เมื่อร่วมพิธีถวายพระรัตนบุษยภาชน์อโศกมหาราชปริวรรต 4
โดย kanchana.c  19 ธ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 22201

สู่พาราณสี เมืองที่มีประวัติยาวนานที่สุดในโลก 25 พ.ย. 55

ตื่นแต่เช้าเพื่อเจริญกุศลประการต่างๆ มีใส่บาตรที่บริเวณพระมหาเจดีย์ โดยคุณเล็กเตรียมอาหารกล่องให้คู่ละ ๑ กล่อง และเราได้แจกทับทิมอินเดียคนละ ๑ ลูก ซึ่งหลายคนนำไปใส่บาตร มีพระภิกษุมากมายหลายชาติ เราได้ใส่บาตรพระไทยและสามเณรทิเบตที่เดินออกจากพระเจดีย์นับเป็นร้อยๆ รูป แต่ใส่ได้เพียง ๓ รูป สงสารรูปอื่นๆ เหมือนกัน ท่านยังเป็นเด็กน้อยจึงมองกันตาละห้อย แต่ทำอย่างไรได้ของมีแค่นี้ แล้วไปช่วยกันห่มผ้าพระเจดีย์ โดยคุณประสาร และคุณรัชนีวรรณ บุญชู เป็นเจ้าภาพท่านให้น้องเต้ยซื้อผ้าสวยงามจากเมืองไทยมาหลายผืน เพื่อห่มพระเจดีย์เกือบทุกแห่งที่สามารถจะห่มได้ เริ่มตั้งแต่พระมหาเจดีย์ที่พุทธคยาเป็นต้น พยายามค้นในอปทานว่า มีกล่าวถึงอานิสงส์ของการห่มผ้าพระเจดีย์ไว้หรือไม่ แต่ยังไม่พบ ผู้ใดพบ กรุณาบอกด้วยแต่คิดว่าการห่มผ้าด้วยศรัทธาเพื่อเป็นพุทธบูชานั้นเป็นกุศล ย่อมให้ผลที่ดี เป็นสุขทั้งนั้น เพราะแม้แต่ถวายดอกบวบ ดอกฟักทองที่เก็บมาด้วยกุศลจิต ตายแล้วยังไปเกิดในสวรรค์ได้ (เห็นชัดเจนว่า กุศลนี้ยังไม่บริสุทธิ์ ไม่ใช่บารมีเพื่อหลุดพ้น เพราะยังหวังผล)

ต่อจากนั้นก็พากันถวายผ้าป่าที่วัดป่าไทยพุทธคยา ที่อยู่ติดกับพระมหาเจดีย์ วัดป่าเจริญก้าวหน้ามาก มาแต่ละครั้งก็เปลี่ยนแปลงไป ครั้งนี้คงเกือบจะเสร็จสมบูรณ์ เห็นโบสถ์ศิลปะล้านนา สวยงามมาก

เสร็จแล้วก็พากันไปถวายผ้าป่าที่วัดไทยพุทธคยา เป็นวัดที่รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามสร้างขึ้นในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาล พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้พากันไปเยี่ยมชมวัดชาติต่างๆ โดยแวะที่วัดญี่ปุ่น ที่มีพระพุทธรูปญี่ปุ่นสวยงามมาก

มีเวลาเหลือจึงพากันนั่งรถไปบ้านนางสุชาดา ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเนรัญชรา แต่ละแห่งมีแต่รถบัสพานักแสวงบุญเยี่ยมชมสถานสำคัญต่างๆ มากมาย มีโรงแรมสร้างใหม่อีกหลายแห่งที่ฝั่งตรงข้าม พวกเราจึงไม่ได้ลงจากรถ ดูเนินอิฐที่แสดงตำแหน่งบ้านของนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่เจ้าชายสิทธัตถะในตอนเช้าวันเพ็ญ เดือน ๖ แล้วก็ย้อนไปดูสถานที่พระโพธิสัตว์ลอยถาดริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา

ขากลับโรงแรม รถแล่นผ่านวัดไทยสร้างใหม่อีก ๒ แห่ง วัดไทยก็ผุดเป็นดอกเห็ดเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าได้เผยแพร่พระพุทธศาสนากลับไปสู่อินเดียแล้ว แต่เป็นวัดให้คนไทยที่ไปแสวงบุญได้พักและทำบุญนั่นเอง เพราะทุกคนก็อยากจะทำบุญในดินแดนพุทธภูมิด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งไปยาก ยิ่งมีศรัทธาทำบุญมากขึ้น

