วาเสฏฐสูตรที่ ๙ ว่าด้วยบุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติหรือกรรม
โดย บ้านธัมมะ  14 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40200

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 570

สุตตนิบาต

มหาวรรคที่ ๓

วาเสฏฐสูตรที่ ๙

ว่าด้วยบุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติหรือกรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 570

วาเสฏฐสูตรที่ ๙

ว่าด้วยบุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติหรือกรรม

[๓๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละใกล้อิจฉานังคลคาม ก็สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงเป็นอันมากคือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณีพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงเหล่าอื่น อาศัยอยู่ในอิจฉานังคลคาม ครั้งนั้นแล วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพ เดินพักผ่อนอยู่ได้สนทนากันในระหว่างว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุอย่างไร ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลผู้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่านี้.

วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นผู้มีศีลและถึงพร้อมด้วยวัตร บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.

ภารทวาชมาณพไม่สามารถจะให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้เลย และวาเสฏฐมาณพก็ไม่สามารถจะให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้.

ลำดับนั้นแล วาเสฏฐมาณพจึงกล่าวกะภารทวาชมาณพว่า ท่านภารทวาชะ พระสมณโคดมผู้ศากยบุตรนี้ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล ประทับอยู่


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 571

ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ท่านภารทวาชะ เราทั้งสองจงไปเฝ้าพระสมณโคดมเถิด ครั้นแล้วจักทูลถามเนื้อความนี้ พระสมณโคดมจักตรัสพยากรณ์แก่เราด้วยประการใด เราจักทรงจำข้อความนั้นไว้ ด้วยประการนั้น.

ภารทวาชมาณพ รับคำว่าเสฏฐมาณพแล้ว ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพ และภารทวาชมาณพ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว วาเสฏฐมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคาถาว่า

[๓๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้มีไตรวิชชาอันอาจารย์ยกย่องและรับรอง ข้าพระองค์เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของโปกขรสาติพราหมณ์ ภารทวาชมาณพนี้เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของตารุกขพราหมณ์

ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ถึงความสำเร็จในเวทที่อาจารย์ผู้มีไตรวิชชาบอกแล้ว เป็นผู้เข้าใจตัวบท และเป็นผู้ชำนาญไวยากรณ์ ในเวท เช่นกับอาจารย์.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 572

ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองมีการโต้เถียงกันเพราะการอ้างถึงชาติ ภารทวาชมาณพกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะกรรม ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์จงทรงทราบอย่างนี้.

ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถจะให้กันและกันยินยอมได้ จึงพากันมา เพื่อจะทูลลามพระองค์ ผู้ปรากฏว่าเป็นพระสัมพุทธะ.

ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสอง ประณมอัญชลีเข้ามาถวายนมัสการพระองค์ผู้ปรากฏว่าเป็นพระสัมพุทธะในโลก เหมือนชนทั้งหลาย ประณมอัญชลีเข้ามาไหว้นมัสการพระจันทร์อันเต็มดวง ฉะนั้น.

ข้าพระองค์ทั้งสองขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ ผู้อุบัติขึ้นดีแล้วในโลกว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติหรือเพราะกรรม ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งสองผู้ไม่รู้ด้วยอาการที่ข้าพระองค์ทั้งสองจะพึงรู้จักพราหมณ์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 573

เราจักพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายตามลำดับตามสมควร สัตว์ทั้งหลายมีความแตกต่างกันโดยชาติ เพราะชาติของสัตว์เหล่านั้น มีประการต่างๆ กัน.

ท่านทั้งหลายจงรู้จักหญ้าและต้นไม้ แต่หญ้าและต้นไม้ ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้ หญ้าและต้นไม้เหล่านั้น มีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ เพราะชาติของมันต่างๆ กัน.

แต่นั้น ท่านทั้งหลายจงรู้จัก หนอน ตั๊กแตน มดดำ และมดแดง สัตว์เหล่านั้น มีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติเพราะชาติของมันต่างๆ กัน ท่านทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ ๔ เท้า ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ สัตว์เหล่านั้นมีสัณฐาน สำเร็จมาแต่ชาติเพราะชาติของมันต่างๆ กัน.

ต่อแต่นั้น ท่านทั้งหลายจงรู้จักปลา ที่เกิดในน้ำ เที่ยวไปในน้ำ ปลาเหล่านั้น มีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ เพราะชาติของมันมีต่างๆ กัน.

ถัดจากนั้น ท่านทั้งหลายจงรู้จักนก ที่บินไปในเวหา นกเหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ เพราะชาติของมันต่างๆ กัน.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 574

เพศที่สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมาก ไม่มีในมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนอย่างสัณฐานที่สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมาก ในชาติเหล่านี้ ฉะนั้น.

การกำหนดด้วยผม ศีรษะ หู นัยน์ตา ปาก จมูก ริมฝีปาก คิ้ว คอ บ่า ท้อง หลัง ตะโพก อก ที่แคบ เมถุน มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขา วรรณะ หรือเสียง ว่าผมเป็นต้น ของพราหมณ์เป็นเช่นนี้ ของกษัตริย์เป็นเช่นนี้ย่อมไม่มีเลย.

เพศที่สำเร็จมาแต่ชาติไม่มีในมนุษย์ทั้งหลายเลย เหมือนอย่างสัณฐานที่สำเร็จมาแต่ชาติในชาติเหล่าอื่น ฉะนั้น ความแตกต่างกันแห่งสัณฐานมีผมเป็นต้นนี้ ที่สำเร็จมาแต่กำเนิด ย่อมไม่มีในสรีระของตนๆ เฉพาะในตัวมนุษย์ทั้งหลายเลย แต่ความต่างกันในมนุษย์ทั้งหลาย บัณฑิตกล่าวไว้โดยชื่อ

ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 575

ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า มิใช่พราหมณ์.

ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นผู้รับใช้ มิใช่พราหมณ์.

ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่พราหมณ์.

ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยลูกศรและศาสตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นนักรบอาชีพ มิใช่พราหมณ์.

ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดหนึ่งเลี้ยงชีพด้วยความเป็นปุโรหิต ผู้นั้นเป็นผู้ยังบุคคลให้บูชา มิใช่เป็นพราหมณ์.

ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งปกครองบ้านและแว่นแคว้น ผู้นั้นเป็นพระราชา มิใช่พราหมณ์.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 576

ก็เราหากล่าวผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่าโกวาที ผู้นั้นแลยังเป็นผู้มีเครื่องกังวล เรากล่าวบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่สะดุ้งเลย ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องแล้ว พรากโยคะทั้ง ๔ ได้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ที่ตัดชะเนาะคือความโกรธ เชือก คือ ตัณหา หัวเงื่อน คือ ทิฏฐิ ๖๒ พร้อมทั้งสายโยง คือ อนุสัยเสียได้ ผู้มีลิ่มสลัก อันถอดแล้ว ผู้ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นได้ซึ่งคำด่าว่า การทุบตีและการจองจำ ผู้มีกำลังคือขันติ ผู้มีหมู่พลคือขันติ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่โกรธ มีวัตร มีศีล ไม่มีกิเลสอันฟูขึ้น ฝึกตนแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย ดุจน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว ดุจเมล็ดพันธุ์


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 577

ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้รู้ชัดความสิ้นไปแห่งทุกข์ของตน ในศาสนานี้แล ผู้ปลงภาระแล้ว พรากกิเลสได้หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีเมธา ผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทาง ผู้บรรลุถึงประโยชน์อันสูงสุด ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยคน ๒ พวก คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งผู้ที่สะดุ้งและมั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าวผู้ไม่ปองร้าย ผู้ดับเสียได้ ในผู้ที่มีอาชญาในตน ผู้ไม่ยึดถือในผู้ที่มีความยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ที่ทำราคะ โทสะ มานะ และมักขะ ให้ตกไปแล้ว ดุจเมล็ดพันธุ์


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 578

ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้เปล่งถ้อยคำไม่หยาบ ให้รู้ความกันได้ เป็นคำจริง ซึ่งไม่เป็นเหตุทำใครๆ ให้ข้องอยู่ ว่าเป็นพราหมณ์.

ก็เรากล่าวผู้ไม่ถือเอาสิ่งของยาวหรือสั้น น้อยหรือใหญ่ งามและไม่งาม ซึ่งเจ้าของมิได้ให้แล้วในโลก ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่มีความหวังทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ผู้สิ้นหวัง พรากกิเลสได้หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่มีความอาลัย รู้ทั่วถึงแล้ว ไม่มีความสงสัย หยั่งลงสู่นิพพาน ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ละทิ้งบุญและบาปทั้ง ๒ ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้แล้ว ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลี บริสุทธิ์แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้มีความยินดีในภพหมดสิ้นแล้ว ผู้บริสุทธิ์ มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 579

ดุจพระจันทร์ที่ปราศจากมลทิน ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ล่วงทางอ้อม หล่มสงสารโมหะเสียได้ เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง เพ่งฌาน ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย ดับกิเลสได้แล้วเพราะไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ละกามในโลกนี้ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่มีเรือน บวชเสียได้ มีกามราคะหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ละตัณหาในโลกนี้ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่มีเรือน งดเว้นมีตัณหาและภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ละโยคะที่เป็นของมนุษย์ แล้วล่วงโยคะที่เป็นของทิพย์เสียได้ ผู้พรากแล้วจากโยคะทั้งปวง ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ละความยินดีและความไม่ยินดี เป็นผู้เยือกเย็น หาอุปธิมิได้ ผู้ครอบงำโลกทั้งปวง มีความเพียร ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งทลาย โดยอาการทั้งปวง ผู้ไม่ข้อง ไปดี ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 580

เรากล่าวผู้ที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ รู้คติไม่ได้ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่มีเครื่องกังวลในขันธ์ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้องอาจ ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ แสวงหาคุณใหญ่ ชนะมาร ไม่มีความหวั่นไหว ล้างกิเลสหมด ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ระลึกชาติก่อนๆ ได้ เห็นสวรรค์และอบาย และถึงความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

นามและโคตรที่เขากำหนดกัน เป็นบัญญัติในโลก นามและโคตรมาแล้วเพราะการรู้ตามกันมา ญาติสายโลหิตทั้งหลายกำหนดไว้ ในกาลที่บุคคลเกิดแล้วนั้นๆ.

นามและโคตรที่กำหนดกันแล้วนี้ เป็นความเห็นของพวกคนผู้ไม่รู้ ซึ่งสืบเนื่องกันมาสิ้นกาลนาน พวกคนผู้ไม่รู้ ย่อมกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 581

แต่บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ ก็หามิได้ แต่เป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม ไม่เป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม.

เป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นผู้รับใช้ เป็นโจร เป็นนักรบ อาชีพ เป็นปุโรหิต และแม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม.

บัณฑิตทั้งหลายผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้.

โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน เปรียบเหมือนหมุดแห่งรถที่แล่นไปอยู่ ฉะนั้น.

บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะ สัญญมะ พรหมจรรย์ และทมะ กรรมนี้ นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้.

บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยไตรวิชชา เป็นคนสงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว เป็นพราหมณ์


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 582

ผู้องอาจของบัณฑิตทั้งหลาย ผู้รู้แจ้งอยู่ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด วาเสฏฐะ.

[๓๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพ และภารทวาชมาณพ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบวาเสฏฐสูตรที่ ๙

อรรถกถาวาเสฏฐสูตรที่ ๙

วาเสฏสูตร มีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

การเกิดขึ้นนี้ท่านกล่าวไว้แล้วในนิทานแห่งสูตรนั้น. แต่ข้าพเจ้าจะพรรณนาความเรียบเรียงนัยแห่งสูตรนั้นมากล่าว และบทที่มีความง่าย.

บทว่า อิจฺฉานงฺคโล เป็นชื่อของบ้าน. พราหมณ์มหาศาลมีชื่อ เรียกดังนี้ คือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ ผู้ทำนาย โชคชะตาคือ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณีพราหมณ์. นัยว่า พราหมณ์สองคนนั้น คนหนึ่งเกิดในดอกบัวในสระโบกขรณีข้างหิมวันตประเทศ. ดาบสคนหนึ่งเก็บดอกบัวนั้นเห็นทารกนอนอยู่ในดอกบัวเลี้ยงให้โตแล้วจึงนำไปถวายพระราชา. เพราะทารกนั้นนอนอยู่ในดอกบัวจึงชื่อว่า โปกขรสาติ. อีกคนหนึ่ง


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 583

มีตำแหน่งเป็นผู้ทำนายโชคชะตา. ได้ยินว่าเพราะเป็นผู้ทำนายโชคชะตานั้น จึงได้ตำแหน่งปุโรหิตชื่อชาณุสโสณี. เขามีชื่อเสียง เพราะเหตุนั้นเอง. หากมีคำว่า พราหมณ์ทั้งหมดเหล่านั้นเป็นพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียง เหตุไรจึงอาศัยอยู่ ณ อิจฉานังคลคาม. ตอบว่าเพื่อทดสอบการเรียนเวท. นัยว่า สมัยนั้นในโกศลชนบท พราหมณ์ ผู้เรียนเวทประชุมกันในบ้านนั้น เพื่อสาธยายเวทและเพื่อตรวจสอบข้อความของเวท. ด้วยเหตุนั้นพราหมณ์บางพวกจึงออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนๆ เป็นลำดับๆ มาอาศัยอยู่ ณ อิจฉานังคลคามนั้น. บทว่า วาเสฏฺภารทฺวาชานํ ได้แก่ วาเสฏฐพราหมณ์และภารทวาชพราหมณ์. บทว่า อยมนฺตรากถา สนทนากันในระหว่าง คือ พราหมณ์ทั้งสองได้เที่ยวสนทนากับผู้ที่เป็นสหายของตน ท่านอธิบายว่าในท่ามกลางระหว่างการสนทนานั้น ได้เกิดสนทนาเรื่องอื่นขึ้น.

