เรื่อง ฝนตกเพราะสัจจกิริยา (กล่าวคำสัตย์) ของพระโพธิสัตว์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 481
ข้อความบางตอนจาก มัจฉราชจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของพระยาปลา
เราคิดแล้ว ได้เห็นความสัตย์อันเป็นอรรถเป็นธรรมว่า เป็นที่พึ่งของหมู่ญาติได้ เราตั้งอยู่ในความสัตย์แล้ว จะเปลื้องความพินาศใหญ่ของหมู่ญาตินั้นได้ เรานึกถึงธรรมของสัตบุรุษ คิดถึงการไม่เบียดเบียนสัตว์ อันตั้งอยู่ในเที่ยงแท้ในโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้ แล้วได้กระทำสัจกิริยาว่า ตั้งแต่เราระลึกตนได้ ตั้งแต่เรารู้ความมาจนถึงบัดนี้ เราไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งให้ได้รับความลำบากเลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอเมฆจงยังฝนให้ตกห่าใหญ่ แน่ะเมฆ ท่านจงเปล่งสายฟ้าคำรามให้ฝนตก จงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป ท่านจงยังกาให้เดือดร้อนด้วยความโศก จงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก พร้อมกับเมื่อเราทำสัจกิริยา เมฆส่งเสียงสนั่นครั่นครื้น ยังฝนให้ตกครู่เดียว ก็เต็มเปี่ยมทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม ครั้นเราทำความเพียรอย่างสูงสุด อันเป็นความสัตย์อย่างประเสริฐเห็นปานนี้แล้วอาศัยกำลังอานุภาพความสัตย์ จึงยังฝนให้ตกห่าใหญ่ ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมีของเราฉะนี้แล
จบ มัจฉราชจริยาที่ ๑๐
แล้วเรียกปัชชุนนเทวราชดุจบังคับคนรับใช้ของตนอีกว่า :-
แน่ะปัชชุนนะ ท่านจงเปล่งสายฟ้าคำรามให้ฝนตก จงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป ท่านจงยังกาให้เดือดร้อน ด้วยความโศก จงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิตฺถนย ปชฺชุนฺน ความว่า เมฆท่านเรียกว่า ปัชชุนนะ ก็พระยาปลานี้เรียกวัสสวลาหกเทวราช ที่ได้ชื่อด้วยอำนาจแห่งเมฆ.
ยินดีในกุศลจิตค่ะ