๑๐. สมุคคชาดก ว่าด้วยเปรียบหญิงมีอาการคล้ายก้นเหว
โดย บ้านธัมมะ  25 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35898

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 718

๑๐. สมุคคชาดก

ว่าด้วยเปรียบหญิงมีอาการคล้ายก้นเหว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 718

๑๐. สมุคคชาดก

ว่าด้วยเปรียบหญิงมีอาการคล้ายก้นเหว

[๑๒๙๒] แน่ะ ท่านผู้เจริญทั้งสาม ท่านพากันมาจากที่ไหนหนอ ท่านทั้งหลาย มาดีแล้ว เชิญมานั่ง ที่อาสนะนี้เถิด ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นจะสุขสบายดี ไม่มีความเจ็บไข้กระมัง นานมาแล้ว ท่านทั้งหลายเพิ่งมาในที่นี้.

[๑๒๙๓] วันนี้ ข้าพเจ้ามาถึงที่นี้ คนเดียวเท่านั้น อนึ่ง ใครผู้ที่จะเป็นที่สองของข้าพเจ้า ก็มิได้มี ข้าแต่พระฤๅษี คำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญทั้งสาม ท่านพากันมาจากที่ไหนหนอ ดังนี้ หมายถึงอะไร?

[๑๒๙๔] ท่านคนหนึ่ง และภรรยาที่รักของท่าน ที่ท่านใส่ไว้ในสมุคคนหนึ่ง ภรรยาที่ท่านใส่ไว้ในท้อง รักษาไว้ทุกเมื่อนั้น ร่วมยินดีกับ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 719

วิชาธร ชื่อว่า วายุบุตร ภายในท้องของท่านนั้น อีกคนหนึ่ง.

[๑๒๙๕] ทานพนั้น อันฤๅษีชี้แจงให้ฟังแล้ว ก็มีความสลดใจ สะดุ้งกลัว จึงคายสมุคออกมา เปิดดู ได้เห็นภรรยา ผู้ทัดทรงดอกไม้อันสะอาด ร่วมยินดีกับวิทยาธร ชื่อว่า วายุบุตร ในสมุคนั้น.

[๑๒๙๖] เหตุข้อนี้ ท่านผู้ประพฤติตบะชั้นสูง เห็นดีแล้ว นรชนทั้งหลายเหล่าใด เป็นคนเลวทราม อยู่ในอำนาจแห่งความชื่นชมยินดี นรชนทั้งหลายเหล่านั้น ได้แก่ ตัวเราเอง เพราะว่าภรรยาที่เรารักษาไว้ในท้อง เพียงดังชีวิต กลับมาประทุษร้ายเรา ไปชื่นชมยินดีกะบุรุษอื่น.

[๑๒๙๗] เราบำรุงบำเรอภรรยานั้น ทั้งกลางวัน กลางคืน เหมือนดาบสผู้มีตบะ อยู่ในป่าบำเรอบูชาไฟ อันลุกโชน ฉะนั้น นางยังก้าวล่วงธรรม ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เราไม่ควรเชยชิด ภรรยาผู้ร่าเริงเช่นนี้.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 720

[๑๒๙๘] เรามักมั่นใจหญิง ผู้ไม่มีความสงบ ไม่สำรวมว่า อยู่ในท่ามกลางสรีระของเรา และมั่นใจว่า เป็นภรรยาของเรา ดังนั้น นางจึงก้าวล่วงธรรม ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เราไม่ควร เชยชิดภรรยา ผู้ร่าเริงเช่นนี้.

[๑๒๙๙] บัณฑิตจะพึงวางใจว่า หญิงนี้เรารักษาไว้ดีแล้ว ดังนี้ อย่างไรได้ อุบายที่จะป้องกันรักษาหญิง ผู้มีหลายใจ ไม่พึงมีโดยแท้ เพราะว่า หญิงเหล่านั้น มีอาการคล้ายกับเหว ที่เรียกกันว่า บาดาล บุรุษผู้ประมาท ในหญิงเหล่านั้น ย่อมถึงความพินาศทั้งนั้น.

[๑๓๐๐] เพราะเหตุนั้นแหละ ชนเหล่าใด ไม่เที่ยวคลุกคลีกับมาตุคาม ชนเหล่านั้น เป็นผู้มี ความสุขไร้โศก ความประพฤติไม่คลุกคลี กับมาตุคามนี้ เป็นคุณนำความสุขมาให้ ผู้ปรารถนาความเกษมอันอุดม ไม่ควรเชยชิด ด้วยมาตุคามทั้งหลาย.