บทว่า สํสุทฺธคหณิโก มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี คือมีครรภ์บริสุทธิ์ อธิบายว่า เกิดในครรภ์ของพราหมณีผู้บริสุทธิ์นั่นเอง. ไฟธาตุ ท่านเรียกว่า คหณี ในบทมีอาทิว่า สมเวปากินิยา คหณิยา ไฟธาตุย่อยอาหาร แต่ในที่นี้หมายถึงครรภ์มารดา. บทว่า ยาว สตฺตมา ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ คือ ๗ ชั่วบรรพบุรุษโดยย้อนหลังไปอย่างนี้ คือ มารดาของมารดา บิดาของบิดา. ในบทนั้นมีอธิบายว่า ปู่และย่า ชื่อว่า ปิตามหา อนึ่ง ตาและยาย ชื่อว่า มตามหา ปู่ย่า ตายายนั้นแหละ ชื่อ ปิตามหา อย่างเดียว คู่ของปู่ย่าตายาย ชื่อว่า ปิตามหยุคะ. บทว่า ยุคํ ได้แก่ประมาณของอายุ. อนึ่งบทนี้เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น. บทว่า อกฺขิตฺโต ไม่มีใครคัดค้าน คือ


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 584

ไม่มีใครคัดค้านปรารภถึงชาติว่า คนนั้นเป็นชาติอะไร. บทว่า อนุปกุฏฺโ ไม่มีใครติเตียน คือ ไม่เคยมีใครติเตียนโดยอ้างถึงความชั่วของชาติ. บทว่า วตฺตสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวัตร คือสมบูรณ์ด้วยมารยาท. บทว่า สญฺาเปตุํ เพื่อให้ยินยอม คือเพื่อให้รู้ เพื่อให้เข้าใจ. อธิบายว่า เพื่อรู้ตลอดไป. บทว่า อายาม คือ จงไป. บทว่า อนุญฺาตปฏิญฺาตา ความว่า ข้าพระองค์ทั้งสองอันอาจารย์ยกย่องและรับรองด้วยตนเองว่า ท่านทั้งสองเป็นผู้มีไตรวิชชา. บทว่า อสฺมา แปลว่า ย่อมเป็น. บทว่า อุโภ คือชนทั้งสอง.

บทว่า อหํ โปกฺขรสาติสฺส ตารุกฺขสฺสาย มาณโว ความว่า ว่าเสฏฐมาณพ เมื่อจะแสดงถึงคุณสมบัติของตน จึงกล่าวถึงคุณสมบัติของอาจารย์โดยอธิบายว่า ข้าพระองค์เป็นอันเตวาสิกผู้ใหญ่ ของโปกขรสาติพราหมณ์ ภารทวาชมาณพนี้เป็นศิษย์ผู้เลิศของตารุกขพราหมณ์. บทว่า เตวิชฺชานํ ได้แก่ ไตรเพท. บทว่า เกวลิโน คือถึงความสำเร็จ. บัดนี้ วาเสฏรมาณพ เมื่อจะยังความเป็นผู้สำเร็จนั้นให้กว้างขวางต่อไป จึงกราบทูล ว่า ปทกสฺมา ฯเปฯ สาทิสา ข้าพระองค์เป็นผู้เข้าใจในตัวบท และเป็นผู้ชำนาญในไวยากรณ์ในเวท เช่นกับอาจารย์. ในบทเหล่านั้น บทว่า ชปฺเป ได้แก่ ในเวท. บทว่า กมฺมุนา ได้แก่ กรรมคือ กุศสกรรมบถ ๑๐ อย่าง. วาเสฏฐมาณพนี้ กล่าวว่า ยโต โข โภ สีลวา จ โหติ ท่านผู้เจริญ บุคคลผู้มีศีล ดังนี้ หมายถึงกายกรรมและวจีกรรม ๗ อย่าง ในกาลก่อน กล่าวว่า วตฺตสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวัตรหมายถึง มโนกรรม ๓ อย่าง.


ความคิดเห็น 16    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 585

เพราะว่า วาเสฏฐมาณพนั้นประกอบแล้วด้วยวัตรนั้น เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมารยาท.

บัดนี้ วาเสฏฐมาณพเมื่อจะแสดงกรรมนั้นโดยระหว่างคำ จึงกล่าวว่า อหญฺจ กมฺมุนา พฺรูมิ ข้าพระองค์กล่าวว่าบุคคลเป็นพราหมณ์เพราะกรรม บทว่า ขยาตีตํ คือ พระจันทร์เต็มดวง. บทว่า เปจฺจ คือ เข้าไปใกล้แล้ว บทว่า นมสฺสนฺติ คือ ทำความนอบน้อม. บทว่า จกฺขุํ โลเก สมุปฺปนฺนํ พระโคดมผู้มีจักษุผู้อุบัติขึ้นดีแล้วในโลก ความว่า พระโคดมผู้มีพระจักษุด้วยการกำจัดความมืดนั้น แล้วทรงชี้ถึงประโยชน์มีประโยชน์ปัจจุบันเป็นต้นของโลก ทรงอุบัติขึ้นดีแล้วในโลกอันมืดด้วยอวิชชา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า อันวาเสฏฐมาณพกราบทูลสรรเสริญอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงสงเคราะห์ชนทั้งสองนั้น จึงตรัสว่า เตสํ โวหํ พฺยกฺขิสสํ เราจักพยากรณ์แก่ท่านทั้งสองเป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า พฺยกฺขิสฺสํ คือ เราจักพยากรณ์ บทว่า อนุปุพฺพํ ตามลำดับ ความว่า ความคิดของพราหมณ์ยกไว้ก่อน. ในบทนี้มีอธิบายอย่างนี้ว่า เราจักพยากรณ์แก่พวกท่านตามลำดับเริ่มตั้งแต่ หนอน ตั๊กแตน หญ้าและต้นไม้. จริงอยู่ควรแนะนำมาณพเหล่านั้นด้วยถ้อยคำพิสดาร บทว่า ชาติวิภงฺคํ คือ ต่างกันโดยชาติ. บทว่า อญฺมญฺา หิ ชาติโย เพราะชาติของสัตว์ทั้งหลายมีประการต่างๆ กันคือ เพราะชาติของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ เป็นอย่างอื่นๆ คือ ต่างๆ กัน.

ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงตรัสถึงความต่างแห่งชาติของสัตว์ทั้งหลายจึงทรงปรารภ เพื่อจะตรัสถึงสิ่งไม่มีใจครองก่อนว่า ติณรุกฺเขปิ


ความคิดเห็น 17    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 586

ชานาถ ท่านทั้งหลายย่อมรู้จักหญ้าและต้นไม้. หากมีคำถามว่าตรัสดังนั้น เพื่ออะไร? ตอบว่า เพื่อให้รู้ถึงความสุขในสัตว์ที่มีใจครองทั้งหลาย. เพราะเมื่อถือเอาประเภทแห่งชาติในสิ่งไม่มีใจครองทั้งหลาย เป็นอันปรากฏประเภทแห่งชาติ ในสัตว์มีใจครองด้วย.

บทว่า ติณรุกฺเข นั้น ชื่อว่าหญ้า ได้แก่มีกระพี้ภายใน มีแก่นภายนอก. เพราะฉะนั้น แม้ตาลและมะพร้าวเป็นต้นก็สงเคราะห์เป็นหญ้าได้. ชื่อว่า ต้นไม้ ได้แก่ มีกระพี้ภายนอกมีแก่น ภายใน. หญ้าและต้นไม้ ชื่อว่า ติณรุกฺขา. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงหญ้าและต้นไม้เหล่านั้น ด้วยทุติยาวิภัตติ พหุวจนะจึงตรัสว่า ติณรุกฺเขปิ ชานาถ ท่านทั้งหลายย่อมรู้จักหญ้าและ ต้นไม้. บทว่า น จาปิ ปฏิชานเร ได้แก่ หญ้าและต้นไม้ ก็ไม่ยอมรับอย่างนี้ว่า เราเป็นหญ้า เราเป็นต้นไม้ ดังนี้. บทว่า ลิงฺคํ ชาติมยํ คือ มีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติของหญ้าและต้นไม้เหล่านั้นแม้จะไม่รู้จักเป็นเช่นกับหญ้าเกิดแต่รากของตนเอง. เพราะเหตุไร เพราะชาติต่างๆ กัน พึงเข้าใจพิสดาร อย่างนี้ว่า ติณชาติ (หญ้า เป็นอย่างอื่น รุกขชาติ (ต้นไม้) เป็นอย่างอื่น แม้ในหญ้าทั้งหลาย ตาลชาติ (ต้นตาล) เป็นอย่างอื่น นาฬิเกรชาติ (ต้นมะพร้าว) เป็นอย่างอื่น. ด้วยติณชาตินั้นท่านแสดงไว้อย่างไร. ติณชาติใด ย่อมมีด้วยสามารถแห่งชาติ ติณชาตินั้น แม้เว้นการรับรองของตนหรือข้ออ้างของคนอื่นก็ยังถือเอาโดยความต่างกันจากชาติอื่น. ก็ผิว่า พราหมณ์ใด พึงเป็นพราหมณ์โดยชาติ พราหมณ์นั้นก็เว้นการรับรองของตน หรือข้ออ้างของคนอื่น ก็จะไม่พึงต่างกันโดยเป็นกษัตริย์ หรือโดยเป็นแพทย์หรือศูทร และไม่ควรถือเอา เพราะฉะนั้นมิใช่เป็นพราหมณ์โดยชาติ. จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง


ความคิดเห็น 18    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 587

ทำให้แจ้งซึ่งความนี้ ด้วยวจีเภทด้วยคาถานี้ว่า ยถา เอตาสุ ชาตีสุ เหมือนในชาติทั้งหลายเหล่านี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความต่างแห่งชาติในสิ่งไม่มีใจครองอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงความต่างแห่งชาติในสัตว์ผู้มีใจครองจึงตรัสคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ตโต กีเฏ แต่นั้นจงรู้จักหนอน ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า กีฏา ได้แก่หนอน. บทว่า ปฏงฺคา ได้แก่ ตั๊กแตน. บทว่า ยาว กุนฺถกิปิลฺลิเก ได้แก่ ตลอดจนมดดำและมดแดงเป็นที่สุด. บทว่า ขุทฺทเก ตัวเล็ก ได้แก่ กระแต กระรอกเป็นต้น. บทว่า มหลฺลเก ได้แก่ กระต่ายและแมวเป็นต้น. เพราะสัตว์ทั้งหมดเหล่านั้นมีอยู่หลายชนิด. บทว่า ปาทูทเร คือมีท้องเป็นเท้า ท่านอธิบายว่า สัตว์มีท้องเป็นเท้า. บทว่า ทีฆปิฏฺิเก คือสัตว์มีหลังยาว เพราะงูมีหลังตั้งแต่หัวถึงหาง เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกงูเหล่านั้นว่า ทีฆปิฏฺิกา สัตว์มีหลังยาว. สัตว์เหล่านั้นมีอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะเป็นจำพวกอสรพิษเป็นต้น. บทว่า อุทเก คือเกิดในน้ำ. แม้ปลาทั้งหลายก็มีหลายจำพวกโดยเฉพาะ เป็นจำพวกปลาตะเพียนเป็นต้น. บทว่า ปกฺขี ได้แก่ นกทั้งหลาย. เพราะนกเหล่านั้นท่าน เรียก ปักษี เพราะเป็นสัตว์ปีก. ชื่อว่า ปตฺตยานา เพราะไปด้วยปีก. ชื่อว่า วิหงฺคมา เพราะไปทางอากาศ. สัตว์เหล่านั้นมีหลายจำพวก โดยเฉพาะเป็นประเภท กา เป็นต้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงประเภทแห่งชาติของสัตว์ทั้งหลาย เที่ยวไปทางบกทางน้ำและทางอากาศ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงทำให้


ความคิดเห็น 19    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 588

แจ้งถึงความประสงค์ที่จะทรงแสดง จึงตรัสคาถาว่า ยถา เอตาสุ ชาติเหล่านี้ ฉะนั้น ดังนี้.

