[คำที่ ๓๔๕] มจฺจุมาร
โดย Sudhipong.U  1 เม.ย. 2561
หัวข้อหมายเลข 32465

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มจฺจุมาร

คำว่า มจฺจุมาร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มัด - จุ – มา - ระ] มาจากคำว่า มจฺจุ (ความตาย) กับคำว่า มาร (ผู้ขัดขวาง, มาร) เขียนเป็นไทยได้ว่า มัจจุมาร แปลว่า มารคือความตาย,ผู้ขัดขวาง คือ ความตาย, มัจจุมาร เป็นการแสดงถึงความจริงของสัตว์โลกที่เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องละจากโลกนี้ไป ความตายก็พรากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลย สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วก็ต้องเกิด ส่วนผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ แล้ว เมื่อดับขันธปรินิพพาน (ตาย) ไม่มีการเกิดอีก เพราะดับเหตุที่จะทำให้มีการเกิดได้แล้ว

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความเป็นจริงของความตาย มีว่า

พระศาสดาตรัสกะนางกีสาโคตมี ว่า “ท่านเข้าใจว่า 'บุตรของเราเท่านั้น ตายแล้ว' (แต่) ความตาย นั่น เป็นธรรมเที่ยงแท้ สำหรับสรรพสัตว์ (สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง) ”

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เตมิยชาดก แสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตที่จะต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตายในที่สุด มีว่า

“มหาบพิตร จงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำซึ่งเต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น”


ทุกคนที่เกิดมา ในที่สุดแล้วก็จะต้องตาย ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลยแม้แต่คนเดียว จะอยู่ที่ไหน ก็ไม่พ้น เราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด เรื่องตายไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่ที่ควรจะพิจารณา คือ ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง ควรจะทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์สำหรับชีวิต ถ้าเป็นผู้ประมาทมัวเมา ไม่สะสมกุศลไว้เลย ย่อมไม่คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งได้อย่างยากแสนยาก พอความตายมาถึงจะขอผัดผ่อนว่า ขอฟังธรรมก่อน ขอให้ทานก่อน ขอเจริญกุศลก่อน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง นอกจากกุศลธรรมประการต่างๆ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาไปตามลำดับ ถึงแม้ว่ายังต้องเดินทางต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด แต่ก็เป็นผู้ที่มีที่พึ่ง คือ กุศลธรรม จนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ สูงสุดดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็จะไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ นั่นก็หมายความว่า จะไม่ต้องประสบกับมัจจุมาร คือ ความตาย อีกต่อไป

ความตาย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชาติหนึ่งๆ เป็นจิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ทำกิจจุติ คือ ทำกิจเคลื่อนหรือพรากให้สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ จะกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ความตาย เป็นความจริงที่ทุกคนหลีกหนีไม่พ้น เมื่อถึงคราวตาย ใครๆ ก็ช่วยไม่ได้ ใครๆ ก็ต้านทานไว้ไม่ได้ จักต้องตายแน่แท้ จะต้องตายเหมือนกับคนที่ตายไปแล้วนั่นแหละ ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้

สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ ความจริงเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่มีใครพ้นจากความตายไปได้เลย ถูกความตายครอบงำไว้จริงๆ หนีไปทางไหนก็ไม่สามารถพ้นไปได้ จะไปจักรวาลอื่นนอกโลก หรือจะไปที่ไหนก็ตามแต่ ก็ไม่มีใครจะหนีความตายได้ เพราะเหตุว่า สัตว์โลกทั้งหลายเมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะหนีไปที่ใด ไม่ว่าจะอยู่ถึงสวรรค์ชั้นใดก็ตาม ความตายก็ครอบงำไว้ เพราะความจริง คือ สัตว์โลกทั้งหมดที่เกิดมาแล้วจะต้องตาย หนีความตายไม่พ้นเลย

ไหนๆ ก็จะตายอยู่แล้ว ควรที่จะได้พิจารณาว่า ขณะใดที่ประมาท ขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะใดที่ไม่ประมาท ขณะนั้นเป็นกุศลเพราะความไม่ประมาท คือ การไม่อยู่ปราศจากสติ (สติ เป็นธรรมที่เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีทุกประเภท) และที่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า กุศลธรรมทั้งปวง รวมลงอยู่ในความไม่ประมาท มีความไม่ประมาทเป็นมูลราก บุคคลผู้ไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา ถึงแม้ว่าจะมีการเกิด การตาย จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่งอยู่ แต่โอกาสของการดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีการเกิดการตายอีกเลยนั้น ย่อมมีได้ สังสารวัฏฏ์ มีโอกาสจบสิ้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ย่อมมีโอกาสที่จะถึงวันที่ไม่มีการเกิด ไม่มีการตายอีกเลย ไม่เหมือนกับผู้ที่ประมาท ซึ่งโอกาสของการหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ไม่มีเลย ไม่สามารถพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ได้เลย ถ้าเป็นผู้ประมาท ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ตายไปแล้ว กล่าวคือ ตายจากคุณความดี ตายจากประโยชน์ที่ควรจะได้ เพราะผู้ที่ตายไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับมาสะสมความดี ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ตั้งอยู่ในไม่ประมาทที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป ความตาย ไม่รู้จะเกิดขึ้นวันไหน เวลาใด สาระสำคัญที่สุดของชีวิตคือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาต่อไป สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