จบ สมุคคชาดกที่ ๑๐


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 721

อรรถกถาสมุคคชาดกที่ ๑๐

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน จึงได้ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า กุโต นุ อาคจฺฉถ ดังนี้.

ความย่อว่า พระศาสดา ตรัสถามภิกษุผู้กระสันนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอกระสันจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้น กราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ดังนี้ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอปรารถนามาตุคามเพราะเหตุไร? ขึ้นชื่อว่า มาตุคามไม่ใช่สัตบุรุษุ เป็นอกตัญญู แม้ยักษ์ทานพในกาลก่อน กลืนมาตุคามเข้าไว้ในท้อง พาเที่ยวไป ก็ยังไม่อาจรักษามาตุคาม ทำให้เธอมีสามีคนเดียวได้ เธอจักอาจรักษาได้อย่างไร ดังนี้ แล้วทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์สละกาม เข้าไปในดินแดนป่าหิมพานต์ บวช เป็นฤๅษี ได้อภิญญา และสมาบัติแล้ว ดำรงชีพอยู่ด้วยผลไม้น้อยใหญ่ ณ ที่ไม่ไกลบรรณศาลา ของพระโพธิสัตว์นั้น มียักษ์ทานพตนหนึ่งอยู่ ยักษ์นั้นเข้าไปหาพระมหาสัตว์ ฟังธรรมอยู่เสมอๆ อนึ่ง ยักษ์นั้น มักไปอยู่ที่หนทาง ที่มนุษย์ทั้งหลายสัญจรไปมาในดง เห็นมนุษย์เดินทางมา ก็จับกินเสีย.

ครั้งนั้น ในแคว้นกาสี มีนางกุลธิดาคนหนึ่ง มีรูปร่างสวยงามมาก อาศัยอยู่ ณ ปัจจันตคามแห่งหนึ่ง วันหนึ่ง นางมาเพื่อจะเยี่ยม


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 722

มารดาบิดา ในเวลากลับ ทานพนั้นเห็นพวกบริวารของนาง จึงวิ่งขับไล่ ด้วยรูปร่างที่น่ากลัว พวกบริวารที่ถือข้าวของไป ต่างก็พากันทิ้งสิ่งของ หนีไปสิ้น ทานพเห็นมาตุคามรูปงาม นั่งมาในยาน เกิดจิตปฏิพัทธ์ จึงนำไปถ้ำของตน เลี้ยงดูเป็นภรรยา ตั้งแต่นั้นมา ทานพได้นำเนยใส ข้าวสาร ปลา เนื้อ เป็นต้น และผลไม้ที่อร่อย มาเลี้ยงดูภรรยา และประดับนาง ด้วยเครื่องประดับ คือ ผ้า ให้นางนอนในสมุค มีสัณฐานเหมือนขวด แล้วกลืนสมุคนั้น เข้าไว้ในท้อง พิทักษ์รักษาภรรยาด้วยท้อง

วันหนึ่ง ทานพนั้น ไปสระน้ำแห่งหนึ่ง เพื่อจะอาบน้ำ คายสมุคออกแล้ว เอานางออกจากสมุคนั้น ให้อาบน้ำ ทาแป้ง แต่งกาย แล้วกล่าวว่า เธอจงตากอากาศสักครู่หนึ่ง ให้นางยืนอยู่ใกล้ๆ สมุค ตนเองก็ลงไปที่ท่าน้ำ มิได้มีความสงสัยภรรยา จึงได้ไปอาบไกลไปหน่อย ขณะนั้น วิทยาธรชื่อวายุบุตร เหน็บพระขรรค์เหาะมา นางนั้นเห็นวิทยาธร แล้วยกมือชูขึ้น เป็นเชิงให้รู้ว่า มานี่เถิดท่าน วิทยาธรก็ลงมาทันที ลำดับนั้น นางเอาวิทยาธรนั้น ใส่ในสมุค คอยแลดู ทางมาของทานพ พลางนั่งลงบนสมุค ครั้นเห็นทานพมา ก็แสดงตนแก่ทานพนั้น เมื่อทานพยังไม่ทันถึงสมุค นางก็เปิดสมุค แล้วเข้าไปข้างใน นอนทับวิทยาธร แล้วเอาผ้าห่มของตนคลุมไว้ ทานพมาไม่ได้ตรวจตราสมุคให้ดีก่อน กลืนสมุคเข้าไป ด้วยเข้าใจว่า เมียเราคนเดียวไปถ้ำของตน ในระหว่างทางคิดว่า เราไม่ได้เยี่ยมท่านดาบสเสียนาน วันนี้เราจัก