กลับมาทานอาหารกลางวันที่โรงแรมทัชดาบาร์ตอน ๑๑ โมง แล้วเตรียมตัวเดินทางไกลไปพาราณสีเวลาเที่ยง ได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ โดยทางเครื่องบินและโดยรถบัส เราเลือกไปโดยรถบัส เพื่อให้ถูกใจคนใกล้ตัวที่อยากมีเวลาเดินทางนานๆ จะได้เล่าเรื่องพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินด้วยพระบาทเปล่าจากเมืองคยาไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จดำเนินไปโดยไม่ใช้ยานแต่ทรงประกอบด้วยพระทศพลญาณ โดยเฉพาะอาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้น ไม่กลับมาเกิดอีกเลย ท่านดำเนินไปเพื่อเผยแพร่พระญาณที่ทรงรู้แจ้งแล้วนั้นแก่มหาชนที่สามารถรู้ตามได้

พวกเราเดินทางด้วยยานอย่างดี ทั้งติดแอร์ และปิดกระจกแน่นหนากันฝุ่นละอองมาสัมผัสกาย แต่ยังไม่มีญาณปัญญาใดๆ เลย เพียงได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงพอเข้าใจบ้าง รู้ว่าทางนี้เป็นทางเดียวที่นำไปสู่ความรู้ยิ่ง และหนทางนั้นก็ยังอีกยาวไกลกว่าจะถึงจุดหมาย คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถนนจากพุทธคยาไปพาราณสีดีขึ้นมาก ไม่ขรุขระ กระแทกกระเทือนเหมือนเดิม ได้ชมทิวทัศน์สองข้างทางที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสวนผักนานาชนิด รวมทั้งทุ่งสีทองของข้าวสาลีที่ออกรวงสุกพร้อมเก็บเกี่ยว ได้เห็นหญิงอินเดียใส่ส่าหรีหลากสีสันสดใสทำงานในทุ่งนาข้างทาง (เห็นไกลๆ ไม่รู้ว่า สาวหรือไม่) ทำให้อดคิดถึงเรื่องหนึ่งในธรรมบทไม่ได้ ที่มหาทุคตะ (คนที่จนอย่างยิ่ง) ถูกผู้ฉลาดชวนให้เลี้ยงอาหารพระภิกษุ ๑ รูป ในครั้งที่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูปเสด็จมาที่หมู่บ้านนั้น เขาคิดว่า ที่เขายากจนเพราะไม่เคยทำทานมาก่อน จึงรับถวายอาหารแก่ภิกษุตามที่ถูกชักชวน แต่ไม่มีเงิน ตนและภรรยาจึงไปรับจ้างทำงาน โดยภรรยารับจ้างฝัดข้าว ระหว่างทำก็มีความปีติมากที่จะได้ทำบุญ นางทั้งร้องเพลง อาการที่ฝัดข้าวก็เหมือนกับเต้นรำ (เหมือนเห็นภาพหญิงอินเดียแต่งส่าหรีทำงานในทุ่งนาข้างทาง) ส่วนมหาทุคตะนั้นไปเก็บผัก คนขายปลาตะเพียนเห็นเข้าก็ให้มาช่วยร้อยปลาตะเพียน แล้วให้ปลาตะเพียนเป็นรางวัล เขาและภรรยาจึงได้ปรุงอาหารถวายพระด้วยปลาตะเพียนนั้น แต่คนที่ชักชวนเขาไว้นั้น ลืมจดชื่อมหาทุคตะไว้ เขาเสียใจมาก เมื่อมีคนแนะนำว่า ให้ไปคอยที่สำนักของพระผู้มีพระภาค เขาจึงไปที่นั่น พระผู้มีพระภาคทรงส่งบาตรให้เขา เขาได้ถวายทานแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาติสุดท้ายได้เป็นบัณฑิตสามเณร ที่มารดาผู้เป็นโยมอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตร แพ้ท้องอยากกินปลาตะเพียน ท่านเองบรรลุอรหัตตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

เตรียมตัวไปเข้าห้องน้ำธรรมชาติข้างทาง แต่ผิดหวัง เพราะรถพาไปจอดร้านขายการัมจาย (ชาใส่นมของอินเดีย) เป็นตึกใหญ่โตโอ่โถง มีห้องน้ำที่สะอาดสะอ้านให้ใช้บริการได้นั่งเล่น ดูผู้คนนักแสวงบุญชาติต่างๆ มาหยุดพักดื่มชาและเข้าห้องน้ำที่ร้านนี้หลายสิบคน สาวพม่าคนหนึ่งเข้ามาคุยด้วย เพราะเห็นว่าเป็นคนไทย เธอบอกว่า ส่งลูกไปเรียนที่เอแบค กรุงเทพ ๒ คน เธอไปเที่ยวกรุงเทพบ่อยๆ คงเป็นเศรษฐีพม่า

