ถ. อัตตสัญญาคืออะไร
สุ. อัตตสัญญา คือ ความจำด้วยการยึดถือว่าเป็นตัวตน ความจริงไม่น่าสงสัยในอัตตสัญญาเลย เพราะทุกคนมีอัตตสัญญา เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล จึงดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ได้ แต่ก่อนที่สติจะเกิดและปัญญาศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้นั้น ก็จะต้องมีอัตตสัญญา
เมื่อสติไม่เกิด จึงไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารตามความเป็นจริง จึงเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏรวมกันเป็นอัตตา คือเป็นตัวตนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่รู้ความจริงเป็นสภาพธรรมขณะนี้ ก็มีอัตตสัญญา มีความทรงจำว่าเป็นเราที่เห็น และจำว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ต่างๆ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ไม่ประจักษ์แจ้งว่าสิ่งที่เคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ นั้น แท้จริงเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น
ฉะนั้น การฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมต้องพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาแล้ว พิจารณาอีก ใคร่ครวญอย่างละเอียด จนกระทั่งเข้าใจคำที่แสดงลักษณะของสภาพธรรม เช่น คำว่า “สิ่งที่ปรากฏทางตา” นั้น เป็นคำที่ถูกต้องที่สุดเพราะแสดงว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่ปรากฏได้ทางตา สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง สีขาว สีใส สีขุ่น ก็ต้องปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เมื่อเห็นแล้วไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงมีอัตตสัญญาว่าเป็นคน สัตว์ วัตถุต่างๆ ขณะที่สนใจในสีต่างๆ นั้น ทำให้คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐาน เกิดความทรงจำในรูปร่างสัณฐาน จึงเห็นเป็นคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ ซึ่งรูปร่างที่เห็นเป็นคนสัตว์ สิ่งของต่างๆ นั้นก็ต้องมีหลายสี เช่น สีดำ สีขาว สีเนื้อ สีแดง สีเหลือง เป็นต้น ถ้าไม่จำหมายสีต่างๆ เป็นรูปร่างสัณฐาน ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์ บุคคล วัตถุต่างๆ ก็มีไม่ได้
ฉะนั้น ขณะใดที่เห็นแล้วสนใจ เพลินในนิมิต คือ รูปร่างสัณฐานและอนุพยัญชนะ คือ ส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะ สี ปรากฏจึงทำให้คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐานและส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกรู้ และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณา ก็จะเริ่มรู้ว่านิมิตและอนุพยัญชนะทั้งหลายซึ่งเป็นสีต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี้คือปัญญาที่เริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อสติเกิดระลึกรู้สึกเนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจอรรถที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ (ด้วยการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรม ที่ปรากฏตามความจริง) และเริ่มละคลายอัตตสัญญาในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น
ฉะนั้น จะต้องรู้ว่า ไม่ว่าพระไตรปิฎกจะกล่าวถึงข้อความใด พยัญชนะใด ก็เป็นเรื่องสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งสติจะต้องระลึกและพิจารณาให้เข้าใจ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท นี่เป็นเรื่องที่ทุกๆ ท่านจะค่อยๆ ฟังไป ศึกษาไป พิจารณาไปตามปรกติในสภาพที่เป็นชีวิตจริงๆ เพราะยังไม่สามารถที่จะดับกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ ซึ่งหลายคนอยากจะดับให้หมดเสียเหลือเกิน
แต่จะต้องรู้ว่ากิเลสจะดับได้ก็ต่อเมื่อโลกุตตรมัคคจิตเกิดขึ้น ดับสักกายทิฏฐิ คือการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันก่อน แล้วปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามลำดับ
ฉะนั้น จึงจะต้องอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่มุ่งหน้ารีบร้อนที่จะไปปฏิบัติเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี โดยไม่เข้าใจเหตุปัจจัยว่า สติที่เป็นสัมมาสติซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ นั้นจะเกิดได้ เมื่อศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จริงๆ เสียก่อน แล้วสัมมาสติจึงจะเกิดระลึกได้ และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณาจนประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามปรกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน
ดาวน์โหลดหนังสือ -->
ปรมัตถธรรมสังเขป
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
กราบท่านอาจารย์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด
กราบอนุโมทนาครับอาจารย์
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงความเป็นจริงของสภาพธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นเหตุให้ได้พิจารณาไตร่ตรองความจริง ตามที่พระธรรมทรงแสดง ฟังบ่อยๆสะสมความเข้าใจความจริงด้วยความเคารพและอดทน
ผู้ที่ท่านมีความจำที่มั่นคงเพราะเป็นความจำที่เกิดพร้อมความเข้าใจในคำที่ได้ยินได้ฟังพิจารณาไตร่ตรอง ในความเป็นสภาพธรรมตามที่ได้ฟัง ความจริงก็จะปรากฏกับสติและปัญญาด้วยความเป็นอนัตตา
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณท่านผู้เผยแพร่พระธรรมทุกท่านด้วยค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