- การที่จะรู้ว่า จิตใดเกิดดับสืบต่อกันอย่างไรนั้น เป็นปัญญาขั้นฟัง เพียงแต่เริ่มที่จะเข้าใจแม้แต่ในขณะที่กำลังฟังว่า สภาพที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะว่ากำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ฉะนั้น ลักษณะเห็นขณะนี้มีจริงๆ เป็นอนัตตา
- การอบรมเจริญปัญญานั้นเป็นจิรกาลภาวนา (การอบรมเป็นเวลานาน)
- ส่วนใหญ่แล้วจะบอกว่ามีจิต แต่ไม่ทราบว่าขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน
- การเกิดดับนั้นรวดเร็วมากจนกระทั่งเมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็มีการจดจำสิ่งที่ปรากฏเหมือนไม่ดับว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เป็นโลกียะนั้นประจักษ์ความจริงของโลก คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วดับในขณะนี้
- ถ้าพูดถึงธรรมชาติ บางคนอาจคิดถึงภูเขา ต้นไม้ น้ำทะเล ดาว ฯลฯ แต่ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว เป็นสิ่งซึ่งมีจริงๆ เป็นสิ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏแล้วดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงธรรมชาติ ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า ธรรมชาติในทางธรรม หรือธรรมชาติในทางโลก ธรรมชาติในทางธรรมก็คือธรรม หมายถึงไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นธรรม เป็นธาตุ ใช้คำว่าธาตุก็ได้ ธรรมก็ได้
- ปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนจริงๆ ปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ที่มีลักษณะจริงๆ เสียงมีจริง โลภะความโลภ ความติดข้อง ความโกรธ ความขุ่นเคือง เป็นสิ่งมีจริง เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
- ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ถึงไม่เรียกชื่อของทุกคน แต่ก็ยังมีรูป มีจิต และมีเจตสิก จำแนกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ นามธรรมและรูปธรรม จิต เจตสิก นิพพานเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม
- จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่น เห็น เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เช่นพอใจ ไม่พอใจ ในขณะที่เห็น ความพอใจ ไม่พอใจนั้น เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต
- โลภะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป ขณะที่เห็นในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป
- ผู้ที่มีปรมัตถธรรมปรากฏ แสวงหาปรมัตถธรรม
- เมื่อศึกษาพระธรรมแล้วก็รู้ว่าพบตลอดเวลา ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส แข็งมีจริงเป็นปรมัตถธรรม ขณะกำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงเป็นปรมัตถธรรม เสียงในขณะที่กำลังได้ยินมีจริงเป็นปรมัตถธรรม คิดนึกมีจริงเป็นปรมัตถธรรม
- การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องทำขึ้นมา แต่เป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจถูกตามสภาพธรรมขณะนี้ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
- เพราะว่าจริงๆ นั้น ไม่มีคนเลย มีแต่สภาพธรรม เวลานี้ทุกคนรู้สึกเหมือนมีโลก และกำลังอยู่ในโลก แต่ถ้ารู้ความจริงก็จะรู้ว่า ที่โลกปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งๆ เช่น โลกทางตาปรากฏแล้วดับไป ไม่เหลือเลย ขณะที่เสียงปรากฏก็เป็นโลกทางหู เมื่อเสียงปรากฏทางหูแล้วก็ดับไป
- ขณะที่กำลังคิดถึงจิตคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นจิตของบุคคลนั้นเองที่กำลังคิดเรื่องคนอื่นเท่านั้น
- จิตมีรูปเป็นที่เกิดได้ ๖ รูป คือ "วัตถุ ๖" ได้แก่
จักขุปสาทรูป เป็น จักขุวัตถุ คือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ จิตเห็นในขณะนี้
โสตปสาทรูป เป็น โสตวัตถุ ตือเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ จิตได้ยินขณะนี้
ฆานปสาทรูป ที่กลางจมูก เป็นฆานวัตถุ คือเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ จิตได้กลิ่น
