[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 71
เถรคาถา เอกนิบาต
วรรคที่ ๑
๔. ปุณณมันตานีปุตตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระปุณณมันตานีบุตรเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 71
๔. ปุณณมันตานีปุตตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระปุณณมันตานีบุตรเถระ
[๑๔๑] ได้ยินว่า พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
บุคคลควรสมาคมกับสัตบุรุษ ผู้เป็นบัณฑิต ชี้แจงประโยชน์เท่านั้น เพราะธีรชนทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ย่อมได้บรรลุถึงประโยชน์อย่างใหญ่ ประโยชน์อย่างลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ละเอียด สุขุม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 72
อรรถกถาปุณณมันตานีปุตตเถรคาถา
คาถาของพระปุณณเถระเริ่มต้นว่า สพฺภิเรว สมาเสถ. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร?
ได้ยินว่า พระเถระนี้ เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาล กรุงหงสาวดี ก่อนกว่าการเสด็จอุบัติของพระทศพล พระนามว่า ปทุมุตตระ ทีเดียว ถึงความเป็นผู้รู้โดยลำดับ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ไปสู่วิหาร พร้อมกับมหาชนโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง ในเวลาแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นั่งท้ายบริษัท ฟังธรรมอยู่ เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุผู้เป็นพระธรรมกถึกทั้งหลาย คิดว่า ในอนาคตกาล แม้เราก็ควรเป็นอย่างภิกษุรูปนี้ ในเวลาจบเทศนา เมื่อบริษัทเลิกประชุมกันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลอาราธนาแล้วกระทำมหาสักการะ โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยก่อสร้างอธิการนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอให้ข้าพระองค์ พึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นธรรมกถึก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างภิกษุรูปนั้น ที่พระองค์ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระธรรมกถึก ในสุดท้ายของวันที่ ๗ ดังนี้แล้ว ตั้งความปรารถนาไว้.
พระบรมศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาล ทรงเห็นความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขา จึงทรงพยากรณ์ว่า ในที่สุดแห่งแสนกัป ในอนาคตกาล พระพุทธเจ้า พระนามว่า โคตมะ จักเสด็จอุบัติ เธอบวชในศาสนาของพระองค์แล้ว จักเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายธรรมกถึก ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 73
เขาทำคุณงามความดีอยู่ในมนุษยโลกจนตลอดชีวิตจุติจากมนุษยโลกแล้ว สั่งสมบุญและญาณสมภารอีกแสนกัป ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นถึงศาสนาแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย บังเกิดเป็นหลานชายของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ในตระกูลพราหมณมหาศาล ในหมู่บ้านพราหมณ์ นามว่า โทณวัตถุ ไม่ไกลจากพระนครกบิลพัสดุ์ ในวันตั้งชื่อ ของเขา. คนทั้งหลายได้ขนานนามเขาว่า ปุณณะ.
เมื่อพระบรมศาสดา ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์โดยลำดับ ทรงเข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์ นั้นประทับอยู่ ปุณณมาณพ บวชในสำนักของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ได้อุปสมบทแล้ว กระทำบุพกิจหมดทุกอย่างแล้ว ขวนขวายความเพียร ยังกิจแห่งบรรพชิตให้ถึงที่สุดแล้วเทียว คิดว่า เราจักไปสู่สำนักของพระทศพล แล้วได้ไปยังสำนักของพระศาสดา พร้อมกับพระเถระผู้เป็นลุง หยุดพักในที่ ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว กระทำกรรมในโยนิโสมนสิการ ขวนขวายวิปัสสนา แล้วบรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานเลย. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าว ไว้ใน อปทานว่า
เราเป็นพราหมณ์ผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท อันศิษย์ห้อมล้อมแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้อุดมบุรุษ. พระมหามุนี พระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องบูชาแล้ว ทรงประกาศกรรมของเราโดยย่อ เราได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ได้ถวายบังคมพระศาสดา ประคองอัญชลี มุ่งหน้าเฉพาะทิศทักษิณกลับไป ครั้นได้ฟังธรรมโดยย่อ แล้วแสดงได้โดยพิสดาร ศิษย์ทั้งปวงพอใจ ฟังคำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 74
ของเราผู้กล่าวอยู่ บรรเทาทิฏฐิของตนแล้ว ยังจิตให้ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนเรา แม้ฟัง โดยย่อก็แสดงได้โดยพิสดารฉะนั้น เราเป็นผู้ฉลาด ในนับแห่งพระอภิธรรม เป็นผู้ฉลาดในความหมดจด แห่งกถาวัตถุ ยังปวงชนให้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ อยู่ ในกัปที่ ๕๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ พระองค์ เป็นที่รู้จักอย่างดี สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔. คุณพิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทำเสร็จ แล้ว ดังนี้.