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 723

นมัสการท่านก่อน จึงไปสู่สำนักท่านดาบส ดาบสเห็นทานพนั้นมาแต่ไกล รู้ว่ามีคนสองคนอยู่ในท้อง เมื่อจะเจรจา จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

แน่ะ ท่านผู้เจริญทั้งสาม ท่านพากันมา จากที่ไหนหนอ ท่านทั้งหลายมาดีแล้ว เชิญมานั่งที่อาสนะนี้เถิด ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นจะสุขสบายดี ไม่มีความเจ็บไข้ กระมัง นานมาแล้ว ท่านทั้งหลายเพิ่งมาในที่นี้.

ศัพท์ว่า โภ ในคาถานั้น เป็นอาลปนะ.

บทว่า กจฺจิตฺถ เท่ากับ กจฺจิ โหถ ภาถ วิชฺชถ ความว่า ท่านทั้งหลาย จำเริญดีแลหรือ? ดาบสเมื่อจะทักทายอีก จึงกล่าวว่า โภนฺโต แปลว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย. สองบทว่า กุสลํ อนามยํ ความว่า ท่านทั้งหลาย เห็นจะเป็นสุขสบายดี ไม่มีโรคกระมัง? บทคาถาว่า จิรสฺส พฺภาคมนํ หิ โว อิธ ความว่า นานแล้วท่านทั้งหลาย เพิ่งมาในที่นี้วันนี้.

ทานพได้ฟังดังนั้น คิดว่า เรามาสำนักท่านดาบสนี้ คนเดียวเท่านั้น แต่ท่านดาบสนี้กล่าวว่าสามคน ท่านดาบสกล่าวดังนี้ เพราะ


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 724

เหตุไร ท่านดาบสนี้รู้สภาพความจริง จึงกล่าวหรือ หรือว่าเป็นบ้า จึงเพ้อไป เข้าไปหาท่านดาบสนมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อจะเจรจากับท่านดาบสนั้น จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

วันนี้ข้าพเจ้ามาถึงที่นี้ คนเดียวเท่านั้น ใครผู้ที่จะเป็นที่สอง ของข้าพเจ้าก็มิได้มี ข้าแต่พระฤๅษี คำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญทั้งสาม ท่านพากันมาจากที่ไหนหนอ? ดังนี้ หมายถึงอะไร?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธมชฺช ตัดบทเป็น อิธ อชฺช บทคาถาว่า กิเมว สนฺธาย เต ภาสิตํ อิเส ความว่า ข้าแต่พระฤๅษีผู้เจริญ คำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวนั้น หมายถึงอะไร? ขอท่านจงบอกให้แจ่มแจ้ง แก่ข้าพระเจ้าเถิด.

ท่านดาบสย้อนถามว่า อาวุโส ท่านต้องการฟังจริงๆ หรือ? เมื่อทานพตอบว่า จริงครับ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟังดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ท่านคนหนึ่ง และภรรยาที่รักของท่าน ที่ท่านใส่ไว้ในสมุคคนหนึ่ง ภรรยาที่ท่านใส่ไว้ในท้อง รักษาไว้ทุกเมื่อนั้น ร่วมยินดีกับ


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 725

วิทยาธร ชื่อว่า วายุบุตร ภายในท้องของท่านนั้น อีกคนหนึ่ง.

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ตฺวญฺจ เอโก คือ อันดับแรก ท่านคนหนึ่ง. บทว่า ปกฺขิตฺตนิกิณฺณมนฺตเร ความว่า ที่ท่านใส่สมุค เก็บไว้ข้างใน คือ ที่ท่านผู้ต้องการจะรักษา ภริยานั้นทุกเมื่อ จึงใส่ไว้ในสมุคนั้น เก็บไว้ข้างใน คือ วางไว้ภายในท้อง พร้อมทั้งสมุค. สองบทว่า วายุสฺส ปุตฺเตน สหา คือ ร่วมยินดีกับวิทยาธร ผู้มีชื่ออย่างนี้. บทว่า ตหึ รตา คือ ร่วมยินดี ด้วยความยินดี ด้วยอำนาจกิเลส ภายในท้องของท่านนั้น นั่นแหละ. ท่านดาบสนั้นกล่าวว่า บัดนี้ ท่านคิดว่า เราจักทำมาตุคาม ให้มีสามีคนเดียว จึงพิทักษ์รักษาไว้ด้วยท้อง เที่ยวอุ้มแม้ชายชู้ ของนางไปอยู่.

