ประสบการณ์ใกล้ตาย
โดย Coolsp25  8 ก.พ. 2563
หัวข้อหมายเลข 31529

ผมได้ฟังจากคำพูดและประสบการณ์ที่ได้ประสบจริงของคนใกล้ตัวมาว่า ตอนที่หัวใจวาย ได้ถูกนำตัวส่ง รพ. ในขณะที่หมดสติไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น ในขณะที่หมอกำลังช่วยชีวิต เขาได้มองเห็นร่างของตัวเอง และได้ยินรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ เห็นคนรอบข้างญาติพี่น้องครอบครัว ร้องไห้ แต่ในขณะเดียวกันเขาพยายามสื่อสาร แต่ไม่มีใครเหนได้ยินเลย เหมือนเป็นอีกมิตินึง และหมอบอกเขาตายไปแล้ว หัวใจหยุดเต้นเกือบ 20 นาที ก่อนที่หมอปั๊มหัวใจจึงฟื้นกลับมา ปรากฎการณ์ใกล้ตายแบบนี้ และวิญญาณหลุดจากร่างไปแล้ว แต่เขากลับยังเห็นร่างตัวเอง รับรู้ได้ มันหมายถึงอย่างไร ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 9 ก.พ. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิต คือความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตแต่ละขณะ สำหรับในภพนี้ชาตินี้ จิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต และ จิตขณะสุดท้าย คือ จุติจิต เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่น ส่วนจะไปเกิดเป็นอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกรรมอะไร กล่าวคือ ถ้ากรรมดีให้ผล ย่อมทำให้เกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ หรือ เกิดในสวรรค์ ในทางตรงกันข้าม ถ้ากรรมชั่วให้ผล ก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย หรือ สัตว์เดรัจฉาน ตามสมควรแก่อกุศลกรรม ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม สังสารวัฏฏ์ยังต้องดำเนินต่อไป ดังนั้น จะตายจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็คือ จิตขณะสุดท้ายนั่นเอง ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นตอนไหน ถ้าจิตขณะดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่ตาย
อีกคำหนึ่ง ที่ควรจะเข้าใจให้ถูกต้อง คือ วิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม แปลตามศัพท์ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้ง (ซึ่งอารมณ์) เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ วิญญาณ กับ จิต เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะหลายประการที่หมายถึงจิต เช่น มนะ หทยะ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ วิญญาณธาตุ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลมีด้วยกันทั้งนั้น (ในชีวิต ไม่ปราศจากจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว) หนึ่งในนั้น คือ วิญญาณ ดังนั้นจิต กับวิญญาณจึงเป็นธรรมอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้น วิญญาณไม่มีการล่องลอย ไม่มีรูปร่าง วิญญาณเป็นธรรมประเภทหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย จิตขณะหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เป็นอย่างนี้อย่างไม่ขาดสายจนกว่าจะสิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ คำกล่าวที่คนในสังคมไทย ได้ยินบ่อย คือคำว่า วิญญาณออกจากร่าง ถ้าได้ศึกษาโดยตรงจากพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา จะเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า วิญญาณ ไม่มีการออกจากร่าง ไม่มีการล่องลอย แต่เกิดแล้วดับแล้ว

เมื่อกายนี้ ปราศจากวิญญาณ หมายความว่า ความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดแล้ว ที่กายนี้ไม่มีจิตเกิดอีกแล้วในชาตินี้ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ คือ จุติจิต ทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งก็คือ ตาย นั่นเอง
ข้อความใน [เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้า ๔๓๗ มีว่า

“ไม่นานหนอ กายนี้ จักนอนทับแผ่นดิน กายนี้ มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว ราวกับท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น”

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