เมืองพาราณสีเป็นเมืองที่มีประวัติยาวนาน ในชาดกจะกล่าวถึงเมืองพาราณสีเสมอเช่นเรื่องของท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ท่านเคยเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต แห่งเมืองพาราณสี ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จประพาสพระนคร เพื่อให้ชาวเมืองชื่นชม แต่ด้วยพระบารมีของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เข้ามาในเมืองเวลานั้น ทำให้ชาวเมืองหันมามองพระปัจเจกพุทธเจ้ากันหมด ไม่มองพระองค์เลย จึงทรงพิโรธแล้วตรัสว่า คนขี้เรื้อนที่ไหน พร้อมกับถ่มพระเขฬะ หลังจากสิ้นพระชนม์แล้วตกนรก ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ได้เกิดเป็นสุปปพุทธะ คนขี้เรื้อน เที่ยวขอทานอยู่ในกรุงราชคฤห์ เพราะเป็นขี้เรื้อนจึงนอนไม่หลับสนิท หลับๆ ตื่นๆ จึงได้ชื่อว่า สุปปพุทธะ ต่อมาได้ฟังธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน

ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานกำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้นี้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็เป็นเหตุให้ทำทั้งอกุศลและกุศลมากมาย โลกมนุษย์จึงเป็นที่ดูผลของบุญและบาป และดูบุญและบาป ถ้าเชื่อกรรมและผลของกรรมแล้ว ก็จะไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามใครแม้แต่ขอทานขี้เรื้อน เพราะเราอาจเคยเป็นอย่างนั้น หรือจะเป็นอย่างนั้นในอนาคตก็ได้ ที่จริงแล้วจะเป็นอะไร ก็เป็นเพียงสมมติบัญญัติที่ใช้เรียกสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง

กว่าจะถึงเมืองพาราณสีได้ ก็ค่ำ (จำเวลาแน่นอนไม่ได้ เพราะหลายสิบวันผ่านมาแล้ว) ได้พักที่โรงแรมทัชเกทเวย์ ระดับ ๕ ดาว พวกที่มาโดยเครื่องบินมานั่งคอยที่ล็อบบี้ของโรงแรมนานแล้ว มาพาราณสีหลายครั้ง ครั้งนี้ได้พักโรงแรมดีที่สุด อาหารอินเดียก็อร่อยมาก โดยเฉพาะขนมหวาน ที่ชื่อ กุหลาบจามุน ที่เป็นแป้งก้อนกลมสีน้ำตาลเข้มแช่ในน้ำเชื่อม เห็นตอนแรกคิดว่าเป็นพุทราสดลูกใหญ่เชื่อม อาหารกลางวันที่เป็นบุฟเฟ่ต์ ก็มีคนอินเดียพื้นเมืองแต่งส่าหรีหรูหรามาทานด้วย คงเหมือนโรงแรมห้าดาวของไทย

รสของกุหลาบจามุนนั้นดับไปนานแล้ว แต่พอมารู้ทีหลังว่า เป็นรายการขนมหวานของอินเดียที่เป็นที่นิยมติดอันดับโลก ก็หวนนึกถึงรสนั้นอีก แต่ก็จำไม่ได้แล้ว เพียงแต่รู้ว่าอร่อยเท่านั้นเอง เพราะไม่ใช่ขณะที่รสกำลังปรากฏ ขณะลิ้มรสนั้นดับไปนานแล้ว เหลือแต่ความทรงจำซึ่งก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน



ความคิดเห็น 1    โดย ผิน  วันที่ 20 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดงค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 20 ธ.ค. 2555

พวกเราเดินทางด้วยยานอย่างดี ทั้งติดแอร์และปิดกระจกแน่นหนากันฝุ่นละอองมาสัมผัสกาย แต่ยังไม่มีญาณปัญญาใดๆ เลย หากเราใช้พาหนะที่ต่างกันอย่างนี้ คงเดินทางกันไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบเลยนะครับ พี่แดง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่แดงและท่านอาจารย์สงบครับ


ความคิดเห็น 3    โดย jaturong  วันที่ 20 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย panasda  วันที่ 20 ธ.ค. 2555

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 20 ธ.ค. 2555

ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานกำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้นี้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็เป็นเหตุให้ทำทั้งอกุศลและกุศลมากมาย โลกมนุษย์จึงเป็นที่ดูผลของบุญและบาป และดูบุญและบาป ถ้าเชื่อกรรมและผลของกรรมแล้ว ก็จะไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามใคร แม้แต่ขอทานขี้เรื้อน เพราะเราอาจเคยเป็นอย่างนั้น หรือจะเป็นอย่างนั้นในอนาคตก็ได้ ที่จริงแล้วจะเป็นอะไร ก็เป็นเพียงสมมติบัญญัติที่ใช้เรียกสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่นี่

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน [สติปัฏฐานสูตร]

...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดงด้วยค่ะ...


ความคิดเห็น 6    โดย เข้าใจ  วันที่ 21 ธ.ค. 2555

แต่ใส่ได้เพียง ๓ รูป สงสารรูปอื่นๆ เหมือนกัน ท่านยังเป็นเด็กน้อยจึงมองกันตาละห้อย แต่ทำอย่างไรได้ของมีแค่นี้. ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน กำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้นี้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็เป็นเหตุให้ทำทั้งอกุศลและกุศลมากมาย โลกมนุษย์จึงเป็นที่ดูผลบุญและบาป

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย j.jim  วันที่ 21 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย Boonyavee  วันที่ 23 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