ก็กุลบุตรผู้บวชในสำนักของพระปุณณเถระนั้น ได้มีประมาณ ๕๐๐ รูป. พระเถระ สั่งสอนภิกษุแม้ทั้ง ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ด้วยกถาวัตถุ ๑๐ เพราะตัวท่านเองเป็นผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐. ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ตั้งอยู่ใน โอวาทของท่านแล้ว บรรลุพระอรหัต. ภิกษุเหล่านั้น รู้ว่ากิจแห่งบรรพชิต ของตน ถึงที่สุดแล้ว จึงพากันไปหาพระอุปัชฌาย์ กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กิจของกระผมทั้งหลาย ถึงที่สุดแล้ว ทั้งยังได้กถาวัตถุ ๑๐ อีกด้วย บัดนี้ เป็นโอกาสที่พวกกระผมจะเข้าเฝ้า พระทศพล.
พระเถระฟังคำของภิกษุเหล่านั้นและคิดว่า พระศาสดา ทรงทราบ ข้อที่เราเป็นผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ เราเมื่อแสดงธรรม ก็แสดงไม่ละทิ้งกถาวัตถุ ๑๐ เลย เมื่อเราไป ภิกษุเหล่านี้แม้ทั้งหมด จักห้อมล้อมเราไป การเข้าไปเฝ้า พระทศพล โดยระคนด้วยหมู่คณะอย่างนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุเหล่านี้ จงไปเฝ้าก่อนเถิด ดังนี้ กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 75
ท่านทั้งหลายจงล่วงหน้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า และจงถวายบังคมพระบาทของ พระองค์ ตามคำของเราด้วย แม้เราก็จักติดตามไป ตามทางที่ท่านทั้งหลาย ไปแล้ว.
พระเถระเหล่านั้น แม้ทุกๆ รูป ล้วนเคยอยู่ในแคว้นอันเป็นชาติภูมิ ของพระทศพล ทุกๆ รูปล้วนมีปกติได้กถาวัตถุ ๑๐. รับโอวาทของพระอุปัชฌาย์ของตนๆ แล้ว ไหว้พระเถระ เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ล่วงทาง ประมาณ ๖๐ โยชน์ ตรงไปยังเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ ถวายบังคม พระบาทของพระทศพลแล้ว นั่งลง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
ก็การต้อนรับปราศรัย กับภิกษุผู้อาคันตุกะทั้งหลาย เป็นธรรมเนียม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สั่งสมแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้น โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพออดทนได้หรือ ดังนี้แล้ว ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เธอทั้งหลาย มาจากไหน? ครั้นเมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบถึงชาติภูมิแล้ว จึงรับสั่งถามภิกษุผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี ผู้มีชาติภูมิอยู่ใน ถิ่นกำเนิดทั้งหลาย ใครหนอแล ที่ถูกยกย่องว่า มีความปรารถนาน้อยด้วยตน และบอกสอนความปรารถนาน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย.
แม้ภิกษุ ก็พากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปุณณมันตานีบุตร นามว่าปุณณะ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตร ฟังคำนั้นแล้ว ได้มีความประสงค์จะพบพระเถระ (ปุณณะ).
