ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วันหนึ่งๆ บัญญัติปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงทำ ให้ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเลยว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น เมื่อใดปัญญาเจริญขึ้นจนรู้ความจริงในขณะที่กำลังเห็น จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ และจะรู้ความต่างกันของปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน
ขณะที่กำลังฝันเป็นอารมณ์อะไร ทุกคนฝันแน่นอนเพราะผู้ที่ไม่ฝันเลย คือพระอรหันต์ ทุกคนฝัน เมื่อตื่นขึ้นก็บอกว่าฝันเห็นญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว ฯลฯ ฝันเห็นบัญญัติ หรือเห็นปรมัตถอารมณ์ ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้เลยเพราะเหมือนเห็น แต่ตามความเป็นจริงนั้น เมื่อถามว่าเห็นอะไร ก็ตอบว่าเห็นคน เห็นญาติผู้ใหญ่ เห็นมิตรสหาย เห็นสัตว์ต่างๆ บุคคลต่างๆ นั่นคือฝันเห็นเรื่องบัญญัติ เพราะขณะนั้นจักขุทวารวิถีจิตไม่ได้เกิดเลย เพราะว่ากำลังหลับ แต่มโนทวารวิถีจิตเกิดคิดนึกเห็นเป็นเรื่องสัตว์ บุคคลต่างๆ ฉะนั้น ขณะที่กำลังฝันนั้นก็คิดนึกถึงเรื่องบัญญัติของสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เป็นต้น ทุกท่านอ่านหนังสือพิมพ์ มีเรื่องราวต่างๆ และมีรูปภาพด้วย ขณะที่กำลังรู้เรื่องราวและเห็นเรื่องภาพต่างๆ นั้น ล้วนเป็นขณะที่คิดนึกถึงบัญญัติทั้งสิ้น ฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ จึงไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏเลยว่าต่างกับบัญญัติอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเห็นทางตาขณะใด ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ทำกิจการงานอยู่ที่ไหน ขณะใด ก็คิดนึกถึงบัญญัติทั้งนั้น
สำหรับทางหูนั้น เมื่อเกิดมาแล้วยังเป็นเด็กอ่อนก็ได้ยินเสียงบ่อยๆ เป็นปกติ แต่ยังไม่รู้คำ ยังไม่เข้าใจภาษาหนึ่งภาษาใดเลย แต่สัญญาความจำในเสียงต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงทำให้นึกถึงบัญญัติความหมายต่างๆ ของเสียงที่จำไว้ เด็กอ่อนก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เจ็บ โกรธ ชอบ ไม่ชอบ ร้องไห้ แต่ไม่รู้คำที่จะอธิบาย ที่จะพูด ที่จะบอก จนกว่าจะเติบโตขึ้น ท่านผู้ใดจำเหตุการณ์ทั้งหลายตอนที่เพิ่งเกิดมาได้ไหม แม้ว่าในตอนนั้นก็เห็น ได้ยิน ฯลฯ แต่เมื่อยังไม่มีคำที่จะบอกเล่า เพราะยังไม่เข้าใจความหมายของเสียงต่างๆ ความจำเหตุการณ์ต่างๆ ก็ลบเลือนไป แต่เมื่อโตขึ้นแล้วรู้ความหมายของเสียง รู้ภาษาต่างๆ ซึ่งนอกจากจำสิ่งที่เห็นทางตาแล้วก็ยัง จำเรื่องที่ได้ยินทางหู รวมกันเป็นเรื่องราวนานาประการ โลกของสมมติบัญญัติจึงเพิ่มขึ้นเป็นวิวัฒนาการที่ไม่จบสิ้น เมื่ออ่านหนังสือเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วก็ยังต้องทำเป็นภาพยนตร์ให้ดูให้ได้ยินเสียงด้วย ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบก็พอจะเห็นได้ว่า โลกของสมมตินั้นปกปิดสภาพของปรมัตถธรรมมากมายเพียงใด เช่น ในขณะที่กำลังดูโทรทัศน์นั้นมีบัญญัติอะไรบ้าง ดูละครเรื่องอะไร ใครแสดงบทอะไร ดูเสมือนว่าผู้แสดงละครในโทรทัศน์เป็นคนจริงๆ แต่ละครและตัวละครเป็นบัญญัติฉันใด เมื่อปรมัตถธรรมเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วสืบต่อกันนั้น ขณะที่รู้ว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ก็เป็นการรู้บัญญัติ ฉันนั้น
