[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 142
กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘
ว่าด้วยความมีมิตรดีเป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นต้น 72/142
อรรถกถากัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘ 145
อรรถกถาสูตรที่ ๑ 145
อรรถกถาสูตรที่ ๒ 145
อรรถกถาสูตรที่ ๓ 145
อรรถกถาสูตรที่ ๔ 146
อรรถกถาสูตรที่ ๕ 146
อรรถกถาสูตรที่ ๖ 147
อรรถกถาสูตรที่ ๗ 148
อรรถกถาสูตรที่ ๘ 149
อรรถกถาสูตรที่ ๙ 150
อรรถกถาสูตรที่ ๑๐ 150
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 142
กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘
ว่าด้วยความมีมิตรดีเป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นต้น
[๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีมิตรดี กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป.
[๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เหมือนการประกอบอกุศลธรรมเนืองๆ ไม่ประกอบกุศลธรรมเนืองๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะการประกอบอกุศลธรรมเนืองๆ เพราะการไม่ประกอบกุศลธรรมเนืองๆ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป.
[๗๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เหมือนการประกอบกุศลธรรมเนืองๆ การไม่ประกอบอกุศลเนืองๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะการประกอบกุศลธรรมเนืองๆ เพราะการไม่ประกอบอกุศลธรรม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 143
เนืองๆ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป.
[๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนการใส่ใจโดยไม่แยบคาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจโดยไม่แยบคาย โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ถึงความเจริญบริบูรณ์.
[๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนการใส่ใจโดยแยบคาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจโดยแยบคาย โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น ละโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
[๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมญาติมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญา ชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย.
[๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยญาติมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญด้วยปัญญา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเนียก อย่างนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 144
[๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมแห่งโภคะมีประมาณน้อย ความเสื่อมแห่งปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย.
[๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยโภคะมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญปัญญา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้แล.
[๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมยศมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย.
จบ กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 145
อรรถกถากัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘
อรรถกถาสูตรที่ ๑
สูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า กลฺยาณมิตฺตตา ความว่า ชื่อว่า กัลยาณมิตร เพราะมีมิตรดี ภาวะแห่งความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรนั้น ชื่อว่า กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรดี. คำที่เหลือพึงทราบ โดยนัยที่ตรงกันข้ามกับคำดังกล่าวนี้.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๑
อรรถกถาสูตรที่ ๒
ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อนุโยโค ได้แก่ การประกอบ การประกอบทั่ว. บทว่า อนนุโยโค ได้แก่ การไม่ประกอบ การไม่ประกอบทั่ว. บทว่า อนุโยคา แปลว่า เพราะการประกอบเนืองๆ. บทว่า อนนุโยคา แปลว่า เพราะไม่ประกอบเนืองๆ. บทว่า กุสลานํ ธมฺมานํ ได้แก่ กุศลธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๒
อรรถกถาสูตรที่ ๓
ในสูตรที่ ๓ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 146
อรรถกถาสูตรที่ ๔
ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า โพชฺฌงฺคา ได้แก่ ธรรม ๗ ประการ อันเป็นองค์คุณ ของสัตว์ผู้ตรัสรู้. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้ อันเป็นเหตุออกจากวัฏฏะ หรือทำให้แจ้งสัจจะ ๔ ของสัตว์ผู้ตรัสรู้นั้น. บทว่า โพชฺฌงฺคา ความว่า ชื่อว่า โพชฌงค์ ด้วยอรรถว่ากระไร? ที่ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้ ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้ตาม. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้เฉพาะ. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้พร้อม. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปพร้อมด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้. ก็บท (ว่าโพชฌงค์) นี้ ท่านจำแนกไว้แล้ว ด้วยประการฉะนี้.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๔
อรรถกถาสูตรที่ ๕
ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
ด้วยบทนี้ว่า ภาวนาปาริปูรึ คจฺฉนฺติ ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ดังนี้ ท่านกล่าวถึงภูมิพร้อมด้วยกิจ ตามความเป็นจริง แห่ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 147
โพชฌงค์. ก็ภูมินี้นั้นมี ๔ อย่าง คือ วิปัสสนา ๑ ฌานที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ๑ มรรค ๑ ผล ๑ ใน ๔ อย่างนั้น ในเวลาที่เกิดในวิปัสสนา โพชฌงค์จัดเป็นกามาวจร. ในเวลาที่เกิดในฌานอันเป็นบาทของวิปัสสนา โพชฌงค์เป็นรูปาวจร และอรูปาวจร. ในเวลาที่เกิดในมรรคและผล โพชฌงค์เป็นโลกุตตระ. ดังนั้น ในสูตรนี้ท่านจึงกล่าว โพชฌงค์ว่าเป็นไปในภูมิทั้ง ๔.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๕
อรรถกถาสูตรที่ ๖
ในสูตรที่ ๖ มีความย่อเหตุที่เกิดเรื่อง ก็ในเหตุที่เกิดเรื่อง ท่านตั้งเรื่องไว้ดังต่อไปนี้.