ชิวหาปสาทรูป เป็นชิวหาวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ จิตที่ลิ้มรส
กายปสาทรูป ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย เป็นกายวัตถุ คือเป็นที่เกิดของของกายวิญญาณ ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเย็นบ้าง หรือร้อนบ้าง หรืออ่อนบ้าง หรือแข็งบ้าง
หทยรูป เป็น หทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นๆ
- ขณะแรกที่เกิดในครรภ์ของมารดานั้น รูปเล็กจนมองไม่เห็นเลย ขณะนั้นจะมีกลุ่มของรูป ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า "กลาป" ๓ กลาป เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มของกายปสาทรูป กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มของภาวรูป กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มของหทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต - ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้เลย ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับที่รูปทุกขณะๆ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดนั้น ยังไม่มีรูปร่างของหัวใจเลย แต่มีหทยรูปเป็นที่อาศัยเกิดของปฏิสนธิจิต และเมื่อเจริญเติบโตขึ้น รูปร่างกายสมบูรณ์ครบถ้วนขึ้น หทยรูปจะเกิดที่กลางหัวใจ หทยรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม - จิตที่ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมนั้น ไม่ใช่อยู่ที่อื่น แต่อยู่ที่ทุกคน ทุกคนมีจิตเห็น ทุกคนมีจิตได้ยิน มีจิตได้กลิ่น มีจิตคิดนึก มีโลภมูลจิต มีโทสมูลจิต มีมหากุศลจิต มีทุกอย่าง เพราะฉะนั้น การรู้เรื่องจิตมากขึ้น ก็จะทำให้ระลึกรู้ ลักษณะของจิต ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงรู้เรื่องจิต แต่รู้สภาพของจิตที่กำลังเป็นจิตในขณะนี้ - สมาธิ เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตและดับพร้อมจิตทุกขณะ แต่ว่า ขณะใดที่ปรากฏลักษณะอาการของสมาธิ แสดงว่า ขณะนั้น จิตเกิดดับๆ รู้อารมณ์เดียวนานๆ จนปรากฏเป็นลักษณะที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น แต่สมาธิไม่ใช่ปัญญา - ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท จะต้องมีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน มีใครบ้างที่เกิดมาแล้วไม่ตาย มีใครบ้างที่เกิดมาแล้ว ไม่สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่คนอื่นทำให้ การเกิดในโลกนี้ก็เกิดเพราะกรรมของตน และเมื่อเกิดมาแล้ว ชีวิตดำเนินไปแต่ละวัน ก็เพราะกรรมของตนอีก ฉะนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเหตุว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้นและโดยเฉพาะ ทุกคนมีกรรมของตนเองเป็นปัจจัยให้ผลของกรรมเกิดขึ้น - ผู้ไม่รู้หนังสือ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และมีการฟังพระธรรม มีการพิจารณา เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาย่อมสามารถค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่ง ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะว่าจิตได้ยินไม่ใช่อยู่ในหนังสือ แต่ในขณะนี้จิตกำลังได้ยิน ฉะนั้น ผู้ที่ฟังแล้วจะรู้ความต่างกันของปัญญาว่า ปัญญาขั้นฟังเป็นเพียงขั้นรู้เรื่องของธรรม ปัญญาที่เข้าใจเรื่องของธรรม แล้วระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น และสามารถจะเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจเรื่องของธรรมเท่านั้น นั่นเป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้ทั่ว จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม และการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น ปัญญามีหลายขั้น - ขณะใดสภาพจิตไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด - อนัตตา หมายความว่า ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตน ไม่เป็นตน สุญญตา เป็นความว่างจากตน ไม่ใช่ว่างจากอย่างอื่น - บุคคลที่ถูกใช้คำว่า "ผีเข้า" ขณะนั้นไม่รู้สึกตัว เป็นสภาพของจิตที่ไม่รู้สึกตัว แล้วก็บุคคลอื่น สามารถที่จะมีพลังจิตที่จะทำให้เกิดรูป