พึงทราบความของบทนั้นโดยสังเขป ด้วยการพรรณนาถึงความประสงค์ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล แต่โดยพิสดารในบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดง ข้อที่ควรตรัสด้วยพระองค์เอง จึงตรัสคำมีอาทิว่า น เกเสหิ มิใช่ด้วยผมทั้งหลาย ดังนี้. ในบทนั้นโยชนาแก้ไว้ว่า คำใดที่กล่าวไว้ว่าสัณฐาน สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมากไม่มีในหมู่มนุษย์ พึงทราบว่า คำนั้นไม่มีอย่างนี้. เช่นว่าอะไร เช่นบทว่า น เกเสหิ พึงประกอบบททั้งปวงโดยนัยนี้ว่า มีกำหนดว่า ผมเช่นนี้ ไม่มีแก่พวกพราหมณ์ ผมเช่นนี้ มีแก่กษัตริย์ เหมือนขน เช่นนี้ มีแก่ช้างม้าและเนื้อเป็นต้น. ก็บทนี้ว่า เหมือนสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ ไม่มีในชาติอื่น พึงทราบว่า เป็นบทสรุปของความดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล. บทนั้นโยชนาแก้ว่า เพราะสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมาก ไม่มีในมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยผมเป็นต้น ฉะนั้นพึงทราบข้อนี้ว่า สัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ ไม่มีในมนุษย์ทั้งหลายมีพราหมณ์เป็นต้น เหมือนสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติในชาติอื่น.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงถึงความที่เกิดต่างกันนี้ว่าเป็น พราหมณ์ เป็นกษัตริย์ แม้ในสัตว์ทั้งหลายที่ต่างกันโดยชาติอย่างนี้ จึงตรัสคาถาว่า ปจฺจตฺตํ เฉพาะตน. บทนั้นมีความว่า ความต่างกันแห่งสัณฐาน มีผมเป็นต้นนี้ที่สำเร็จมาแต่กำเนิด ย่อมไม่มีในสรีระของตนๆ แห่งพราหมณ์เป็นต้น เฉพาะในมนุษย์ทั้งหลายเลย ดุจของสัตว์ดิรัจฉาน ก็เมื่อไม่มีความ


ความคิดเห็น 20    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 589

ต่างกัน แต่ความต่างกันอันเป็นวิธีบอกให้รู้ว่าต่างกัน คือ เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ในมนุษย์ทั้งหลาย ท่านกล่าวไว้โดยสมัญญา คือกล่าวเพียงเป็นโวหาร.

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงข่มวาทะของภารทวาชพราหมณ์ ผิว่า จะพึงเป็นพราหมณ์ได้เพราะชาติ แม้ผู้ที่มีอาชีววิบัติ ศีลวิบัติ อาจารวิบัติก็พึงเป็นพราหมณ์ได้ ก็เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเก่าๆ ไม่ปรารถนาคนนั้นเป็นพราหมณ์ แม้มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตเหล่าอื่นในโลกก็ไม่ปรารถนา ฉะนั้น เพื่อจะยกย่องวาทะของพราหมณ์ เมื่อจะทรงแสดงวาทะนั้น จึงตรัสคาถา ๘ คาถามีอาทิว่า โย หิ โกจิ มนุสฺเสสุ ก็ในมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพเป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า โครกฺขํ ได้แก่ ดูแลนา. อธิบายว่า ทำกสิกรรม. อันที่จริงแผ่นดินท่านเรียกว่า โค ก็ผืนแผ่นดินนั้นท่านเรียกว่า เขต. บทว่า ปุถุสิปฺเปน ได้แก่ ศิลปะมีการทอหูกเป็นต้น. บทว่า โวหารํ ได้แก่ การค้าขาย. บทว่า ปรเปสฺเสน ได้แก่ ด้วยการรับใช้ผู้อื่น. บทว่า อิสฺสตฺถํ ได้แก่ ใช้อาวุธเลี้ยงชีพ ท่านอธิบายว่า ลูกศร และศัสตรา. บทว่า โปโรหิจฺเจน ด้วยความเป็นปุโรหิต คือด้วยการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความไม่เป็นพราหมณ์ของผู้มีอาจารวิบัติ ศีลวิบัติและมารยาทวิบัติ ด้วยลัทธิของพราหมณ์และโวหารของชาวโลกแล้ว จึงทรงจัดระเบียบนี้ลงโดยความดังนี้ว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น บุคคลย่อมไม่เป็นพราหมณ์โดยชาติ แต่เป็นพราหมณ์ด้วยคุณธรรม เพราะ


ความคิดเห็น 21    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 590

ฉะนั้น ผู้มีคุณธรรมถึงจะเกิดในตระกูลใดๆ ก็ตาม ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ได้ นี้เป็นระเบียบในข้อนี้ ดังนี้ เมื่อจะทรงประกาศระเบียบนั้นต่อไปจึงตรัสว่า น จาหํ พฺราหิมณํ พฺรูมิ เราไม่กล่าวผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์.

บทนั้นมีความดังนี้ เราไม่กล่าวผู้เกิดในกำเนิด ๔ กำเนิดใดกำเนิดหนึ่ง หรือผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดาซึ่งพราหมณ์สรรเสริญโดยนัยเป็นต้นว่า เป็นผู้เกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย และโดยนัยนี้ว่า พวกพราหมณ์กล่าวถึงกำเนิดอันได้แก่มรรคที่เกิดบริสุทธิ์ของพราหมณ์ว่าเป็นผู้มีครรภ์บริสุทธิ์ ความพร้อมของมารดา ท่านกล่าวว่าชื่อว่าผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดา เพราะพร้อมที่จะให้เกิดจากครรภ์อันบริสุทธิ์นั้น แม้ผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดานั้นว่าเป็นพราหมณ์ โดยสักว่าเกิดแต่กำเนิดนี้ และโดยสักว่าเกิดแต่มารดานี้. เพราะเหตุไร. เพราะผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่า โภวาที เพราะเป็นผู้ประเสริฐด้วยยังมีเครื่องกังวลอื่นโดยเพียงคำว่า โภ โภ ดังนี้ ผู้นั้นแลยังเป็นผู้มีเครื่องกังวล. ก็ผู้ใดแม้เกิดในตระกูลใดๆ ก็ตาม เป็นผู้ไม่มีเครื่องกังวล เพราะไม่มีเครื่องกังวล มีราคะเป็นต้น เป็นผู้ไม่ถือมั่นเพราะสละความยึดถือทั้งปวงได้ เรากล่าว ผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ถือมั่นนั้นว่าเป็นพราหมณ์. เพราะเหตุไร. เพราะเป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว. มีอะไรยิ่งกว่านั้น มีคาถา ๒๗ คาถา มีอาทิว่า สพฺพสํโยชนํ เฉตฺวา ตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด.

ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพสํโยชนํ ได้แก่ สังโยชน์ ๑๐ อย่าง. บทว่า น ปริตสฺสติ ไม่สะดุ้ง คือไม่กลัวเพราะตัณหา. บทว่า ตมหํ ความว่า เรากล่าวผู้ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง เพราะล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องมี


ความคิดเห็น 22    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 591

ราคะเป็นต้น ผู้พรากเพราะไม่มีโยคะแม้ทั้ง ๔ ว่าเป็นพราหมณ์. บทว่า นทฺธึ ชะเนาะ คือความโกรธที่มัดไว้. บทว่า วรตฺตํ เชือก คือตัณหาที่ผูกไว้. บทว่า สนฺธานํ สหนุกฺกมํ ได้แก่ หัวเงื่อนคือทิฏฐิ ๖๒ อันอยู่ในลำดับอนุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน). อธิบายว่า เรากล่าวผู้ที่ตัดแม้ทั้งหมดนี้ได้ชื่อว่า มีลิ่มสลักอันถอนแล้ว เพราะถอนลิ่มสลักคืออวิชชาได้ ชื่อว่าผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ ว่า เป็นพราหมณ์.

บทว่า อทุฏฺโ ผู้ไม่ประทุษร้ายแล้ว อธิบายว่า เรากล่าวผู้ไม่โกรธ อดกลั้นคำด่าว่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ การทุบตีด้วยฝ่ามือเป็นต้น และการจองจำด้วยมัดด้วยเชือกเป็นต้น ผู้มีกำลังคือขันติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือ ขันติ ผู้มีหมู่พล เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยหมู่พลคือขันตินั้นเอง อันเป็นหมู่พลแห่งการเกิดบ่อยๆ ผู้เห็นปานนั้นว่า เป็นพราหมณ์.

บทว่า วตวนฺตํ มีวัตร อธิบายว่า เรากล่าวผู้ประกอบด้วยวัตรอันกำจัดกิเลส ผู้มีศีล คือจตุปาริสุทธิศีล ผู้ไม่มีกิเลสอันฟูขึ้นเพราะไม่มีกิเลสอันฟูขึ้นคือตัณหา ผู้ฝึกตนแล้วด้วยการฝึกอินทรีย์ ๖ ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างอันมีในที่สุดด้วยอัตภาพอันดำรงอยู่ในที่สุดว่า เป็นพราหมณ์.

บทว่า โย น ลิมฺปติ ความว่า เรากล่าวผู้ไม่ติดอยู่ด้วยกามสองอย่าง คือไม่ตั้งอยู่ในกามนั้น ว่าเป็นพราหมณ์.

บทว่า ทุกฺขสฺส ได้แก่ แห่งทุกข์คือขันธ์.

บทว่า ปนฺนภารํ ผู้ปลงภาระแล้ว อธิบายว่า เรากล่าวผู้ปลงภาระคือขันธ์ได้แล้ว พรากแล้วจากโยคะ ๔ หรือกิเลสทั้งหมดว่า เป็นพราหมณ์.


ความคิดเห็น 23    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 592

บทว่า คมฺภีรปญฺํ ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง อธิบายว่า เรากล่าวผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นไปในขันธ์เป็นต้นอันลึกซึ้ง ผู้มีปัญญา ด้วยปัญญามีโอชะ เกิดแต่ธรรม ผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทางอย่างนี้ว่า นี้เป็นทางแห่งทุคติ นี้เป็นทางแห่งสุคตินี้เป็นทางแห่งนิพพาน นี้มิใช่ทางดังนี้ ผู้บรรลุประโยชน์อันสูงสุด คือพระอรหัตว่า เป็นพราหมณ์.

บทว่า อสํสฏฺํ ผู้ไม่เกี่ยวข้อง อธิบายว่า เรากล่าวผู้ไม่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องทางกายด้วยการเห็น การฟัง การสนทนา การบริโภค ไม่เกี่ยวข้องด้วยบุคคล ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต. ไม่มีความอาลัย เที่ยวไป ผู้เห็นปานนั้นว่า เป็นพราหมณ์.

บทว่า นิธาย วาง คือ วางลง คือ ปลงลง. บทว่า ตเสสุ ถาวเรสุ จ ทั้งผู้สะดุ้ง ทั้งผู้มั่นคง คือ ชื่อว่าผู้สะดุ้ง เพราะมีตัณหา ชื่อว่าผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้มั่นคงโดยไม่มีตัณหา. บทว่า โย น หนติ ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ความว่า ผู้ใดวางอาชญาแล้วเพราะปราศจากความแค้นเคืองในสัตว์ทั้งปวงอย่างนี้ ไม่ฆ่าสัตว์ไรๆ ด้วยตนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์.

บทว่า อวิรุทฺธํ ไม่ปองร้าย อธิบายว่า เรากล่าวผู้ไม่ปองร้ายเพราะไม่มีความอาฆาตในโลกิยมหาชน แม้เขาปองร้ายด้วยความอาฆาต ผู้ดับคือ วางอาชญาเสียได้ในชนทั้งหลายผู้มีอาชญาในตน เพราะไม่เว้นจากการให้ประหารคนอื่น เมื่อไม่มีไม้หรือศัสตราในมือ ผู้ไม่ยึดถือเพราะไม่มีความยึดถือในผู้ที่ไม่ความยึดถือ เพราะยึดถือในขันธ์ ๕ ว่า เรา ของเราดังนี้ ผู้เห็นปานนั้นว่า เป็นพราหมณ์.


ความคิดเห็น 24    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 593

บทว่า อารคฺคา บนปลายเหล็กแหลม อธิบายว่า เรากล่าวผู้ที่ทำราคะเป็นต้น และมักจะมีลักษณะลบหลู่คุณของผู้อื่นให้ตกไป เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลมฉะนั้น คือราคะเป็นต้นและมักขะไม่ตั้งอยู่ในจิต เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ตั้งอยู่บทปลายเหล็กแหลมฉะนั้น ว่าเป็นพราหมณ์.

บทว่า อกกฺกสํ คือไม่หยาบ. บทว่า วิญฺาปนึ คือให้รู้ความกันได้. บทว่า สจฺจํ คือ จริง. บทว่า นาภิสเช ไม่ให้ข้อง คือไม่ทำให้ผู้อื่นข้อง ด้วยทำให้เขาโกรธด้วยคำพูด ขึ้นชื่อว่าพระขีณาสพพึงกล่าวคำเห็นปานนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวผู้นั้น ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวบุคคลที่ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ในโลกนี้ในบรรดาอาภรณ์ คือผ้าสาฏกเป็นต้น ยาวหรือสั้น ในบรรดาแก้วมณีและแก้วมุกดาเป็นต้นน้อยหรือใหญ่ งามหรือไม่งามโดยมีค่ามากและค่าน้อย ว่าเป็นพราหมณ์.

