การเพ่งโทษติเตียนบุคคลอื่น
โดย vipanapa  16 มิ.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 4015

การที่เราพูดถึงบุคคลอื่น ในลักษณะของการวิพากษ์ วิจารณ์ ต่างจากการเพ่งโทษติเตียนอย่างไร? เพราะในแต่ละวันมักจะพูดถึงแต่เรื่องของคนอื่นเสมอๆ ซึ่งจะเป็นการพูดทั้งในด้านบวก และลบ ทั้งที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัว หรือบางคนเราไม่ได้รู้จักเลย เพียงแค่เขาเป็นบุคคลสาธารณะ เราก็พูดถึงเขาเหมือนดังว่าเรารู้จักเขาดี ทำอย่างไรจึงจะรักษาใจตัวเองให้สำรวมระวังในเรื่องนี้



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 17 มิ.ย. 2550

การที่เราพูดถึงบุคคลอื่น ในลักษณะของการวิพากษ์ วิจารณ์ ต่างจากการติเตือนก็ได้คือ อยู่ที่เจตนา เช่น เราพูดถึงนาย ก. ในทางเสียหาย เพื่อให้ผู้ฟังเกลียดชังนาย ก.เจตนาส่อเสียด เพื่อให้ผู้ฟังรักตนหรือให้เกลียดชังนาย ก. แต่ถ้าพูดติเตียนผู้อื่นโดยมุ่งจะตำหนิ ด่าว่าเพียงอย่างเดียว เป็นผรุสวาจา (เจตนาด่า) แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลายให้เป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ ทรงเตือนมิให้สาวกประมาณในบุคคล คือ ถ้าไม่รู้จริงๆ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าแล้วไม่ควรประมาณในบุคคล เพราะจะทำให้มีโทษถึงขนาดปิดกั้นมรรคผลและสวรรค์ได้ ดังข้อความในมิคสาลาสูตรว่า

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่

อย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล [มิคสาลาสูตร]


ความคิดเห็น 2    โดย wannee.s  วันที่ 17 มิ.ย. 2550

การเพ่งโทษของคนอื่นเป็นอกุศลจิต เป็นวจีทุจริต ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นส่อเสียด คำหยาบ มุสา เพ้อเจ้อ แต่ถ้าจะสำรวมระวังก็ต้องพูดน้อยมีสติเมื่ออยู่กันหลายคน

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่

ไม่พึงยกตน ไม่พึงข่มบุคคลเหล่าอื่น [เถรคาถา]


ความคิดเห็น 3    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 17 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

1.การที่เราพูดถึงบุคคลอื่น ในลักษณะของการวิพากษ์ วิจารณ์ ต่างจากการเพ่งโทษติเตียนอย่างไร?

การวิพากษ์ วิจารณ์ คือการพูดถึงเรื่องของบุคคลอื่น ด้วยจิตที่เป็นอกุศล หรือกุศลก็ได้ เราพูดถึงคนอื่นด้วยจิตที่เมตตา พูดถึงคนอื่นด้วยความไม่ชอบ ดังนั้น จึงต้องตัดสินที่สภาพจิตเป็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องราวที่พูดจะมาตัดสินว่า เป็นกุศลหรืออกุศลพูดเรื่องไม่ดีของคนอื่นด้วยกุศลก็ได้ พูดเรื่องที่ดีของคนอื่นด้วยจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ แต่ตามปกติแล้ว ปุถุชนมีกิเลสมาก ดังนั้น จิตย่อมน้อมไปสูฝ่ายกิเลส ซึ่งถ้าเราพูดเรื่องไม่ดีของคนอื่น จิตก็ย่อมน้อมไปสู่ผ่ายอกุศลได้ง่ายครับ
การเพ่งโทษ ติเตียน คือ การพิจารณาถึงสิ่งที่ไม่ดีของคนอื่น เช่นกัน เป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้ เป็นกุศลคือติเตียนเตือนเพื่อให้เขาเห็นโทษผิดนั้นจะได้ปรับปรุงให้เจริญขึ้นด้วยจิตหวังดี เมตตา ดังเช่น แม่แนะนำลูกที่ลูกทำผิด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ต้องพิจารณาจิตในขณะนั้นเป็นอกุศลก็ได้ เพราะเราไม่ชอบคนนั้น จึงคอยหาโทษของบุคคลนั้นครับ
2.การวิพากษ์วิจารณ์ต่างกับการเพ่งโทษ ติเตียนอย่างไร?
การวิพากษ์วิจารณ์เป็นการพูดถึงคนอื่นในเรื่องที่ดีและไม่ดีของเขา ส่วนการเพ่งโทษติเตียน เป็นการพูดเตือนในสิ่งที่ไม่ดีของเขาเท่านั้นแต่เป็นได้ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลครับ
3.ทำอย่างไรจึงจะรักษาใจตัวเองให้สำรวมระวังในเรื่องนี้
ต้องรู้ก่อนครับว่า ไม่มีเราแต่มีธรรมทำหน้าที่ เช่น มีความโลภ ทำหน้าที่ติดข้องโลภะไม่ใช่เราเป็นธรรม ธรรมทำหน้าที่ติดข้องไม่ใช่เรา ความโกรธก็เช่นกัน ดังนั้น ทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นธรรมที่ทำหน้าที่ ดังนั้น จึงไม่มีตัวตนหรือเราที่จะทำ หรือทำอย่างไรการจะเป็นคนดีขึ้น หรือกุศลเกิดบ่อยขึ้น ก็ด้วยธรรมอย่างหนึ่งมีมาก คือ ปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็จากการฟังพระธรรม
ดังนั้น ปัญญาทำหน้าที่รักษาใจ ไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีปัญญาหรือปัญญาน้อย ก็ไม่สามารถบังคับ หรือรักษาใจไม่ให้เป็นอกุศลได้ ดังนั้น ก็เริ่มจากความเห็นถูกก่อนว่าทุกอย่างเป็นธรรม แม้อกุศลที่เกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นธรรม ปัญญาจะต้องรู้ว่าไม่ใช่เราก่อน ไม่เช่นนั้นก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะเมื่อกุศลเกิดมาก ก็เป็นเราที่มีกุศลนั่นเองครับ ฟังธรรมเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย WS202398  วันที่ 19 มิ.ย. 2550

อนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย พุทธรักษา  วันที่ 19 มิ.ย. 2550

อนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย ปุถุชนคนหนึ่ง  วันที่ 19 มิ.ย. 2550

ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองนึกดูว่าถ้าตนเองเป็นผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้าง จะรู้สึกอย่างไร?


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 9 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