วิตถารสูตร - ปฏิปทา ๔ - ๑๑ ส.ค. ๒๕๕๐
โดย บ้านธัมมะ  10 ส.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 4508

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๑ ส.ค. ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

วิตถารสูตร

ว่าด้วยปฏิปทา ๔

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 386

นำการสนทนาโดย ..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 10 ส.ค. 2550

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 386

๒. วิตถารสูตร

ว่าด้วยปฏิปทา ๔

[๑๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ นี้ ฯลฯ คือ

ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า

ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปปาภิญฺา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว

สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า

สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว

ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้าเป็นไฉน บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคน

มีราคะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคน

มีโทสะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคน

มีโมหะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิด เพราะโมหะเนืองๆ บ้าง

อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาก็อ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อน เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้าปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็วเป็นไฉน บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคน

มีราคะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคน

มีโทสะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคน

มีโมหะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะเนืองๆ บ้าง แต่อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาแก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ นี้ แก่กล้า เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้าเป็นไฉน? บุคคลบางคนโดยปกติ มิใช่เป็นคนมีราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ มิใช่เป็นคนมีโทสะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ อนึ่ง โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ แต่อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อนเขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็วเป็นไฉนๆ บุคคลบางคนโดยปกติ มิใช่เป็นคนมีราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโทสะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ อนึ่ง โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ ทั้งอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาก็แก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ นี้แก่กล้า เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่า ปฏิบัติสะดวก ทั้งได้รู้เร็ว ภิกษุทั้งหลาย นี้แลปฏิปทา ๔

จบ วิตถารสูตรที่ ๒


ความคิดเห็น 2    โดย study  วันที่ 10 ส.ค. 2550

อรรถกถาวิตถารสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวิตถารสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อภิกฺขณ แปลว่าเนืองๆ

บทว่า อนนฺตริย ได้แก่ มรรคสมาธิอันให้ผลเป็นอนันตริยคุณ

บทว่า อาสวาน ขยา ได้แก่ เพื่ออรหัตตผล

บทว่า ปญฺจินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๕ อันมีวิปัสสนา เป็นที่ ๕. ก็ในบทว่า ปญฺินฺทฺริย นี้ ท่านประสงค์เอาวิปัสสนาปัญญา เท่านั้นว่า ปัญญินทรีย์. คำที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้นโดยอำนาจ ที่ตรัส ไว้แล้ว ในบาลี

ก็กถาจำแนกปฏิปทาเหล่านี้มีดังนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เคยทำการ ยึดถือมาเบื้องต้น ย่อมลำบากในการกำหนดรูป ย่อมลำบากในการกำหนดอรูป ย่อมลำบากในการกำหนดปัจจัย ย่อมลำบากในกาลทั้งสาม ย่อมลำบากใน มัคคามัคคะทางและมิใช่ทาง เมื่อลำบากในฐานะ ๕ อย่างนี้ ย่อมบรรลุวิปัสสนา ครั้นบรรลุวิปัสสนาแล้ว ก็ลำบากในวิปัสสนาญาณ ๙ เหล่านั้นคือ ในอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดและความดับ) ๑ ในภังคานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นความดับ) ๑ ในภยตุปัฏฐานญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว) ๑ ในอาทีนวานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นโทษ) ๑ ในนิพพิทานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงถึงความ เบื่อหน่าย) ๑ ในมุญจิตุกามยตาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไป) ๑ ใน สังขารุเบกขาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยความเฉยในสังขาร) ๑ ในอนุโลมญาณ (ปรีชาคำนึงโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ) ๑ ในโคตรภูญาณ (ปรีชากำหนด ญาณอันเป็นลำดับอริยมรรค) ๑ แล้วจึงบรรลุโลกุตรมรรค โลกุตรมรรคนั้น ของภิกษุนั้น ชื่อว่าปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ลำบาก เพราะทำให้แจ้งโดยความ หนักไปด้วยทุกข์อย่างนี้ ก็ภิกษุใดเบื้องต้นลำบากในญาณ ๕ แต่เบื้องปลาย ไม่ลำบากในวิปัสสนาญาณ ๙ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งมรรค มรรคนั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่าปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เพราะทำให้แจ้งโดยไม่หนักด้วยทุกข์ อย่างนี้ อีกสองปฏิปทาก็พึงทราบโดยอุบายนี้