ภิกษุมากรูปนั่งประชุมกันในโรงธรรม ท่านเกิดสนทนาปรารภ พันธุลมัลลเสนาบดีขึ้นในระหว่าง ดังนี้ว่า อาวุโส ตระกูลชื่อโน้นเมื่อก่อน ได้มีหมู่ญาติเป็นอันมาก มีสมัครพรรคพวกมาก บัดนี้ มีญาติน้อย มีสมัครพรรคพวกน้อย. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบวาระจิต ของภิกษุเหล่านั้น ทรงทราบว่า เมื่อเราไป (ที่นั้น) จักมีเทศน์กัณฑ์ใหญ่จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ ที่เขาตกแต่งไว้ในโรงธรรม แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมด้วยเรื่องอะไรกัน. พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องคามนิคมเป็นต้น อย่างอื่นย่อมไม่มี แต่ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีญาติมาก มีสมัคร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 148
พรรคพวกมาก บัดนี้มีญาติน้อย มีสมัครพรรคพวกน้อย พวกข้าพระองค์นั่งประชุมสนทนากัน ดังนี้. พระศาสดาทรงปรารภสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมนี้มีประมาณน้อย ดังนี้ ในเมื่อเกิดเรื่องนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมตฺติกา ได้แก่ น้อย คือมีประมาณน้อย. จริงอยู่ ด้วยความเสื่อมนี้ ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า ความเสื่อมจากสวรรค์ หรือจากมรรคย่อมไม่มีนั้น เป็นเพียงความเสื่อมในปัจจุบันเท่านั้น. บทว่า เอตํ ปติกิฏฺํ ความว่า นี้เป็นของที่เลวร้าย นี้เป็นของต่ำทราม. บทว่า ยทิทํ ปญฺาปริหานิ ความว่า ความเสื่อมแห่งกัมมัสสกตปัญญา ฌานปัญญา วิปัสสนาปัญญา มรรคปัญญา และผลปัญญา ในศาสนาของเรา เป็นความเสื่อมที่เลวร้าย เป็นความเสื่อมที่ต่ำทราม เป็นความเสื่อมที่ควรละทิ้งเสีย.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๖
อรรถกถาสูตรที่ ๗
ในสูตรที่ ๗ ท่านกล่าวไว้แล้ว ในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน. ได้ยินว่า บรรดาภิกษุสงฆ์ ผู้นั่งประชุมกันในโรงธรรม บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีญาติน้อยพวกน้อย บัดนี้ ตระกูลนั้นมีญาติมาก มีพวกมาก หมายเอาตระกูลนั้น จึงกล่าวอย่างนี้แล. คือ หมายถึง นางวิสาขาอุบาสิกา และเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลี. พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของภิกษุเหล่านั้น จึง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 149
เสด็จมาโดยนัยก่อนนั่นแล ประทับนั่งบนธรรมาสน์ ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบตามความเป็นจริงแล้ว. พระศาสดาทรงเริ่ม พระสูตรนี้เพื่อเหตุเกิดเรื่องนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมตฺติกา ความว่า ชื่อว่า น้อย เพราะไม่มีผู้อาศัยสมบัตินั้นแล้ว ถึงสวรรค์หรือมรรคได้. บทว่า ยทิทํ ปญฺาวุฑฺฒิ ได้แก่ ความเจริญแห่งกัมมัสสกตปัญญา เป็นต้น. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะชื่อว่าความเจริญแห่งญาติเป็นเพียง ปัจจุบันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สามารถให้ถึงสวรรค์ หรือมรรคได้. บทว่า ปญฺญาวุฑฺฒิยา ได้แก่ ด้วยความเจริญแห่งปัญญา มีกัมมัสสกตปัญญา เป็นต้น.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๗
อรรถกถาสูตรที่ ๘
สูตรที่ ๘ ท่านกล่าวไว้ในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน. ได้ยินว่า ภิกษุมากรูป นั่งประชุมกันในโรงธรรม ปรารภบุตรของเศรษฐี ผู้มีทรัพย์มากกล่าวว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีโภคะมาก มีเงิน และทองมาก บัดนี้ ตระกูลนั้นกลับมีโภคะน้อย. พระศาสดาเสด็จมาโดยนัยก่อน นั่นแหละ ทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงทรงเริ่มพระสูตรนี้.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 150
อรรถกถาสูตรที่ ๙
แม้ใน สูตรที่ ๙ ท่านก็กล่าวไว้ ในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน ได้ยินว่า พวกภิกษุนั่งประชุมกันในโรงธรรมปรารภ กากวลิยเศรษฐี และปุณณเศรษฐี กล่าวว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีโภคะน้อย บัดนี้ ตระกูลเหล่านั้นมีโภคะมาก. พระศาสดาเสด็จมาโดยนัยก่อนนั่นแล ทรงสดับของภิกษุเหล่านั้น จึงเริ่มพระสูตรนี้. คำที่เหลือในสูตรทั้ง ๒ นี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวในหนหลัง นั่นแล.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๙
อรรถกถาสูตรที่ ๑๐
แม้สูตรที่ ๑๐ ท่านกล่าวไว้แล้วในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน. ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายในโรงธรรมปรารภ พระเจ้าโกศลมหาราช กล่าวว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมียศมาก มีบริวารมาก บัดนี้ มียศน้อย มีบริวารน้อย พระศาสดาเสด็จมาโดยนัยก่อนนั่นแล ทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้น จึงเริ่มเทศนานี้. คำที่เหลือพึงทราบ โดยนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแล.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๑๐
จบ อรรถกถา กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