ทานพได้ฟังดังนั้น ก็สะดุ้งกลัวว่า ธรรมดาวิทยาธร ย่อมมีมายามาก ถ้าวิทยาธรนั้น มีพระขรรค์อยู่ในมือ ก็จักผ่าท้องเราหนีไป จึงคายสมุค วางไว้ตรงหน้าทันที.

พระศาสดา ผู้เป็นอภิสัมพุทธะ เมื่อจะทรงประกาศ ความเป็นไปนั้น จึงได้ตรัสคาถาที่ ๔ ว่า :-

ทานพนั้น อันฤๅษีชี้แจงให้ฟังแล้ว ก็มีความสลดใจ สะดุ้งกลัว จึงคายสมุคออกมา


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 726

เปิดดู ได้เห็นภรรยา ผู้ทัดทรงดอกไม้อันสะอาด ร่วมยินดีกับวิทยาธร ชื่อว่า วายุบุตร ในสมุคนั้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทฺทกฺขิ คือ เปิดสมุคแล้ว จึงได้เห็น.

พอทานพ เปิดสมุคขึ้นเท่านั้น วิทยาธรก็ร่ายวิชา ถือพระขรรค์ เหาะไปในอากาศ ทานพเห็นดังนั้น ก็มีความยินดีต่อพระมหาสัตว์ จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือ มีความสรรเสริญ เป็นเบื้องต้นว่า :-

เหตุข้อนี้ ท่านผู้ประพฤติตบะชั้นสูง เห็นดีแล้ว นรชนทั้งหลายเหล่าใด เป็นคนเลวทราม ตกอยู่ในอำนาจ แห่งความชื่นชมยินดี นรชนทั้งหลายเหล่านั้น ได้แก่ ตัวเราเอง เพราะว่า ภรรยาที่เรารักษาไว้ในท้อง เพียงดังชีวิต กลับมาประทุษร้ายเรา ไปชื่นชมยินดีกะบุรุษอื่น.

เราบำรุงบำเรอภรรยานั้น ทั้งกลางวัน กลางคืน เหมือนดาบสผู้มีตบะ อยู่ในป่า บำเรอบูชาไฟ อันลุกโชน ฉะนั้น นางยังก้าวล่วงธรรม ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เราไม่ควรเชยชิด ภรรยา ผู้ร่าเริงเช่นนี้.


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 727

เรามักมั่นใจหญิง ผู้ไม่มีความสงบ ไม่สำรวมว่า อยู่ในท่ามกลางสรีระของเรา และมั่นใจว่าเป็นภรรยาของเรา ดังนั้น นางจึงก้าวล่วงธรรม ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เราไม่ควรเชยชิดภรรยา ผู้ร่าเริงเช่นนี้.

บัณฑิตจะพึงวางใจว่า หญิงนี้เรารักษาไว้ดีแล้ว ดังนี้ อย่างไร ได้อุบายที่จะป้องกันรักษา หญิงผู้มีหลายใจ ไม่พึงมีโดยแท้ เพราะว่า หญิงเหล่านั้น มีอาการคล้ายกับเหว ที่เรียกกันว่า บาดาล บุรุษผู้ประมาท ในหญิงเหล่านั้น ย่อมถึงความพินาศทั้งนั้น. เพราะเหตุนั้นแหละ ชนเหล่าใด ไม่เที่ยวคลุกคลีกับมาตุคาม ชนเหล่านั้น เป็นผู้มีความสุขไร้โศก ความประพฤติไม่คลุกคลี กับมาตุคามนี้ เป็นคุณ นำความสุขมาให้ ผู้ปรารถนาความเกษมอันอุดม ไม่ควรเชยชิด ด้วยมาตุคามทั้งหลาย.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 728