บทว่า นิราสยํ คือไม่มีตัณหา. บทว่า วิสํยุตฺตํ คือ พรากจากกิเลสทั้งหมด เรากล่าวผู้ที่ไม่มีตัณหา ผู้พรากจากกิเลสนั้น ว่าเป็นพราหมณ์.

บทว่า อาลยา ได้แก่ ตัณหา. บทว่า อญฺาย อกถํกถี รู้ทั่วถึง คือรู้วัตถุ ๘ ตามความเป็นจริง ไม่มีความสงสัยด้วยความสงสัยในวัตถุ ๘. บท ว่า อมโตคธํ อนุปฺปตฺตํ ความว่า ผู้หยั่งลงสู่อมตะคือนิพพาน เรากล่าวผู้นั้น ว่าเป็นพราหมณ์.

บทว่า อุโภ ความว่าละทิ้งบุญและบาปแม้ทั้งสองอย่าง. บทว่า สงฺคํ คือ ธรรมเป็นเครื่องข้องมีราคะเป็นต้น. บทว่า อุปจฺจคา คือก้าวล่วงแล้ว เรากล่าวบุคคลผู้ไม่เศร้าโศก ด้วยความโศกอันมีวัฏฏะเป็นมูล ผู้ปราศจากธุลี


ความคิดเห็น 25    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 594

เพราะไม่มีธุลีคือราคะเป็นต้นในภายใน ผู้บริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวบุคคลผู้ไม่มีมลทิน คือเว้นจากมลทินมีหมอกเป็นต้น ผู้บริสุทธิ์ คือไม่มีอุปกิเลส ผู้ผ่องใสคือมีจิตผ่องใส ผู้ไม่ขุ่นมัวคือเว้นจากความขุ่นมัวคือกิเลส ผู้สิ้นความยินดีในภพ คือสิ้นตัณหาในภพ ๓ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวภิกษุผู้ล่วงทางอ้อมคือราคะ หล่มคือกิเลส สังสารวัฏฏ์ โมหะ คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นผู้ข้ามโอฆะ ๔ เป็นผู้ถึงฝั่ง เป็นผู้เพ่งด้วยฌานสองอย่าง เป็นผู้ไม่หวั่นไหว เพราะไม่มีตัณหา เป็นผู้ไม่มีสงสัย เพราะหมดความสงสัย เป็นผู้ดับ เพราะดับกิเลส ไม่ยึดมั่นเพราะไม่มีอุปาทาน ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวบุคคลผู้ละกามแม้ทั้งสองในโลกนี้ได้ ไม่มีเรือน ออกบวช สิ้นกาม และสิ้นภพ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ละตัณหาเป็นไปในทวาร ๖ ในโลกนี้ ไม่ต้องการครองเรือน ไม่มีเรือนออกบวช เพราะตัณหาและภพสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์

เรากล่าวผู้ละโยคะอันเป็นของมนุษย์ ได้แก่อายุและกามคุณ ๕ อีกนัยหนึ่ง ได้แก่โยคะอันเป็นทิพย์ ละโยคะอันเป็นของมนุษย์ก้าวล่วงโยคะอันเป็นของทิพย์ได้ พรากจากโยคะ ๔ ทั้งหมด ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ละความยินดี คือยินดีในกามคุณ ๕ ผู้ไม่ยินดีคือกระสันในการอยู่ในป่า ผู้เยือกเย็น คือผู้ดับกิเลสผู้ไม่มีอุปธิ คือไม่มีกิเลสผู้มีความเพียร คือมีความเพียรครอบงำขันธโลกทั้งหมดเห็นปานนี้ตั้งอยู่ ว่าเป็นพราหมณ์.


ความคิดเห็น 26    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 595

เรากล่าวผู้รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายทำให้ปรากฏโดยอาการทั้งปวง ผู้ไม่ข้องเพราะไม่มีกิเลสติด ผู้ไปดีเพราะไปด้วยดีในทางปฏิบัติ ผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ที่เทวดาเป็นต้นไม่รู้คติ สิ้นอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นแล้ว ผู้เป็นอรหันต์เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งหลาย ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ไม่มีกังวลคือการยึดตัณหาในฐานะเหล่านี้ ในกาลก่อนคือ ในขันธ์ที่เป็นอดีต ในภายหลังคือในขันธ์เป็นอนาคต ในท่ามกลางคือในขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน ผู้ไม่มีกังวลด้วยความกังวลมีราคะเป็นต้น ผู้ไม่ยึดถือ เพราะไม่มีความยึดถือไรๆ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้องอาจ เพราะเช่นกับโคอุสภะ เพราะไม่มีความหวาดสะดุ้ง ผู้ประเสริฐ เพราะสูงสุด ผู้เป็นนักปราชญ์ เพราะถึงพร้อมด้วยความเพียร ผู้แสวงหาคุณใหญ่ เพราะแสวงหาศีลขันธ์เป็นต้นใหญ่ ผู้ชนะ เพราะชนะมาร ๓ จำพวก ผู้ล้างคือล้างกิเลสได้หมด ผู้ตรัสรู้ เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ ว่าเป็นพราหมณ์.

เรากล่าวผู้ระลึกชาติก่อนๆ ได้ ผู้เห็นสวรรค์คือเทวโลก ๒๖ และ อบาย ๔ อย่าง ด้วยทิพยจักษุ ผู้บรรลุพระอรหัตกล่าวคือการสิ้นชาติ ว่าเป็นพราหมณ์.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสกะพราหมณ์ โดยคุณธรรมอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า คนเหล่าใดทำความยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด คนเหล่านั้นไม่รู้จักโวหารนี้ อนึ่งความเห็นของคนเหล่านั้นเป็นทิฏฐิชั่ว จึงตรัสสองคาถาว่า สมญฺา เหสา ดังนี้เป็นต้น.


