[คำที่ ๕๓๓] สงฺขตา ธมฺมา
โดย Sudhipong.U  6 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 39893

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สงฺขตา ธมฺมา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สงฺขตา ธมฺมา ทั้ง ๒ คำ อ่านตามภาษาบาลีว่า สัง - ขะ - ตา - ดำ - มา โดยที่คำว่า สงฺขตา มีความหมายว่า เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง, มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น กับคำว่า ธมฺมา มีความหมายว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหลาย, ธรรมทั้งหลาย แปลรวมกันเป็น ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง, ธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เป็นคำที่แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมว่า สิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ล้วนเกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดเองลอยๆ ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว ก็ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน สิ่งที่เกิดแล้วจะไม่ดับไป ไม่มีเลย เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ก็ได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้เลย เพราะเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น

ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปสาทสูตร แสดงความหมายของคำว่า สังขตธรรม (สงฺขตา ธมฺมา) ไว้ดังนี้

“บทว่า สงฺขตา ความว่า ธรรมทั้งหลายที่ปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งเสร็จ เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปรุงแต่งแล้ว คือ ธรรมที่มีปัจจัย (คือ มีสิ่งที่อาศัยให้เกิดขึ้นเป็นไป) ”


สิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจิรงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปได้ ไม่มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อประมวลแล้วก็คือ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด และรูปทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสังขตธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเลยแม้แต่น้อย ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟังมีความเข้าใจที่ถูกต้อง น้อมไปสู่ความเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เราอย่างแท้จิรง ทุกคำของพระองค์ แสดงถึงสิ่งที่มีจริงถึงที่สุด คือ ไม่ใช่เรา

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป และทุกขณะของชีวิตไม่มีขณะใดเลยที่จะปราศจากจิตแม้แต่ขณะเดียว เพราะเหตุว่าจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที

เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ (คือมีทั้งรูปธรรมและนามธรรม) เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ตัวอย่างของเจตสิก เช่น ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) โลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความไม่รู้) สติ (สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) ไม่มีเจตสิกแม้แต่อย่างเดียว ที่เป็นเรา เพราะเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น

รูป หรือ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น รู้อารมณ์อะไรๆ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่สภาพรู้, รูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรา

จิต เจตสิก และรูปธรรม ทั้งหมดนี้ เป็นสังขตธรรม เช่น กำลังเห็นในขณะนี้ เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ มีอารมณ์ของจิตเห็น คือ ต้องมีสีซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเจตสิกเกิดร่วมกับจิตเห็น มีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเห็น คือ จักขุวัตถุ (ตา) ทั้งหมดแสดงถึงความเป็นจริงของ

สภาพธรรมที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งที่เกิดดับ แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ได้เลย

สังขตธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าเข้าใจคำนี้ ก็พิจารณาได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง มิฉะนั้น เกิดไม่ได้ และสิ่งใดก็ตามที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลย ซึ่งตลอด ๔๕ พรรษาแห่งการแสดงพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้ คือ สังขตธรรม ไม่เปลี่ยนความหมายเป็นอย่างอื่น เพราะหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ถ้าหากได้ยินคำว่า “สังขตธรรม” ขณะใด ก็หมายความถึงสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไปนั่นเอง เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จิตก็เป็นสังขตธรรม เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่อาศัยจิตเกิดขึ้น เจตสิกก็เป็นสังขตธรรม เช่น ความชอบใจ ความต้องการ เป็นโลภเจตสิก ความขุ่นเคืองใจ ความหยาบกระด้างของจิต เป็นโทสเจตสิก เจตสิกแต่ละชนิด ไม่ใช่จิต เพราะเหตุว่า เจตสิกเกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมจิต แต่ว่าเจตสิกมีหลายชนิด และบางชนิดก็เกิดกับจิตประเภทหนึ่ง อีกบางชนิดก็เกิดกับจิตอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น จิตประเภทหนึ่งก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างๆ กัน และเป็นแต่ละประเภทด้วย เช่น ขณะที่ชอบ สนุกสนานเบิกบานใจ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังโกรธขุ่นเคืองใจ เป็นต้น นี้คือความเป็นจริงของธรรม

เมื่อเริ่มฟังพระธรรม ก็เริ่มเข้าใจว่า สังขตธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เพราะทันทีที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีใครรู้ว่า สภาพธรรมเหล่านี้เกิดจริงๆ และดับจริงๆ แต่เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงจากการที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ก็เป็นหนทางให้พุทธบริษัทได้ศึกษาพระธรรมพิจารณาพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกได้ ประการที่สำคัญ ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย อยู่ที่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ แต่ละขณะจริงๆ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 6 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย petsin.90  วันที่ 6 พ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