หรือเกิดเสียงจากรูปของบุคคลนั้นกระทบกันก็ได้ ทำให้เกิดเสียงต่างๆ ในขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่เราบอกว่าผีเข้า จะใช้คำว่า เข้าทรงหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นจริงก็หมายความว่า จิตของบุคคลนั้นยังอยู่ในสภาพที่ขาดความรู้สึก โดยที่จิตของอีกคนหนึ่งสามารถมีพลังจิตที่จะบังคับให้มีรูปการเคลื่อนไหว หรือทำให้เกิดเสียงได้ - การฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น มีประโยชน์มาก เพราะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง พิจารณาติดตามต่อไปย่อมจะได้ความเข้าใจและได้เหตุผลชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจะเห็นโทษของความเห็นผิด ความเข้าใจผิด กิเลสอกุศลทุกอย่างแม้จะเล็กน้อย แต่ก็เป็นโทษเป็นภัย เป็นเหตุให้กาย วาจา เป็นไปในทางทุจริต ซึ่งมีผลมากน้อยแค่ไหนตามกรรมที่กระทำนั้น - ไม่ว่าสมัยใดก็ตาม ก็จะต้องฟังพระธรรม พิจารณาใคร่ครวญเหตุผลให้เข้าใจถูกต้อง เพื่อเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น เพราะสติเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ คนที่พยายามบังคับ จะไม่รู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ความเข้าใจสำคัญที่สุด ถ้าเข้าใจไม่ถูก มีความเห็นไม่ถูก ทุกอย่างก็ต้องผิดตามไปหมด - พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์โดยทรงแสดงธรรม เพื่อให้ผู้ฟังมีปัจจัยที่จะเจริญสติขึ้น - สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฎได้ ถ้าผู้นั้นศึกษา เข้าใจสภาพธรรม เจริญสติ แต่ถ้าผู้นั้น ไม่เข้าใจสภาพธรรม สติก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม รูปใดๆ เลย เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมทั้งสิ้น ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนาม เป็นรูป โลภะ โทสะ เห็น ได้ยิน คิดนึก สุข ทุกข์ ต่างๆ เหล่านี้ ระลึกรู้สภาพ ลักษณะของธรรมนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด ต่างกัน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตนเลย จึงวางกฏเกณฑ์ใดๆ ไม่ได้ - ไม่ใช่ฟังแล้วให้เชื่อ แต่ต้องมีเหตุผลด้วย พิจารณาธรรมด้วย เลือกเฟ้นเหตุผลด้วยความแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) - นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคิดพิจารณา เดี๋ยวนี้มีความสงสัย เดี๋ยวนี้มีความไม่รู้ เดี๋ยวนี้มีความเห็นผิด จะหมดได้ก็เมื่อ เดี๋ยวนี้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่หวังคอย และไม่เลือก เพราะว่ากำลังเห็นผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ สงสัยในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ อย่างนี้แล้วเหตุและผลจะตรงกันไหม - ความรู้ขั้นการฟังนั้นเพียงละความไม่รู้ขั้นที่ไม่เคยฟัง แต่การละคลายความยึดถือ นามและรูปที่กำลังปรากฏ จะต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของ นามและรูปที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้จริงๆ ฉะนั้น เมื่อเข้าใจโลกในวินัยของพระอริยะ ก็ไม่มีอวิชชาที่จะปิดกั้นไม่ให้ สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น - ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนไปมากมายสักเท่าไรก็ตาม โลกในวินัยของพระอริยเจ้านั้นไม่เปลี่ยน เพราะไม่ว่าสมัยใดก็มีโลกปรากฏเพียง ๖ โลก คือ ๖ ทางเท่านั้น มีอะไรบ้างที่เป็นของใหม่จากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลกในวินัยของพระอริยเจ้านั้น ไม่ว่าจะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกายแล้วดับไป สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลยสักอย่างเดียว - ไม่ว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็อบรมนิสัยใหม่ แทนที่จะหลงลืมสติก็ระลึกได้ว่าที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทางตา ถ้าอบรมเจริญปัญญาบ่อยๆ จะมีนิสัยใหม่ที่ละคลายอนุสัยจนกว่าจะดับหมดสิ้นไปเป็นประเภทๆ ได้ - ชีวิตของบรรพชิตเป็นชีวิตที่มีศรัทธาประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย แต่ก็เป็นชีวิตจิตใจของปุถุชนนี่เอง ฉะนั้น ผู้ที่เป็นปุถุชน ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เคยรู้ตัวบ้างไหม ว่ามีกิเลสมากน้อยเท่าไร ถ้าดูคนอื่นอาจจะเห็นชัดว่าคนอื่นนั้นกิเลสมากเหลือเกิน แต่กิเลสของตัวเองก็สลับซับซ้อนซ่อนลึกสุดประมาณได้ ... เพราะสติไม่ได้ระลึกจึงไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่เพียงเห็นกิเลสของตัวเอง หากยังรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นว่า เป็นเพียงนามหรือรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่ตัวตน - การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่เพียงแต่จะให้รู้จักตัวเองเท่านั้น แต่ยังทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงด้วย ... เป็นชีวิตธรรมดาที่ผู้เจริญสติจะต้องพิจารณานามและรูปละเอียดขึ้น มากขึ้น เพิ่มขึ้น จึงค่อยๆ ละคลายการยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตนลดน้อยลง - ความหนาแน่นของกิเลสของคนในสมัยโน้นไม่ได้น้อยกว่าคนในสมัยนี้ แต่คนสมัยโน้น ได้อบรมเจริญอินทรีย์มาแล้ว จึงละความเห็นผิด ความยึดมั่นนามรูปได้ด้วยการอบรมเจริญหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คนในสมัยโน้นกับคนในสมัยนี้ ก็มีตาเหมือนกัน มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีกิเลสเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ควรคิดว่าสมัยนี้จะหมดโอกาสหรือว่าสุดวิสัยที่จะอบรมเจริญสติ อบรมเจริญปัญญา - คิดถึงชีวิตของเราจริงๆ เป็นไปได้ไหม ขณะที่กำลังรับประทานอาหารมีกิเลสไหม มีกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา ขณะนั้นก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง - "สิ่งทั้งปวง" สรรพสูตร ... ก็อะไรเป็นสิ่งทั้งปวง จักษุ (จักขายตนะ) กับ รูป (รูปายตนะ) หู (โสตายตนะ) กับ เสียง (สัททายตนะ) จมูก (ฆานายตนะ) กับ กลิ่น (คันธายตนะ) ลิ้น (ชิวหายตนะ) กับ รส (รสายนะ) กาย (กายายตนะ) กับ โผฏฐัพพะ (โผฏฐัพพายตนะ) ใจ (มนายตนะ) กับ ธรรม (ธัมมายตนะ) อันนี้เรากล่าวว่าสิ่งทั้งปวง - ปัญญานั่น ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็รู้สภาพธรรมในขณะนั้น ฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาขั้นไหนจะสมบูรณ์ ก็อยู่ที่เหตุ ไม่ใช่อยู่ที่ความปรารถนา ไม่ใช่อยู่ที่ความต้องการ ไม่ใช่อยู่ที่กาลเวลาว่าเจริญสติปัฏฐานมา ๗ วันแล้ว ๗ เดือนแล้ว หรือว่า ๗ ปีแล้ว เมื่อเหตุไม่สมควรแก่ผล จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๒๕ ปี ๕๕ ปี หรือเป็นกัปป์ๆ ความสมบูรณ์ของปัญญาสักหนึ่งก็เกิดไม่ได้ และเมื่อปัญญาอบรมเจริญจนสมบูรณ์แล้ว ย่อมมีปัจจัยเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน ก็ไม่มีใครเป็นอัตตาบังคับได้ ว่าจะต้องเกิดสมบูรณ์ในป่า หรือว่าเกิดในบ้าน เกิดในขณะกล่าวธรรมเทศนา สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย การบรรลุธรรมก็ต้องแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยด้วย - กรรมที่ไม่ใคร่ครวญแล้วทำ หนัก (สุนทรสมุทท) - บุคคลควรพิจารณาเสียก่อนแล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ (จูฬราหุโลวาทสูตร) - เธอทั้งหลายประชุมกันแล้วพึงกระทำอาการ ๒ อย่างคือ ธัมมีกถา (กถาอันมีธรรม คือถ้อยคำอันประกอบด้วยธรรม) หรือดุษณีภาพอันเป็นอริยะ (ความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ) - "ถ้าว่าภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญแล้วไซร้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน มิใช่ผู้เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่"ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ คุณ umpai ด้วยครับ
เป็นประโยชน์มาก
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่ ... พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ขออนุโมทนาด้วย ครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