สงสัย เหตุให้เกิดมโนวิญญาณครับ
โดย govit2553  5 ต.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 17311

อุปปัติเหตุให้เกิด มโนวิญญาณธาตุ

๑. มโนทวาร ได้แก่ ภวังคจิต ๑๙ ดวง

๒. อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธัมมารมณ์

๓. หทยวัตถุ ได้แก่ หทยวัตถุ หรือไม่มีหทยวัตถุรูปก็ได้

๔. มนสิการ มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ กล่าวเฉพาะในอเหตุกจิตนี้ ก็หมายถึงจิต ๕ ดวง อันได้แก่ สันตีรณจิต ๓ ดวง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และ หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง สงสัยว่า มโนทวาร ทำไมมีหลายดวงจัง ดวงเดียวไม่ได้หรือ และตอนภวังคจิต ไม่มีอารมณ์ ๖ เลย ทำไมจึงมีมโนวิญญาณได้ ในนี้คล้ายระบุว่า อารมณ์ ๖ เท่านั้น จึงจะเกิดมโนวิญญาณได้ และจิตเกิด โดยไม่อาศัยรูป ได้หรือครับ ที่ว่าไม่จำเป็นต้องมี หทยวัตถุรูป ก็ได้



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 6 ต.ค. 2553

ขอเรียนว่า มโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ มีทั้งหมด ๑๙ ดวง มีจำนวนมากเพราะเหตุให้เกิดมีต่างกัน จำนวนจึงต่างกันตามเหตุ โดยการจำแนกวิญญาณธาตุ ๗ วิบากจิตที่กระทำกิจภวังค์ จิตเป็นประเภทมโนวิญญาณธาตุ

ดังนั้น มโนวิญญาณ จึงมีอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ ๖ อารมณ์ของภวังค์ก็ไม่พ้น ๖ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเกิดขึ้น ต้องอาศัยรูป ขาดรูปไม่ได้ แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๔ คืออรูปภูมิ จิตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยรูปจิตก็เกิดขึ้นได้ รายละเอียดขอเชิญศึกษาจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป จะช่วยทำให้เข้าใจปรมัตถธรรมโดยละเอียดมากขึ้นครับ


ความคิดเห็น 2    โดย govit2553  วันที่ 6 ต.ค. 2553

อารมณ์ของภวังค์ก็ไม่พ้น ๖ ขอถามสืบต่อว่า ตอนภวังคจิต ไม่ได้อาศัย ทวารใดๆ เพื่อเป็นทางรับอารมณ์ให้เป็นวิถีจิต แล้วอารมณ์ ๖​ เข้าสู่ภวังคจิต ได้ทางทวารใดครับ ในเมื่อไม่ได้อาศัยทวารใดเลย เพราะถ้าใช้ทวาร มันจะกลายเป็นวิถีจิตทันที อารมณ์เหล่านั้น ผุดเกิดขึ้น หรืออย่างไรครับ เพื่อให้ภวังคจิตได้เสพ


ความคิดเห็น 3    โดย prachern.s  วันที่ 6 ต.ค. 2553

ขอเรียนว่า อารมณ์ของภวังคจิต เป็นอารมณ์ในอดีตชาติ ขณะที่จิตกระทำกิจภวังค์ จิตขณะนั้นเป็นวิถีวิมุติ คือพ้นจากวิถี ทวารวิมุติ พ้นจากทวาร แต่อารมณ์ที่ภวังคจิตรู้นั้นก็ไม่พ้นจากอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งครับ


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 10 ต.ค. 2553

ภวังคจิต หมายถึง จิตที่ดำรงรักษาภพชาติ เช่น เกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์จนตาย เกิดเป็นแมว นก หมู กา ไก่ ฯลฯ ก็เป็นไปตลอดชาตินั้นค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 11 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