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุทิฏฺรูปุคฺคตปานุวตฺตินา ความว่า ข้าแต่พระฤๅษีผู้เจริญ เหตุอันนี้ ท่านผู้ประพฤติตบะชั้นสูง เห็นดีแล้ว. บทว่า หีนา คือ เป็นคนต่ำ. บทว่า ยถา หเว ปาณริเวตฺถ รกฺขิตา ความว่า ภรรยานี้ ที่เราดูแลรักษาไว้ในที่นี้ คือ ภายในท้องนี้ เพียงดังชีวิตของตน. สองบทว่า ทุฏฺา มยิ ความว่า บัดนี้ กลับมาทำกรรม ของผู้ประทุษร้ายมิตร ประทุษร้ายเรา ไปชื่นชมยินดีกะบุรุษอื่น. บทว่า โชติริวา วเน วสํ ความว่า เราบำรุง คือ บำเรอภรรยานั้น เหมือนฤๅษี ผู้มีตบะอยู่ในป่า บำเรอไฟ ฉะนั้น. บทว่า สา ธมฺมมุกฺกมฺม ความว่า ภรรยานั้น ยังก้าวล่วง คือ ล่วงเกินธรรม. บทว่า อกฺรียรูโป เท่ากับ อกตฺตพฺพรูโป แปลว่า ไม่ควรทำ. บทว่า สรีรมชฺฌมฺหิ ิตาติ มญฺิหํ มยฺหํ อยนฺติ อสตํ อสญฺตํ ความว่า เรามักมั่นใจหญิงนี้ ผู้ไม่มีความสงบ คือ ผู้ประกอบด้วยธรรม ของอสัตบุรุษ ผู้ไม่สำรวม คือ ผู้ทุศีลว่า อยู่ในท่ามกลางสรีระของเรา แต่มั่นใจว่า หญิงนี้เป็นภรรยาของเรา. บทว่า สุรกฺขิตมฺเมติ กถนฺนุ วิสลเส ความว่า บัณฑิตจะพึงวางใจอย่างไร ได้ว่า หญิงนี้เรารักษาไว้ดีแล้ว แม้แต่คนเช่นเรา รักษาภรรยาไว้ในท้องของตนแท้ๆ ยังไม่อาจรักษาไว้ได้. บทว่า ปาตาล ปปาตสนฺนิภา ความว่า ชื่อว่า มีอาการคล้ายกับเหว ที่เรียกกันว่า บาดาลในมหาสมุทร เพราะหญิงเหล่านั้น เป็นผู้ยากที่บุคคล จะให้เต็มด้วยความยินดี ของชาวโลกได้. บทว่า เอตฺถปฺปมตฺโต ความว่า บุรุษผู้ประมาทในหญิง ผู้ไร้คุณแบบนี้เหล่านั้น ย่อมถึงความพินาศใหญ่. บทว่า


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 729

ตสฺมา หิ ความว่า เพราะผู้ตกอยู่ในอำนาจ ของมาตุคาม ย่อมถึงความพินาศใหญ่ ฉะนั้น ชนเหล่าใด ไม่เที่ยวคลุกคลีกับมาตุคาม ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีความสุข. บทว่า เอตํ สวํ ความว่า ความประพฤติของบุคคล ผู้ไม่คลุกคลี คือ ไม่เกี่ยวข้องกับมาตุคามนี้ เป็นความสุข คือ เป็นความดี ได้แก่ เป็นความเกษมอันอุดม อันบุคคลพึงปรารถนา ผู้ปรารถนาความเกษมอันอุดมนั้น ไม่ควรทำความเชยชิด สนิทสนมกับมาตุคามเลย.

ก็แหละ ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ทานพได้หมอบลงแทบเท้า ของพระมหาสัตว์ กล่าวสรรเสริญชื่นชมพระมหาสัตว์ว่า ข้าพเจ้าได้ชีวิตไว้ เพราะอาศัยท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่ถูกนางผู้มีธรรมลามกนี้ ใช้ให้วิทยาธรฆ่า แม้พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงธรรมแก่ทานพนั้นแล้ว กล่าวว่า ท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วอะไรๆ แก่หญิงนี้ จงรับศีล ให้ทานพนั้น ตั้งอยู่ในศีลห้า ทานพคิดว่า แม้เราจะพิทักษ์รักษาด้วยท้อง ก็ยังไม่อาจรักษาหญิงนั้นไว้ได้ คนอื่นใครเล่า จะรักษาได้ จึงส่งนางนั้นไป แล้วตนเองก็เข้าป่า อันเป็นที่อยู่ของตน.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแล้ว ให้ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสัน ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระทศพล ทรงประชุมชาดกว่า ดาบสผู้มีทิพยจักษุในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา สมุคคชาดกที่ ๑๐