ลำดับนั้น พระศาสดา เสด็จจากกรุงราชคฤห์ ไปยังพระนครสาวัตถี แล้ว. แม้พระปุณณเถระ ทราบว่า พระศาสดาเสด็จมาในที่นั้น จึงไปด้วยคิดว่า เราจักเฝ้าพระศาสดา ได้เข้าเฝ้าพระตถาคตเจ้าภายในพระคันธกุฏีทีเดียว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 76
พระศาสดาทรงแสดงธรรม แก่พระเถระ. พระเถระฟังธรรมแล้ว ถวายบังคมพระทศพล ไปสู่ป่าอันธวัน เพื่อหลีกเร้น แล้วนั่งพักกลางวันอยู่ที่ โคนต้นไม้ ต้นใดต้นหนึ่ง.
แม้พระสารีบุตรเถระ ทราบการมาของพระปุณณเถระ ไปจากสถานที่ ซึ่งเคยมองดูอยู่เป็นประจำ สบโอกาสแล้วจึงเข้าไปหาพระปุณณเถระ ผู้นั่งอยู่ ณ โคนต้นไม้ สนทนากับพระเถระแล้ว จึงสอบถามถึงวิสุทธิกถา ๗ กะท่าน.
แม้พระเถระ ก็พยากรณ์ปัญหาที่พระสารีบุตรนั้นถามแล้วๆ ยังจิต ของพระสารีบุตรให้ยินดีด้วยข้ออุปมาด้วยสถานที่ซึ่งจะนำไปถึงได้ด้วยรถ. ท่านทั้งสองนั้น ต่างฝ่ายต่างชื่นชมภาษิตของกันและกัน.
ครั้นในเวลาต่อมา พระศาสดาประทับ ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ทรงตั้ง พระเถระไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศ กว่าบรรดาภิกษุผู้เป็นพระธรรมกถึก ทั้งหลาย ด้วยพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระปุณณะเลิศกว่า พวกภิกษุสาวกของเรา ผู้กล่าวธรรม ดังนี้.
ในวันหนึ่ง ท่านพิจารณาถึงวิมุตติสมบัติ ของตนเกิดปีติและโสมนัส ว่า เราและสัตว์เหล่าอื่นเป็นอันมาก อาศัยพระบรมศาสดา หลุดพ้นจาก สังสารทุกข์แล้ว การคบหาท่านผู้เป็นสัตบุรุษ มีอุปการะมากหนอ ดังนี้ กล่าวคาถาที่ระบายกำลังของปีติออกไป ด้วยสามารถแห่งอุทานว่า
บุคคลควรสมาคมกับสัตบุรุษ ผู้เป็นบัณฑิต แจงประโยชน์เท่านั้น เพราะธีรชนทั้งหลาย เป็นผู้ ไม่ประมาท เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ย่อมได้บรรลุ ถึงประโยชน์อย่างใหญ่ ประโยชน์อย่างลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ละเอียด สุขุม ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 77
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺภิเรว แปลว่า ด้วยสัตบุรุษทั้งหลาย เท่านั้น. ก็ในคาถานี้ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่าน ประสงค์เอาว่า สัตบุรุษ. ก็พระพุทธเจ้าเป็นต้นเหล่านั้น ละธรรมของอสัตบุรุษ ทั้งหลายได้แล้วโดยไม่เหลือ และสรรเสริญคุณธรรมอันดียิ่ง เพราะบรรลุ ถึงพระสัทธรรมอย่างอุกฤษฏ์ ท่านจึงเรียกว่า เป็นสัตบุรุษ ผู้สงบระงับแล้ว. บทว่า สมาเสถ ความว่า พึงอยู่สม่ำเสมอ คืออยู่ร่วม. อธิบายว่า เมื่อเข้าใกล้ท่านเหล่านั้น สดับรับฟัง และถึงทิฏฐานุคติของท่านเหล่านั้น ชื่อว่า พึงเป็นผู้อยู่ร่วม.
บาทคาถาว่า ปณฺฑิเตหตฺถทสฺสิภิ เป็นคำกล่าว ยกย่องชมเชย พระอริยเจ้าเหล่านั้น. ปัญญาท่านเรียกว่า ปณฺฑา ชื่อว่า เป็นบัณฑิต เพราะมีปัญญา ชื่อว่า บัณฑา นั้น. ต่อจากนั้นไป ก็ชื่อว่า อตฺถทสฺสิโน เพราะชี้ประโยชน์ต่างโดยประโยชน์ตนเป็นต้น โดยไม่วิปริต. พึงคบกับบัณฑิต ผู้ชี้ประโยชน์เหล่านั้น.
