[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 812
ทุติยปัณณาสก์
สีติวรรคที่ ๔
๑. สีติสูตร
ว่าด้วยผู้ควร และไม่ควรบรรลุ ความเป็นผู้เย็น
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 812
สีติวรรคที่* ๔
๑. สีติสูตร
ว่าด้วยผู้ควร และไม่ควรบรรลุ ความเป็นผู้เย็น
[๓๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควร เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งความเป็นผู้เย็นอย่างยิ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ๑ ไม่ประคองจิต ในสมัยที่ควรประคอง ๑ ไม่ยังจิตให้ร่าเริง ในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ๑ ไม่วางเฉยจิต ในสมัยที่ควรวางเฉย ๑ เป็นผู้น้อมไปในธรรมเลว ๑ และเป็นผู้ยินดียิ่ง ในสักกายะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งความเป็นผู้เย็นอย่างยิ่ง.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควร เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งความเป็นผู้เย็นอย่างยิ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมข่มจิต ในสมัยที่ควรข่ม ๑ ย่อมประคองจิตใน สมัยที่ควรประคอง ๑ ย่อมยังจิตให้ร่าเริง ในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ๑ ย่อมวางเฉยจิต ในสมัยที่ควรวางเฉย ๑ เป็นผู้น้อมไปในธรรมประณีต ๑ และเป็นผู้ยินดียิ่ง ในนิพพาน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควรกระทำให้แจ้ง ซึ่งความเป็นผู้เย็นอย่างยิ่ง.
จบสีติสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 813
สีติวรรคที่ * ๔
อรรถกถาสีติสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในสีติสูตรที่ ๑ แห่งสีติวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้:-
บทว่า สีติภาวํ ได้แก่ ความเยือกเย็น. ในบทว่า ยสฺมึ สมเย จิตฺตํ นิคฺคณฺหิตพฺพํ เป็นต้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ธรรมดาจิต ควรข่มไว้ด้วยสมาธิ ในเวลาที่ฟุ้งซ่าน. ควรข่มด้วยความเพียร ในเวลาที่จิตตกไปตามโกสัชชะ (ความเกียจคร้าน). ควรให้ร่าเริงด้วยสมาธิ ในเวลาที่จิตขาดความแช่มชื่น. ควรเข้าไปเพ่ง ด้วยอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในเวลาที่จิตเป็นไปสม่ำเสมอ.
จบอรรถกถา สีติสูตรที่ ๑
* อรรถกถาเป็นวรรคที่ ๙