ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
โดย chatchai.k  7 ต.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25613

มักได้ยินคำกล่าวยกย่องภิกษุบางรูปว่า ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ขอเรียนถามว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คืออย่างไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 7 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ คือ ปฏิบัติตรงตามที่พระุพทธเจ้าทรงแสดง ตามพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ใดปฏิบัติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อันเกิดจากการฟัง ศึกษาพระธรรมตามพระไตรปิฎก และเกิดปัญญาเห็นถูก ตามความเป็นจริงเช่นนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง เพราะตรงและชอบถูกต้องตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และปัญญาที่เกิดกับผู้นั้น ปัญญานั้นเอง เรียกว่า ดี ชอบ และตรง เพราะไม่เอนเอียงไปตามกิเลส และละความไม่รู้ อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ตรง ครับ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า ใครก็ตามที่จะกล่าวว่าผู้นั้นปฏิบัติ ปฏิบัติชอบ ผู้ที่กล่าวได้ ก็ต้องมีความเข้าใจถูกตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเช่นกัน เข้าใจถูกต้องแม้แต่คำทีละคำ แม้แต่คำว่าปฏิบัติที่ถูกต้องคืออะไร เพราะถ้าเข้าใจผิดในขั้นการฟัง แม้แต่คำว่าปฏิบัติ ก็ย่อมสำคัญในสิ่งที่ผิดว่าเป็นถูก ยกย่องในสิ่งที่ผิดเป็นถูกได้ เพราะตนเองเข้าใจผิด แม้แต่คำว่าปฏิบัติ เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูกต้อง คือ ศึกษาตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่พระองค์ทรงมอบพระธรรมไว้ให้ศึกษา ให้เข้าใจ ผู้ใดเกิดปัญญา ไม่ว่าใคร และเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เป็นต้น ก็ชื่อว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพราะปฏิบัติ คือถึงเฉพาะในสภาพธรรมด้วยดี ด้วยปัญญา ชื่อว่า ปฏิบัติดีในขณะนั้นครับ นี่คือความละเอียดของพระธรรม แม้แต่คำว่าปฏิบัติ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย tanrat  วันที่ 8 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย peem  วันที่ 8 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 8 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า ปฏิบัติ ที่ใช้กันในภาษาไทย กับปฏิบัติในภาษาบาลี ความหมายไม่ตรงกัน กล่าวคือ โดยมากจะเข้าใจว่าเป็นการไปทำ แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรมไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้องย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูก เห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ปฏิบัติธรรม คือ การถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่สภาพธรรมปรากฎให้รู้ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ถึงเฉพาะที่ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงเป็นความหมายที่ถูกต้องของการปฏิบัติธรรม คือการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะสติและปัญญาที่เกิดรู้ตามความเป็นจริง

ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรม ก็เป็นการปฏิบัติผิด ปฏิบัติชั่ว ไม่ใช่ปฏิบัติดี ไม่ใช่ปฏิบัติชอบ ไม่ใช่สุปฏิปันโนบุคคล คนที่ชื่นชมก็ชื่นชมในสิ่งที่ผิด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 8 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย แต้ม  วันที่ 4 ก.พ. 2558

ผมก็เคยได้ยิน ได้ฟังมาเช่น เดียวกันครับ ว่า พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อก่อนนั้นผมก็ยังสงสัยอยู่นะครับ ว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ นั้นคืออย่างไร เราทราบได้อย่างไรว่า ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่พอได้ศึกษาพระธรรมก็มีปัญญาพิจารณาได้ว่า คำพูดที่ว่าพระรูปนี้น่าเลื่่อมใส น่าศรัทธา ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อมาเทียบเคียงกับพระวินัยแล้ว ก็ยังปฏิบัติไม่ตรงตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าได้กำหนดไว้เลย และมีอีกหลายกรณี ไม่ขอยกตัวอย่างนะครับ ต้องขอขอบพระคุณที่ท่านอาจารย์ประจำมูลนิธิได้ให้ความรู้ความกระจ่างแก่สมาชิก ผมขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า อย่ามัวแต่สรรเสริญท่านทีปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่เลย ควรหันมาเร่งทำความเพียร ตามรอยของพระพุทธองค์เถิดครับ

ขออนุโมทนาครับ