ถ้ามีคำถามว่า เพราะเหตุไร? ก็ตอบว่า เพราะสัตบุรุษเหล่านั้น เป็นบัณฑิต อีกอย่างหนึ่ง เพราะ ท่านผู้เป็นบัณฑิต ย่อมบรรลุ จตุราริยสัจ นี้ อย่างนี้คือ ชื่อว่า บรรลุประโยชน์ เพราะเมื่อคบท่านเหล่านั้นโดยชอบ ก็มีแต่ประโยชน์ถ่ายเดียว และเพราะไม่ไกลจากมรรคญาณเป็นต้นทีเดียว ชื่อว่า บรรลุความยิ่งใหญ่ เพราะมีคุณใหญ่ และเพราะความเป็นผู้สงบระงับ ชื่อว่า ถึงความลึกซึ้ง เพราะหยั่งไม่ถึง และเพราะมีอารมณ์ คือ ญาณอันลึกซึ้ง ชื่อว่า เห็นได้ยาก เพราะผู้ที่มีฉันทะเป็นต้นหยาบ ไม่สามารถจะเห็นได้ และ เพราะคนนอกนี้ เห็นได้โดยยาก ชื่อว่า ละเอียด เพราะเห็นได้ยาก และเพราะ เป็นสภาวะที่ละเอียดอ่อน โดยเป็นอารมณ์ของญาณที่ละเอียดอ่อน ชื่อว่า บรรลุถึงพระนิพพาน ชื่อว่า สุขุมเพราะเป็นสภาพที่สุขุม เพราะเป็นสภาวธรรมที่ละเอียดอ่อนนั่นเอง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 78
หรือชื่อว่า บรรลุประโยชน์ เพราะมีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นสภาพ โดยอรรถว่า ไม่แปรผัน ชื่อว่า ถึงความเป็นใหญ่ เพราะการทำ ความเป็นพระอริยะ และเพราะเป็นนิมิตแห่งความยิ่งใหญ่ ชื่อว่า ลึกซึ้ง เพราะมีความไม่ตื้นเป็นสภาพ ชื่อว่า เห็นได้ยาก เพราะเห็นได้โดยยาก คือ ไม่สามารถจะเห็นได้โดยง่าย ชื่อว่า เห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง ชื่อว่า ลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก จึงจัดเป็นสัจจธรรม ๔ โดยพิเศษแล้ว ได้แก่นิโรธสัจ ที่ละเอียดสุขุม ได้แก่ นักปราชญ์ทั้งหลาย ขวนขวายกัมมัฏฐานภาวนา ที่มี สัจจะ ๔ เป็นอารมณ์ ย่อมบรรลุโดยชอบทีเดียว เพราะสมบูรณ์ด้วยธิติ.
บทว่า อปฺปมตฺตา ความว่า ยังข้อปฏิบัติ คือ ความไม่ประมาท ให้บริบูรณ์ ด้วยการไม่อยู่ปราศจากสติ ในที่ทั้งปวง.
บทว่า วิจกฺขณา ความว่า เฉลียว ฉลาด ในวิปัสสนาภาวนา. เชื่อมความว่า เพราะฉะนั้น พึงอยู่ร่วมกันด้วยสัตบุรุษทั้งหลายนั้นเทียว. อีก อย่างหนึ่ง บทว่า ปณฺฑิเตหตฺถทสฺสิภิ นี้ เป็นปัญจมีวิภัตติ. เชื่อมความ ว่า เพราะเหตุที่ธีรชนทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาท เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ย่อมบรรลุประโยชน์พิเศษ มีความเป็นผู้ยิ่งใหญ่เป็นต้น เพราะบัณฑิตทั้งหลาย ชี้ช่อง คือ เป็นต้นเหตุ ฉะนั้น พึงคบกับด้วยสัตบุรุษ เช่นนั้นอย่างเดียว.
คาถานี้ ของพระเถระ ก็จัดเป็นคาถาพยากรณ์อรหัตตผล โดยการ แสดงถึงปฏิเวธธรรม ฉะนี้แล.
จบอรรถกถา ปุณณมันตานีปุตตเถรคาถา