สามเณรเล่นเกม วิกฤตพระพุทธศาสนา
โดย sutta  29 ต.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 33190

สามเณรไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นสามเณร คฤหัสถ์ก็ไม่รู้จักสามเณร ก็สนับสนุนสามเณรเล่นเกม บอกไม่ผิด วิกฤตพระพุทธศาสนา เพราะความไม่รู้ ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย

สามเณร คือ ใคร?

สามเณร หมายถึง เหล่ากอ หรือ เชื้อสายของสมณะ นั่นคือ ผู้ที่พร้อมที่จะประพฤติตามเพศบรรพชิต เพื่อจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เชื้อสายของสมณะ สมณะคือผู้สงบ เล่นเกมเป็นผู้สงบหรือไม่?

สามเณรเป็นคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต?

สามเณร คือ บรรพชิต ผู้ที่ออกจากเรือน สละความเป็นคฤหัสถ์ เมื่อบวชไม่ใช่คฤหัสถ์ การกระทำดั่งเช่นคฤหัสถ์ ย่อมไม่สมควร ท่านพระราหุล บวชเป็นสามเณร ท่านไปเล่นเกมต่างๆ ตามที่สมัยนั้นมีหรือไม่? ท่านพระราหุล ไปเรียนวิชาทางโลกตอนเป็นสามเณรแล้วหรือไม่?

สามเณร บวชทำไม?

สามเณร บวชเพื่อสละ ละ ขัดเกลากิเลส มีกิจสองอย่าง คือ ศึกษาพระธรรม และ อบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส การเล่นเกม ฝึกวิชาทักษะคอมพิวเตอร์เป็นกิจของสามเณรหรือไม่?

ศีลที่สามเณรควรประพฤติมีหรือไม่ เล่นเกมผิดศีลไหม ผิดพระวินัยไหม

ศีลของสามเณร มี 10 ข้อ

ข้อที่ 7 งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น

ในศีลของสามเณรข้อนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดูคนอื่น ขับร้อง ประโคม หรือ ดูการละเล่นต่างๆ แม้การฟ้อน ประโคม หรือ เล่นการละเล่นด้วยตนเอง ก็ผิดศีล ดังนั้น การเล่นเกมของสามเณร จึงผิดวินัย ดังนั้น จะอ้างว่าสามเณรเล่นเกม ไม่ผิดพระวินัยไม่ได้ นี่คือโทษของการไม่ศึกษาพระวินัยของคฤหัสถ์และบรรพชิต

ถ้าชาวพุทธศึกษาพระธรรมวินัย อย่างถ่องแท้ ก็จะรู้จักคำว่า สามเณรคือใคร บวชคืออะไร บวชทำไม สามเณรต่างจากคฤหัสถ์ไหม เมื่อเข้าใจถูกอย่างนี้ ก็จะช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนา ให้มีสามเณรที่ดี พระภิกษุที่ดี สนับสนุนในทางที่ถูก แต่ ตรงกันข้าม แม้จะมีสามเณร พระภิกษุมากเท่าใด แต่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำลายพระพุทธศาสนา คฤหัสถ์เองที่สนับสนุนสิ่งที่ผิด ก็ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นวิกฤตพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ในเรื่อง สามเณรเล่นเกม และ มีผู้สนับสนุน ชาวพุทธที่เข้าใจถูก ก็ช่วยกันเผยแพร่ความเห็นที่ถูกต้องต่อๆ กันไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาอย่างยาวนาน

ศึกษาเพิ่มเติม เรื่อง สามเณร ลิ้งนี้

เณรรับเงินทอง ผิดศีลใช่ไหมครับ แต่ไม่เป็นอาบัติใช่ไหมครับ

เป็นเณร ... ไม่มีอะไรเคร่งครัดมากจริงหรือ???



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 2 ม.ค. 2568

ยินดีในกุศลจิตครับ