ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสียโดยแท้.
โดย pirmsombat  24 มิ.ย. 2554
หัวข้อหมายเลข 18604

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 599
…………………..

[๙๔๘] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่นพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ อนึ่งภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสียโดยแท้.ความโกรธและความดูหมิ่น[๙๔๙] ชื่อว่า ความโกรธ ในคำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น คือ ความอาฆาต ความมุ่งร้าย ฯลฯ

ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพราะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต ชื่อว่า

ความดูหมิ่น คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมดูหมิ่นผู้อื่น โดยชาติบ้าง

โดยโคตรบ้าง ฯลฯ โดยวัตถุอื่นๆ บ้าง. คำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจ

ความโกรธและความดูหมิ่น ความว่า ไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความ

ดูหมิ่น คือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความโกรธ

และความดูหมิ่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธ

และความดูหมิ่น.รากของความโกรธและความดูหมิ่น

[๙๕๐] รากแห่งความโกรธ ในคำว่า พึงขุดรากความโกรธและ

ความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ เป็นไฉน อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ

อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ (แต่ละอย่าง) เป็นรากแห่งความโกรธ.

รากแห่งความดูหมิ่นเป็นไฉน อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ

อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ (แต่ละอย่าง) เป็นรากแห่งความดูหมิ่น.

คำว่า พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ ความว่า พึงขุด

รื้อ ถอน ฉุด กระชาก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี

ซึ่งความโกรธและความดูหมิ่นเสียดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงขุด

รากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่.

ว่าด้วยที่รัก ๒ อย่าง

[๙๕๑] บทว่า อถ ในคำว่า อนึ่ง ภิกษุ เมื่อปราบก็พึงปราบที่รัก

และที่เกลียดชังเสียโดยแท้ เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสัค เป็นบทปท-

ปูรณะ ศัพท์ที่ประชุมอักขระ เป็นศัพท์สละสลวยด้วยพยัญชนะ เป็นลำดับ

บท. ชื่อว่าเป็นที่รัก ได้แก่ที่รัก ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑ สัตว์เป็น

ที่รักเป็นไฉน สัตว์ในโลกนี้เป็นผู้ปรารถนาความเจริญ ปรารถนาประโยชน์

เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส

แก่บุคคลนั้น คือ เป็นมารดาบิดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง บุตร

ธิดา มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต (ผู้สืบสาย) สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าเป็น

ที่รัก. สังขารเป็นที่รักเป็นไฉน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อัน

เป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นที่รัก ชื่อว่าที่เกลียดชัง ได้แก่เป็นที่เกลียดชัง ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑ สัตว์เป็นที่เกลียดชังเป็นไฉน

สัตว์ในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ปรารถนาความเจริญ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็น

ประโยชน์เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่ปลอดโปร่ง

จากโยคกิเลส ปรารถนาจะปลงเสียจากชีวิต แก่บุคคลนั้น สัตว์เหล่านี้

ชื่อว่าเป็นที่เกลียดชัง. สังขารเป็นที่เกลียดชังเป็นไฉน รูป เสียง กลิ่น

รส โผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นที่เกลียดชัง.

คำว่า โดยแท้ เป็นคำกล่าวโดยส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย

เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองส่วน เป็น

คำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าวมิได้รวมกัน เป็นคำกล่าวไม่ผิด.

คำว่า โดยแท้นี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่. คำว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบ

ก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสียโดยแท้ ความว่า ภิกษุเมื่อปราบก็พึง

ปราบ เมื่อย่ำยีพึงย่ำยีซึ่งที่รักและที่เกลียดชัง ที่ยินดีและยินร้าย สุขและ

ทุกข์ โสมนัสและโทมนัส อิฐารมณและอนิฐารมณ์ เพราะฉะนั้น

จึงชื่อว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสียโดยแท้

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธ และความดูหมิ่น

พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ อนึ่ง

ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสียโดยแท้.



ความคิดเห็น 1    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 24 มิ.ย. 2554

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ตรงข้อความว่า ความเพราะวาจาชั่ว (บรรที่ 3 นับจากข้อ [๙๔๙] ลงมา น่าจะ

ตกคำหรือข้อความอะไรไปหน่อยหนึ่งนะครับ

และตรงบรรทัดสุดท้าย คำว่า ภิกษุเนื้อปราบ ขอท่านญาติธรรมผู้อ่านโปรด

ทราบว่าพิมพ์พลาดไปนิดหน่อยครับ คำที่ถูกต้องคือ ภิกษุเมื่อปราบ ครับ

ขออนุโมทนากับท่าน pirmsombat ที่มีกุศลจิตนำธรรมะดีๆ มาฝากญาติธรรม

ครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 2    โดย nong  วันที่ 25 มิ.ย. 2554

ละเอียดและยาก ต้องค่อยๆ ใช้เวลาอ่านและพิจารณาตาม

ขออนุโมทนาคุณหมอค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย pirmsombat  วันที่ 25 มิ.ย. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาคุณนาวาเอกทองย้อย คุณ nong และทุกท่านมากครับ

ช่วยแนะนำให้ดี เรียบร้อย เป็นพระคุณมากครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 25 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ ก็ไม่พึงทำสัตว์และสังขารให้เป็นที่รัก เพราะความติดข้องนำมา

ซึ่งความทุกข์ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่นางวิสาขาว่า มีรักหนึ่งก็ทุกข์หนึ่ง มี

รักร้อยก็ทุกข์ร้อยค่ะ