2550
ขออนุโมทนา

ความคิดเห็น 5    โดย พุทธรักษา  วันที่ 24 ก.ย. 2550

ขออนุโมทนา ท่านวิทยากร ที่กรุณานำธรรมจากพระไตรปิฏกมาแสดง และที่กล่าวกันว่า "ข้อความในพระสูตร ไพเราะ ... " ก็ไพเราะจริงๆ เพราะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมที่สมบูรณ์ด้วยมุ่งตรงต่อความดีงาม ความเป็นประโยชน์เกื้อกูล อันเป็นสัจธรรม มิเพื่ออื่น แต่เพื่อโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ ให้เห็นธรรมทั้งเบื้องต้น เบื้องปลาย และที่สุด ... ... ..


ความคิดเห็น 6    โดย pamali  วันที่ 28 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 15 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 6 เม.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