ไม่คลุกคลีกับสิ่งที่จะทำให้เกิดอกุศล
โดย สารธรรม  6 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43686

ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องของการไม่คลุกคลี เพราะว่าการคลุกคลีกันนั้นจะทำให้เกิดอกุศล โลภะบ้าง โทสะบ้าง พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบังคับ แต่ทรงแสดงอานิสงส์ทรงแสดงประโยชน์ ซึ่งเราเองถ้าเราเจริญสติมาก ขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เราเองก็จะเว้นตั้งหลายอย่าง แล้วก็ไม่คลุกคลีกับสิ่งที่จะทำให้เกิดอกุศลที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมากขึ้นด้วย

ฉะนั้น พระอริยบุคคลท่านก็เว้นเป็นลำดับขั้น อย่างเว้นทุจริตพระโสดาบันท่านเว้นไม่ล่วงละเมิดศีล ๕ เลย นั่นก็เป็นคุณธรรมของท่าน แต่ว่าผู้ที่เจริญสติอยู่หรือผู้ที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมขั้นนั้นก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่ได้ห้ามเลย หมายความว่าทรงแสดงประโยชน์ และผู้ใดเห็นประโยชน์ก็ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติไป แต่โดยมากเราไม่เข้าใจอย่างนี้ พอเห็นสักข้อความหนึ่งก็คิดว่าจะทำตามอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เป็นชีวิตจริงๆ ของเราหรือเปล่า เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนหรือเปล่า หรือว่าเป็นตัวตนที่บังคับให้ทำอย่างนั้น ต้องการอย่างนั้น อย่างเรื่องของการอยู่ป่าที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ ป่าจริงๆ ใต้ร่มไม้ในถ้ำ ซอกเขาอยู่ได้ไหมคะ? อยู่จริงๆ คงอยู่ไม่ได้แต่ให้อยู่เพื่อเจริญสติปัฏฐาน อาจจะอยู่ได้ใช่ไหม ฉะนั้นมีความหวังเกิดขึ้นว่าถ้าอยู่อย่างนั้นแล้วอาจจะเกิดความสงบอาจจะเกิดปัญญา เพราะความเข้าใจอย่างนั้นก็เลยทำให้อยู่ได้ แต่ไม่ใช่ชีวิตจริงๆ

เพราะฉะนั้น การที่จะไม่รู้ชีวิตจริงๆ ไม่ทำให้ละคลายกิเลสเลย ไปด้วยความหวังพากเพียรทั้งวันทั้งคืนด้วยความหวังมาโดยไม่ได้อะไรเพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของตัวเอง โลภะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเมื่อไร อย่างไร โทสะที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมของนามชนิดหนึ่ง การเห็นการจำได้ตามปกติในชีวิตประจำวันไม่เคยรู้เลย เมื่อไม่เคยรู้ จะละคลายจะหน่ายในชีวิตได้อย่างไร มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ เรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมานี้ก็มีมากทีเดียว

ในพระไตรปิฏก ใน ขุททกนิกาย ติกนิบาต ชาดก นานาฉันทชาดก ก็มีข้อความที่กล่าวว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระบาททั้งหลายอยู่ร่วมในเรือนหลังเดียวกัน แต่มีฉันทะต่างกัน ข้าพระบาทอยากได้บ้านส่วย นางพราหมณีอยากได้โคนมสักร้อยหนึ่ง ลูกชายอยากได้รถเทียมด้วยม้าอาชานัย ลูกสะใภ้อยากได้กุณฑลแก้ว ฝ่ายนางปุณณะทาสีผู้ชั่วช้าก็จำนงจะใคร่ได้ครก กระด้ง พวกเครื่องครัว

นี่ ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นฉันทะที่ต่างกัน ของบุคคลที่อยู่ร่วมในเรือนหลังเดียวกัน บังคับได้ไหมให้ ๔ คนนี้เปลี่ยนความต้องการให้เหมือนกัน หรือเป็นอย่างเดียวกัน บังคับไม่ได้เลย อย่างพราหมณ์ก็อยากได้บ้านส่วย ส่วนนางพรามหณีแม่บ้านแม่เรือนก็อยากได้โคนมสักร้อยหนึ่งสำหรับทำอาหารปรุงอาหาร ก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา ส่วนลูกชายก็อยากได้รถเทียมด้วยม้าอาชานัย ส่วนลูกสะใภ้ก็อยากได้กุณฑลแก้ว นางปุณณะทาสีก็อยากได้พวกครก กระด้ง เครื่องครัว ทั้ง ๔ คนเจริญสติปัฏฐานได้ไหม หรือว่าต้องเปลี่ยนให้เหมือนกัน จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ไม่ต้องเปลี่ยนเลย แล้วแต่ว่าขณะนี้มีปัจจัยของโลภะหรือของโทสะ ของนามของรูปชนิดใดเกิดขึ้นปรากฏกับบุคคลใด ผู้นั้นก็เจริญสติ รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น รู้ลักษณะของนามและรูปได้ตามความเป็นจริง

ข้อความเล็กๆ น้อยๆ ในพระสูตร บางท่านอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ว่าเล็กๆ น้อยๆ สั้นๆ นี้ก็มีประโยชน์ และเป็นข้อที่จะเตือนให้ผู้ที่ใคร่ในธรรมได้เข้าใจธรรม อย่างใน ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก คามนิชาดก มีข้อความว่า เออ ก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เรามีพรหมจรรย์แก่กล้าแล้ว ท่านจงเข้าใจอย่างนี้เถิด พ่อคามนี สั้นนิดเดียวเพียงแต่ว่า เออ ก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้

ผู้เจริญสติปัฏฐานใจเร็วด่วนได้บ้างหรือเปล่า อยากเสียจริงๆ ที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับของนามรูปยิ่งเร็วมากขึ้นเท่าไรยิ่งดี ซึ่งไม่มีหนทางที่จะเป็นไปได้เลย แต่ถ้าตราบใดที่ไม่คำนึงถึงผล แล้วก็พิจารณาลักษณะของนามและรูป ปัญญาเกิดขึ้นทำไมจะไม่รู้ ว่าขณะนั้นรู้ลักษณะที่ต่างกันของได้ยินกับเสียง ของเห็นกับสี วันหนึ่งๆ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง จำได้บ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น สติก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามและรูป


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 17