ทาน ศีล ภาวนา มีผลอย่างไร
ผลย่อมเป็นไปตามเหตุ คือ กุศลขั้นทานทำให้มีโภคสมบัติ กุศลขั้นศีลทำให้ เกิดในภพที่ดี กุศลขั้นภาวนาทำให้เกิดเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่ควรห่วงหรือกังวล ใดๆ เลย ค่อยๆ สะสมอบรมตามกำลัง ได้เท่าไหร่ก็คือเท่านั้น ไม่ใช่เรา เป็นธรรมะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในชีวิตประจำวัน กุศลจิตกับอกุศจิตก็เกิดดับสลับกัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนแล้วอกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่า จะเห็นได้ว่ากุศลจิตเกิดน้อยมาก ในเรื่องของกุศลไม่ได้-จำกัดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่าสภาพจิตที่ดีงามนั้นย่อมเป็นไปในทาน การสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุข แก่บุคคลอื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าไม่มีวัตถุที่จะให้ ก็ไม่ต้องเดือดร้อน ให้เมื่อตนเองพร้อม เพราะว่าทานไม่ได้มีเฉพาะวัตถุทานเท่านั้น ยังมีอภัยทาน คือไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธผู้อื่น ให้อภัยในความผิดที่ผู้อื่นได้กระทำก็เป็นทานเหมือนกัน เป็นไปในศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม งดเว้นทุจริตประการต่างๆ และ ประพฤติสุจริตประการต่างๆ ซึ่งเป็นไปทางกาย และ ทางวาจา ผู้ที่จะมีศีลที่บริสุทธิบริบูรณ์โดยที่ไม่มีการก้าวล่วงอีกเลยต้องเป็นพระโสดาบันในฐานะที่เป็นปุถุชน ย่อมมีการล่วงศีลบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว แต่ก็สามารถที่จะเริ่มต้นขัดเกลาตัวเองใหม่ได้ ด้วยความตั้งใจจริงที่จะไม่ล่วงอีก เป็นไปในภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา สั่งสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ภาวนานั้นจะขาดปัญญาไม่ได้เลย การอบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ท่านจะไม่เว้นโอกาสของการเจริญกุศลเลย เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น (ไม่หวังผล และ ไม่กังวลใจด้วย) บางคราวเป็นโอกาสของทาน บางคราวเป็นโอกาสของศีล ที่สำคัญจะไม่ขาดการฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ศีล ๕ เป็นมหาทาน คือให้ความไม่มีเวร ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ผู้รักษาศีลประกอบ ด้วยปัญญา คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเหตุให้บรรลุ มรรคผล นิพพาน หรือเป็น เหตุให้เกิดในสุคติภูมิ ผู้ที่มีศีลเป็นเหตุให้ได้ซึ่งสวรรค์สมบัติ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติค่ะ
สาธุ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ทาน หรือ การให้นั้น โดยทั่วไปจะเข้าใจเพียงการสละวัตถุ แต่ทานการให้นั้นกว้างขวาง ครอบคลุมหลายความหมาย เช่น การรักษาศีลท่านเรียกว่าเป็นมหาทานคือให้ความไม่ มีภัย ผู้ที่มีศีลย่อมให้ความไม่มีภัยกับผู้อื่นคือให้ความปลอดภัยโดยไม่ฆ่า ให้ความไม่มี- ภัยโดยไม่ลักสิ่งของ เป็นต้น การทำกุศลไม่ใช่หวังผลของกุศลแต่เพราะเข้าใจว่ากุศล เป็นสิ่งที่ดี เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ซึ่งทุกอย่างก็เป็นธรรมและเป็นอนัตตาตามกำลัง ของปัญญา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่าจะให้กุศลนี้เกิดหรือไม่เกิด แต่ในการอบรม ปัญญาคือการรู้ความจริงว่าขณะที่คิดจะให้หรือไม่ให้เป็นธรรม เข้าใจตรงนี้และที่สำคัญ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ธรรมก็จะทำหน้าที่ปรุงแต่งให้เห็นประโยชน์ของการให้ แม้มีน้อยก็ ให้ได้เพราะปัญญาเจริญขึ้นนั่นเองครับ ไม่ประมาทในการเจริญทุกประการครับ
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓-หน้าที่ 450
สจฺจํ ภเณ น กุชฺเฌยฺย ทชฺชา อปฺปสฺมิ ยาจิโต เอเตหิ ตีหิ ฐาเนหิ คจฺเฉ เทวาน สนฺติเก "บุคคลควรกล่าวคำสัตย์ ไม่ควรโกรธ ถึงถูก เขาขอแม้มีน้อย ก็พึงให้ บุคคลพึงไปในสำนักของเทวดา ทั้งหลายได้ ด้วยฐานะ ๓ นั่น"
บทว่า ยาจิโต ความว่า บรรพชิตผู้มีศีล ชื่อว่าผู้ขอ ความจริงบรรพชิตเหล่านั้น ไม่ขอเลยว่า "ขอท่านจงให้" ย่อมยืนอยู่ที่ประตูเรือนก็จริง ถึงกระนั้นโดยอรรถก็ชื่อว่า ย่อมขอทีเดียว บุคคลอันผู้มีศีลขอแล้วอย่างนั้น เมื่อไทยธรรมแม้เล็กน้อยมีอยู่ ก็พึง ให้แม้เพียงเล็กน้อย
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ผลย่อมไหลมาแต่เหตุ ผลย่อมเป็นไปตามเหตุ ผลของกุศลทุกประการ เมื่อถึงกาลอันสมควร ย่อมต้องให้ผลเป็นสุขแน่นอน จึงไม่ควรหวังหรือเป็นห่วงในผล เพราะเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ย่อมได้รับผลตามเหตุที่ได้กระทำไว้ ทานที่บุคคลกระทำกันนั้นพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้หลายประการ แต่ทานที่จะมีผลมาก และมีอานิสงส์มากนั้น ไม่ได้ทรงแสดงว่าขึ้นอยู่กับจำนวนทรัพย์เป็นสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับว่าทานนั้นจะต้องเป็นทานที่กระทำด้วยความเห็นถูก คือ มีปัญญาเห็นโทษภัยของกิเลส จึงน้อมไปที่จะสละสิ่งที่ตนติดข้อง เพื่อประโยชน์ตน โดยขัดเกลาความตระหนี่และความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยทำให้ผู้รับเป็นสุข ทานประเภทนี้ เป็นทานบารมี เป็นการให้เพื่อปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตที่ดีงาม โดยชำระ มลทินคืออกุศล ด้วยปัญญา
ปัญญา เมื่อเกิด ย่อมตามรักษาจิตไม่ให้ตกไปในอกุศล ตามรักษาจิตไม่ให้เดือดร้อนไปกับความเป็นไปของโลกธรรม ทำให้เป็นผู้ที่มั่นคงในกรรมและผลของกรรม ในเมื่ออดีตอกุศลกรรมทำให้ต้องเป็นบุคคลผู้ยากไร้ แม้รู้ว่ามีของที่จะสละให้ผู้อื่นน้อย แต่ก็ไม่เดือดร้อนว่ามีให้น้อย หรือเมื่อไม่มีให้ ก็ไม่เดือดร้อนว่าไม่มีให้ ปัญญาทำให้เข้าใจธรรมตามเป็นจริง ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท ผู้มีปัญญา แม้ว่าจะเป็นบุรุษเข็ญใจในทางโลก แต่ในทางธรรมแล้ว ผู้นั้นเป็นบุรุษประเสริฐ
...ขออนุโมทนาครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ ขออนุโมทนา ฯ
ขออนุโมทนาครับ