ความคิดเห็น 27    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 596

บทนั้นมีความดังนี้ นามและโคตรที่เขากำหนดกันเป็นบัญญัติในโลก ว่าเป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ เป็นภารทวาชมาณพ เป็นวาเสฏฐมาณพ นี้พึงทราบว่าเป็นเพียงโวหารบัญญัติกันขึ้น. เพราะเหตุไร. เพราะนามและโคตรมาแล้ว เพราะรู้ตามกันมา เพราะนามและโคตรนั้นเขากำหนดรู้กันได้ด้วยญาติ และสาโลหิตในกาลที่เขาเกิดแล้วนั้นๆ นั่นเอง หากไม่พึงกำหนดนามและโคตรไว้อย่างนี้ ใครๆ เห็น ใครๆ ก็จะไม่พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นพราหมณ์ หรือเป็นภารทวาชมาณพ. นามและโคตรที่กำหนดไว้แล้วอย่างนี้ เป็นความเห็นของพวกไม่รู้ซึ่งสืบเนื่องกันมาสิ้นกาลนาน นามและโคตรที่กำหนดไว้สืบเนื่อง เป็นความเห็นกันมาในหัวใจของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้สิ้นกาลนานว่า นี้สักว่าเป็นนามและโคตร กำหนดไว้เพียงสำหรับเรียกชื่อกัน ชนทั้งหลายผู้ไม่รู้ ย่อมเรียกนามและโคตรนั้น ว่าเป็นพราหมณ์โดยชาติ เพราะนามและโคตรนั้นสืบเนื่องกันมา ท่านอธิบายว่า ผู้ไม่รู้เท่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้.

ชนเหล่าใดทำความยึดถือว่าเป็นพราหมณ์โดยชาติ ชนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นเพียงโวหาร อนึ่งความเห็นของชนเหล่านั้นเป็นทิฏฐิชั่ว ครั้นทรงแสดงด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงปฏิเสธวาทะว่าเป็นพราหมณ์โดยชาติโดยตรง และเมื่อจะทรงปลูกฝังวาทะว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม จึงตรัสว่า น ชจฺจา ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ ดังนี้เป็นต้น.

ในคาถานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำมีอาทิว่า กสฺสโล กมฺมุนา เป็นชาวนาเพราะกรรม เพื่อความพิสดารของความด้วยคาถากึ่งหนึ่งนี้ว่า กมุมุนา พฺราหฺมโณ โหติ กมฺมุนา โหติ อพฺราหฺมโณ บุคคลเป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม ไม่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม.


ความคิดเห็น 28    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 597

ในบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมุนา ได้แก่ด้วยเจตนากรรมอันทำให้เกิดการงานทางกสิกรรมเป็นต้น. บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปาททสฺสา ได้แก่ บัณฑิตทั้งหลายเห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ว่า บุคคลเป็นอย่างนี้ด้วยปัจจัยนี้ ดังนี้. บทว่า กมฺมวิปากโกวิทา ฉลาดในกรรมและวิบาก ได้แก่ฉลาดในกรรมและวิบากอย่างนี้ว่า เป็นผู้เกิดในตระกูลอันไม่ควรยกย่องและดูหมิ่นด้วย อำนาจกรรม แม้เกิดเป็นอย่างอื่น ก็เป็นในเพราะกรรมเลวและประณีตให้ผล เพราะความเลวและความประณีต. ก็ด้วยคาถาว่า กมฺมุนา วตฺตตี หมู่สัตว์ อันเป็นไปเพราะกรรม มีความเป็นอย่างเดียวกันว่า สัตวโลก หมู่สัตว์ หรือสัตว์นั่นเอง แต่ต่างกันเพียงคำพูดเท่านั้น. อนึ่ง ในบทว่า กมฺมุนา วตฺตตี นี้ พึงทราบการปฏิเสธด้วยทิฏฐินี้ด้วยบทก่อนว่า อตฺถิ พฺรหฺมา มหาพฺรหฺมา ฯเปฯ เสฏฺโ สชฺชิตา วสี ปิตา ภูตภพฺยานํ พรหม มหาพรหมมีอยู่ ฯลฯ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้มีอำนาจ เป็นผู้ควรแก่ความเจริญงอกงาม. จริงอยู่ โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม คือย่อมเกิดในคติทั้งหลายนั้นๆ โลกนั้นไม่มีใครสร้าง. ด้วยบทที่สองท่านแสดงว่า โลกแม้เกิดขึ้นด้วยกรรมอย่างนี้ แม้ในการเป็นไปก็ย่อมเป็นไปด้วยกรรมในอดีตและปัจจุบัน เสวยสุข และทุกข์ถึงความเลวและประณีตเป็นต้น ย่อมเป็นไป. ด้วยบทที่สามท่านแสดง สรุปความนั้น แม้โดยประการทั้งปวงอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน ย่อมเป็นไปติดอยู่กับกรรมนั่นเอง มิใช่ด้วยอย่างอื่น. ด้วยบทที่สี่ท่าน แสดงความนั้นด้วยอุปมา. บทว่า รถสฺสาณีว ยายโต เหมือนสลักรถที่แล่นไปอยู่ กรรมชื่อว่าเป็นเครื่องผูกพันเพราะความเกิดขึ้น และเพราะความเป็นไปของโลก มิใช่ไม่มีเครื่องผูกพันเกิดขึ้นคือเป็นไปไม่ได้ เหมือนสลักเป็นเครื่อง


ความคิดเห็น 29    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 598

ผูกพันรถที่แล่นไปอยู่ มิใช่ไม่มีเครื่องผูกพันนั้นฉะนั้น เพราะโลกมีกรรมเป็นเครื่องผูกพันอย่างนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้ประเสริฐเพราะกรรมอันประเสริฐ จึงตรัสคาถาที่สองว่า ตเปน คือ ตปะ ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ตเปน ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์. บทว่า พฺรหฺมจริเยน ได้แก่ ความประพฤติอันประเสริฐที่เหลือจากที่กล่าวแล้วอาศัยการศึกษา. บทว่า สํยเมน คือ ด้วยศีล. บทว่า ทเมน คือ ด้วยปัญญา. บุคคลย่อมเป็นพราหมณ์เพราะกรรมอันประเสริฐ คือเป็นพรหมนั้น เพราะเหตุไร เพราะกรรมนี้นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้ ท่านอธิบายว่า ความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดคือกรรมนี้. ปาฐะว่า พฺรหฺมานํ ดังนี้บ้าง. บทนั้น มีความดังนี้ ชื่อว่า พฺรหฺมานํ เพราะนำมาซึ่งความเป็นพรหม. ท่านอธิบายว่า นำความเป็นพราหมณ์มาให้.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สองดังนี้. บทว่า สนฺโต คือมีกิเลสสงบ แล้ว. บทว่า พฺรหฺมา สกฺโก เป็นพรหมผู้องอาจ คือเป็นทั้งพรหมเป็นทั้งผู้องอาจ. ท่านอธิบายว่า ผู้ที่เป็นอย่างนั้นมิใช่เป็นพราหมณ์อย่างเดียว ที่แท้เขาเป็นทั้งพรหมเป็นทั้งผู้องอาจของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้ง ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด. บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาวาเสฏฐสูตรที่ ๙ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา