..... แต่กรรมไม่ลืมที่จะให้ผล
โดย chatchai.k  7 ส.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25232

ข้อความที่ยกมาเป็นหัวข้อกระทู้นี้ เป็นคำกล่าวของวิทยากรท่านหนึ่งในกระทู้ที่ผ่านไปไม่นานนัก บางท่านคงอ่านแล้ว

..... แต่กรรมไม่ลืมที่จะให้ผล เป็นเรื่องแน่นอนที่สุดสำหรับทุกท่านที่ยังข้ามไม่พ้นวัฏฏะ ซึ่งก็คงอีกยาวนาน นานเกินกว่าจะคิดได้ว่ายาวนานเพียงใด

บางท่านใจร้อน อยากให้กรรมชั่ว ให้ผลอย่างรวดเร็วกับคนที่ทำสิ่งที่ไม่ดีกับบ้านเมือง ทุจริต คอรัปชั่น สร้างความแตกแยก และความเลวร้ายอื่นๆ โปรดอย่าลืม

..... แต่กรรมไม่ลืมที่จะให้ผล

ขอท่านวิทยากรและท่านอื่นๆ แสดงความเห็นในกระทู้นี้ และขอความกรุณานำชาดก ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมในสังสารวัฏฏ์อันยาวนานมาแสดง เพื่อเป็นอุธาหรณ์ หรือข้อเตือนใจครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแ่่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


การเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่เกิดมาแล้ว ก็มีความแตกต่างกัน มีความประพฤติเป็นไปที่แตกต่างกัน ตามการสะสม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีคนชั่ว ไม่มีคนดี เป็นต้น มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ แต่ที่เรียกว่าเป็นคนชั่ว ก็เพราะเหตุว่า ธรรมฝ่ายชั่ว ธรรมฝ่ายไม่ดี คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ถูกอกุศลครอบงำจึงมีความประพฤติเป็นไปตามกำลังของอกุศลจึงเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า เป็นคนชั่ว เป็นคนไม่ดี ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่มีกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตาต่อผู้อื่นมีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ว่าร้ายผู้อื่นพร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน บุคคลประเภทนี้เป็นคนดี เพราะมีกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป คนดี กับ คนชั่ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมามีในสมัยนี้ แต่ มีทุกยุคทุกสมัย

ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่วตามสมควร เรื่องกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด กรรมในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาแต่ละบุคคล ก็ได้กระทำมาอย่างมากมาย มีทั้งดี และไม่ดี กรรมดี กับ กรรมชั่วเป็นคนละส่วนกัน

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๖๘

ยาทิส วปเต พีช ตาทิส ลภเต ผล

กลฺยาณการี กลฺยาณ ปาปการี จ ปาปก

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คน

ทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่ว

ย่อมได้ผลชั่ว.

แต่ที่ควรพิจารณา คือ บุคคลผู้ที่ทำกรรมชั่ว ประการต่างๆ กรรมชั่วยังไม่ให้ผล แต่เขายังมีความสุข มีทรัพย์สินเงินทอง มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น นั่นเป็นเพราะกรรมดีที่เขาเคยได้กระทำมาแล้ว ให้ผล เมื่อกรรมชั่วให้ผลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเขาย่อมจะรู้ได้ว่า ทำกรรมชั่ว ได้รับผลชั่วจริงๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ทำกรรมดีประการต่างๆ กรรมดียังไม่ให้ผล เขาจึงประสบกับความทุกข์ยาก ได้รับความเดือดร้อนประการต่างๆ ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะกรรมชั่วที่เขาเคยได้กระทำมาแล้ว ถึงคราวที่จะให้ผล แต่เมื่อกรรมดีให้ผลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเขาย่อมจะรู้ได้ว่า ทำกรรมดี ได้รับผลดีจริงๆ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๖๔

ว่าด้วยฐานะและอฐานะ

[๑๖๘ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งวจีทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่วิบาก อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งวจีทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.

เปรียบเหมือนการปลูกมะม่วง เพียงเพาะเมล็ดลงดิน รดน้ำทุกวัน 1 เดือน ไม่ใช่ว่าผลมะม่วงจะออกมา 1 เดือน แต่มีกาลเวลาคือ 3 ปี แม้จะอยากหรือพยายามเท่าไหร่ รดน้ำให้มากเท่าจำนวน 3 ปี ผลมะม่วงก็ไม่มีทางออกในระยะเวลา 1 เดือนได้เลยครับ กรรมชั่ว เช่น การว่าร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะว่าใครก็ตาม แต่กรรมชั่วนั้น ยังไม่ให้ผล แต่ที่เราเห็นว่า คนที่ทำบาป กับได้รับสิ่งที่ดีๆ ก็เพราะว่า กรรมดีในอดีตชาติมาให้ผลในขณะต่อจากนั้นได้ครับ ซึ่งเราก็จะไม่ปนกันว่า กรรมชั่วจะให้ผลดี หรือ กรรมดีจะให้ผลไม่ดีไม่ได้เลย เหตุต้องตรงกับผล คือ กรรมดี ให้ผลที่ดี กรรมชั่วให้ผลที่ชั่วครับ แต่ต้องมีระยะกาลเวลาของกรรม ครับ

การกระทำกรรมดี และกรรมชั่วนั้น เป็นการสร้างเหตุใหม่ เมื่อกรรมถึงคราวที่จะให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้น (เหตุ ย่อมสมควรแก่ผล) ถ้าเป็นผลของกรรมดีย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกรรมชั่ว ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เป็นไปไม่ได้ที่เหตุดี แล้วจะให้ผลไม่ดี หรือเหตุไม่ดีแล้ว จะให้ผลเป็นดี แต่เหตุย่อมสมควรแก่ผล เหตุดี ผลก็ย่อมดี เหตุไม่ดี ผลก็ต้องไม่ดี

เหตุย่อมสมควรแก่ผล เมื่อเหตุดี ผลก็ต้องเป็นผลที่ดี เป็นผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นเหตุที่ไม่ดี ผลก็ย่อมไม่ดี เป็นผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจตามสมควรแก่เหตุที่ได้กระทำแล้ว ในทางพระพุทธศาสนาได้อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พืชที่มีรสขม เช่น สะเดา หรือ บวบขม ย่อมมีแต่รสขมอย่างเดียว ไม่สามารถให้ผลเป็นรสหวานได้ ฉันใด กรรมชั่วที่ได้กระทำไปแล้ว ก็ย่อมให้ผลในทางที่ไม่ดี ไม่ให้ผลในทางที่ดีได้เลย ในทางตรงกันข้าม พืชที่มีรสหวาน เช่น พืชอ้อย พืชสาลี ย่อมให้รสหวาน ไม่ให้ผลเป็นรสขมได้ ฉันใด แม้กรรมดีที่ได้กระทำไปแล้วย่อมให้ผลในทางที่ดี ที่น่าปรารถนาเสมอ ไม่ให้ผลในทางที่ไม่ดีอย่างแน่นอน สรุปได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่กรรมดี จะให้ผลเป็นชั่ว หรือ กรรมชั่วจะให้ผลเป็นดี ครับ

ซึ่งควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ถ้ากลัวความเดือดร้อนเสียใจในภายหลัง กลัวผลของกรรมชั่ว ก็ต้องงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี อย่างเด็ดขาดและนอกจากนั้น ยังจะต้องเพิ่มพูนความดีในชีวิตประจำวัน ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ครับ

ตัวอย่าง ที่แสดงถึงกรรมย่อมให้ผล แม้ได้ทำกรรมมานานแล้ว เช่น อดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ทรงกล่าวว่าร้ายฤาษีมีคุณธรรม ก็ทำให้ถูกว่าร้ายจากนางจิณจมาณวิกาและถูกชาวบ้านว่าร้ายเรื่องนางสุนทรี เป็นต้น แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ถูกโจรทุบตี จากกรรมที่เคยฆ่า บิดามารดา มาในอดีตชาตินานมาแล้ว เป็นต้น ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หนาที่ ๑๕๑

คนพาลยอมสําคัญบาปประดุจนํ้าผึ้ง ตราบเทาที่บาปยังไมใหผล ก็เมื่อใดบาปใหผล เมื่อนั้นคนพาลยอมประสบทุกข

คนพาลพึงบริโภคโภชนะดวยปลายหญาคาทุกๆ เดือน เขายอมไมถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แหงทาน ผูมีธรรมอันนับไดแลว

ก็กรรมชั่วอันบุคคลทําแลว ยังไมใหผล เหมือนนํ้านมที่รีดในขณะนั้น ยังไมแปรไปฉะนั้น

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย orawan.c  วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้น เป็นจิตแต่ละขณะ จิตเกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในชาติปัจจุบันนี้ จิตขณะแรกเกิดขึ้นดับไป เป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อมาสืบต่อมาเรื่อยๆ และจิตในขณะนี้ดับไป ก็เป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อไป สืบต่อไป จนถึงจุติจิต (จิตสุดท้ายในชาตินี้) จุติจิตในชาตนี้ ก็เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปสืบต่อเนื่องไปอย่างนี้ เรียกว่าสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรม และกุศลกรรมที่เรากระทำในชาติก่อนๆ รวมถึงชาตินี้ด้วย ย่อมสะสมสืบต่อไปในจิต แม้ว่าจะเกิดเป็นบุคคลใหม่ในชาติใหม่แล้วก็ตาม วิบาก คือ ผลของกรรมย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ตามสมควรแก่เหตุ กรรมที่กระทำไว้ไม่ได้หายไปไหน แม้ผู้ทำกรรมจะลืมไปแล้ว แต่กรรมย่อมไม่ลืมที่จะให้ผล เมื่อได้เหตุปัจจัย ก็ทำให้ผลเกิดขึ้น โดยไม่มีใครทำให้เลย

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวันย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้ในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็เช่นเดียวกัน ไม่พ้นไปจากธรรมเลย ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันด้วย ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเอง ไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดี สำหรับทุกแง่มุมของชีวิต จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้พิจารณาว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกคน ควรที่จะเห็นโทษของอกุศล ที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมแล้วจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีข้างหน้า โดยไม่เพียงแค่กลัวผลของอกุศลกรรมเท่านั้นต้องกลัวที่เหตุคืออกุศลกรรมด้วย ดังนั้นเมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงาม คือ กุศลกรรมเท่านั้น ส่วนสิ่งที่ไม่ดี คือ อกุศลทั้งหลาย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า อกุสลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศลความดีทั้งหลาย เท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 7 ส.ค. 2557

ไม่มีกำลังใดแรงเท่ากำลังของกรรม และ กรรมยุติธรรมเที่ยงตรง ในสมัยพุทธกาล มีพ่อค้าโกงข้าวเปลือกเขาตายไปเกิดเป็นเปรต ค่ะ