การจำ การท่องจำ และความเข้าใจ
โดย คุณอนันต์  8 เม.ย. 2548
หัวข้อหมายเลข 16

ผมมีความรู้อภิธรรมน้อยมากเพียงแต่นั่งอ่านผ่านๆ ไป ไม่ได้ละเอียดลึกซึ้ง ทราบจากการอ่านว่า สมัยพุทธกาล พระภิกษุจดจำคำสอนของพระพุทธองค์ได้มาก และมีการซักซ้อมท่องจำกันเรื่อยมา ซึ่งโดยความคิดส่วนตัว ผมคิดว่าคงมีการปรับปรุงถ้อยคำให้สละสลวยและสะดวกในการท่องจำ



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2548

คำว่า อภิ แปลว่า ยิ่งใหญ่

อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงเทศนาธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้พร้อมทั้ง เหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้น โดยสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ พระองค์ทรงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้ พระองค์มิได้ทรงเทศนาว่า ธรรมทั้งปวงอยู่ในอำนาจของพระองค์ แต่ทรงเทศนาว่า พระองค์เองก็ไม่สามารถบันดาลให้ผู้ใดพ้นทุกข์หรือบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติบรรลุมรรค ผล นิพพาน พ้นทุกข์ได้

ปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ฉะนั้นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรมตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2548

ในอดีตสมัย ณ สาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงดับขันธปรินิพพานระหว่างไม้สาละคู่ หมดโอกาสที่สัตวโลกจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อีกต่อไป

พระผู้มีพระภาคประทานพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้ว ไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว [๑] พุทธบริษัทย่อมถวายความนอบน้อมสักการะพระธรรมอันประเสริฐสุดของพระผู้มีพระภาค ตามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย แม้ผู้ใดเห็นพระวรกายของพระองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ หรือแม้ได้จับชายสังฆาฏิติดตามพระองค์ไป แต่ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม ผู้นั้นก็หาได้เห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต [๒] พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ขั้น

๑. ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย

๒. ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลสดับทุกข์

๓. ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์

รายละเอียดเพิ่มเติม

[๑] ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๔๑

[๒] ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สังฆาฏิสูตร ข้อ ๒๗๒


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2548

พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึง การเห็นธรรม รู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ เป็นผลของการเจริญธรรมขั้นปฏิบัติ

การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติต้องอาศัยปริยัติ ด้วยเหตุนี้ปริยัติ คือ การศึกษาพระธรรมวินัย จึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติและขั้นปฏิเวธเป็นลำดับไป

พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคได้จดจำสืบต่อกันมาโดยมุขปาฐะ คือ การท่องจำจากพระอรหันตสาวกผู้กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็น ๓ ปิฏก เรียกว่า พระไตรปิฏก การท่องจำได้กระทำสืบต่อกันมา ตราบจนกระทั่งได้จารึกเป็นตัวอักษร พระธรรมวินัยซึ่งพระอรหันตสาวกได้สังคายนาเป็น ๓ ปิฏกนั้น คือ ...

พระวินัยปิฏก เกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่

พระสุตตันปิฏก เกี่ยวกับหลักธรรมที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

พระอภิธรรมปิฏก เกี่ยวกับสภาพธรรมพร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง

ผู้ที่ทรงจำพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คือ ท่านพระอานนท์ และผู้กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยล้วนเป็นพระอรหันตสาวก ท่านเหล่านี้มีความเคารพพระธรรม และกระทำสังคายนาโดยมิได้มีการปรับปรุงถ้อยคำให้ต่างจากที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2548

พุทธศาสนานิกควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจ และปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้น เป็นธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน


ความคิดเห็น 5    โดย happyindy  วันที่ 6 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