สัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณ
โดย เมตตา  14 พ.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 12346

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 161

๗๒ - ๗๓. อรรถกถาสัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณุทเทส ว่าด้วย สัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณ

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สพฺพญฺญุตญาณํ อนาวรณญาณํญาณเป็นเครื่องรู้ธรรมทั้งปวง ญาณอันไม่มีอะไรติดขัด นี้ ดังต่อไปนี้ พระพุทธะพระองค์ใด ทรงรู้ธรรมทั้งปวงมีประเภทแห่งคลองอันจะพึงแนะนำ ๕ ประการ ฉะนั้น พระพุทธะพระองค์นั้น ชื่อว่าสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวง, ความเป็นแห่งพระสัพพัญญู ชื่อว่าสัพพัญญุตา, ญาณ คือพระสัพพัญญุตาญาณนั้น ควรกล่าวว่า สัพพัญญุตาญาณ ท่านก็กล่าวเสียว่า สัพพัญญุตญาณ. จริงอยู่ ธรรมทั้งปวงต่างโดยเป็นสังขตธรรมเป็นต้น เป็นครรลองธรรมที่จะพึงแนะนำมี ๕ อย่างเท่านั้น คือ
สังขาร ๑, วิการ ๑, ลักขณะ ๑. นิพพาน ๑ และ บัญญัติ ๑. ฯลฯ
อะไรๆ อันพระตถาคตเจ้านั้นไม่เห็นแล้วไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง อะไรๆ ที่ไม่รู้แจ้งและไม่ควรรู้ ก็ไม่มี, สิ่งใดที่ควรแนะนำมีอยู่ พระตถาคตเจ้าได้รู้ธรรมทั้งหมดนั้นแล้ว เพราะเหตุนั้น พระตถาคตเจ้าจึงชื่อว่า สมันตจักขุ. ฉะนั้น ญาตสัพพัญญุตาเท่านั้น ย่อมถูกต้อง. ก็เมื่อเป็นเช่นนี้สัพพัญญุตญาณนั่นแล ย่อมมีได้โดยกิจ โดยอสัมโมหะ โดยการสำเร็จแห่งเหตุ โดยเนื่องกับอาวัชชนะ ด้วยประการฉะนี้. อารมณ์เป็นเครื่องกั้นญาณนั้นไม่มี เป็นญาณที่เนื่องด้วยอาวัชชนะนั่นเอง ฉะนั้นญาณนั้นจึงชื่อว่า อนาวรณะ - ไม่มีการติดขัด, อนาวรณะ นั้นนั่นแหละท่านเรียกว่า อนาวรณญาณ ด้วยประการฉะนี้.