สภาพปรมัตถธรรมในชีวิตประจำวันถูกปกปิดด้วยอวิชชาซึ่งไม่รู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมและบัญญัติ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้การศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป โดยละเอียดขึ้นๆ จึงทำให้ปัญญาในขั้นของการฟังเจริญขึ้น เป็นสังขารขันธ์เกื้อกูลปรุงแต่งให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ทำให้ละคลายการยึดมั่นในนิมิต อนุพยัญชนะ ซึ่งเป็นอาการปรากฏของบัญญัติ
ถ. บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม
สุ. ไม่ได้
ถ. เมื่อกี้ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้
สุ. ปรมัตถธรรมเท่านั้นเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะใดที่รสเกิดกระทบกับชิวหาปสาท เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางชิวหาทวาร เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต แล้วรสดับ จึงไม่มีองุ่น นั่นคือปรมัตถธรรม แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นผลองุ่น ขณะนั้นเป็นบัญญัติ ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นขณะที่ระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม และพิจารณาสังเกตรู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่มีการแยกลักษณะของปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ จึงยังมีความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ตลอดเวลา
ถ. เมื่อกี้ที่อาจารย์กล่าวว่าบัญญัติรู้ได้ทางมโนทวาร ถ้าจะเจริญสติปัฏฐานทางมโนทวาร ที่ฟังแล้วรู้สึกว่าบัญญัติจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้
สุ. ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มในขณะนี้เลย กำลังได้ยินเสียง มีบัญญัติไหม เสียงเป็นปรมัตถธรรม ขณะที่จิตรู้ความหมายของเสียงนั้น จิตรู้บัญญัติ จิตที่รู้ความหมายของเสียงเป็นจิตที่รู้บัญญัติเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นนึกเป็นคำๆ สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทหนึ่งที่กำลังรู้คำ ทีละคำ
ถ. สติปัฏฐานระลึกรู้ปรมัตถธรรม แต่ไม่ระลึกรู้บัญญัติ ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า สภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะพ้นจากมโนทวารไม่ได้เลยใช่ไหม คือพอตามอง สภาพที่เห็นเกิดขึ้น มีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วจึงต่อมโนทวาร
สุ. วิถีจิตทางมโนทวารจะต้องรู้รูปเดียวกันกับที่วิถีจิตทางปัญจทวารรู้ ถ้าชวนจิตทางปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต ชวนจิตทางมโนทวารวาระแรก ก็เป็นโลภมูลจิตประเภทเดียวกัน จักขุทวารวิถีจิตกับมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อกันเร็วเหลือเกิน อุปมาเหมือนนกที่บินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะกิ่งไม้เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดินฉันใด เมื่ออารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารแล้วก็ปรากฏต่อทางมโนทวารวิถีจิตทันที หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้วหลายขณะอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้ไม่รู้ว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเมื่อกระทบจักขุปสาทแล้วก็ปรากฏ
ถ. อย่างทางตาขณะที่เห็น พอเห็นเป็นปากกาก็แสดงว่า คำว่า ปากกาเป็นทางมโนทวารแล้ว
สุ. ยังไม่ได้คิดถึงคำว่าปากกาก็มีบัญญัติก่อนแล้ว ฉะนั้น บัญญัติจึงไม่ได้หมายเฉพาะแต่สัททบัญญัติหรือนามบัญญัติ ซึ่งเป็นเสียงหรือเป็นคำ
ถ. พอเห็นแล้วจำได้ นั่นก็บัญญัติแล้วใช่ไหม
สุ. ที่ชื่อว่าบัญญัติ เพราะให้รู้ได้ด้วยประการนั้นๆ
ถ. นั่นก็หมายความว่าทุกทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องผ่านทางมโนทวารด้วยใช่ไหม
สุ. อารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์นั้นจิตรู้ได้ ๒ ทวาร คือ จักขุทวารวิถีจิตรู้รูปารมณ์แล้ว มโนทวารวิถีจิตก็รู้รูปารมณ์นั้น ต่อเมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ จิตก็รู้ได้ ๒ ทวาร คือ เมื่อวิถีจิตทางทวารนั้นๆ รู้อารมณ์นั้นๆ แล้ว วิถีจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ สืบต่อทางทวารนั้นๆ เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว โดยนัยเดียวกัน
ถ. สมมติว่าเราลิ้มรสเปรี้ยว ขณะที่เปรี้ยวก็เป็นบัญญัติแล้วใช่ไหม
สุ. อะไรเปรี้ยว
ถ. สมมติว่ารับประทานส้มเปรี้ยว
สุ. รสเปรี้ยวเป็นปรมัตถธรรม คิดนึกว่าส้มเปรี้ยวเป็นบัญญัติคำเป็นสัททบัญญัติ ขณะตั้งชื่อเรียกชื่อเป็นนามบัญญัติ ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีคำ ไม่มีความหมาย เรื่องราวต่างๆ ก็จะไม่มากมายอย่างที่เป็นอยู่เลย แต่เมื่อเสียงเป็นอารมณ์แก่จิตทางโสตทวารวิถีแล้ว ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดสืบต่อทางมโนทวารวิถีจิตด้วย (เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว) สัญญาที่จำหมายรู้เสียงต่างๆ ทำ ให้นึกถึงคำต่างๆ ชื่อต่างๆ
ข้อความในธัมมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีแสดงนิทเทส อธิวจนทุกะ ข้อ ๘๔๑ มีข้อความว่า อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ เป็นไฉน
อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อเป็นไฉน คือการกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนาม การตั้งชื่อ การออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อของธรรมนั้นๆ อันใด สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าอธิวจนธรรม คือธรรมเป็นชื่อ (ทุกอย่างเป็นชื่อทั้งนั้น ดินสอ ปากกา โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ )
ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่า อธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ
ถ้าไม่มีสภาพธรรมชื่อก็ไม่มี แต่เมื่อมีสภาพธรรมแล้วที่ไม่มีชื่อมีไหม
ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์มีว่า ธรรมทั้งหมดแลชื่อว่า อธิวจนปถธรรม คือธรรมเป็นเหตุของชื่อ ถ้าเข้าไปในป่ามีต้นไม้หลายชนิดก็จะมีผู้ถามว่านี่ต้นอะไร บางคนรู้จักชื่อก็บอกว่า ต้นกระถิน ต้นมะม่วง ต้นตะเคียน แม้ต้นไม้ไม่มีชื่อก็ยังบอกว่าต้นไม่มีชื่อ หรือบอกว่าต้นนี้ไม่รู้จักชื่อ ฉะนั้น ทุกอย่างจึงมีชื่อที่จะให้รู้ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีธรรมใดๆ เลยที่จะไม่เป็นเหตุของชื่อ
ข้อความต่อไปมีว่า คำว่า "ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม" คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมที่ไม่เป็นเหตุของชื่อหามีไม่
ธรรมเอกย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหมดก็ประมวลเข้าในธรรมเอก ประมวลเข้าอย่างไร อธิบายว่านามบัญญัตินี้ ชื่อว่า เป็นธรรมเอก ธรรมเอกนั้นย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้ง ๔ ภูมิทั้งสิ้น ทั้งสัตว์ทั้งสังขารชื่อว่าพ้นไปจากนามหามีไม่
ถ้าไม่มีชื่อก็ไม่สะดวกที่จะทำให้เข้าใจกันได้ ฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมแต่ก็ยังไม่พ้นจากชื่อ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ
ขันธบัญญัติ ๕
อายตนบัญญัติ ๑๒
ธาตุบัญญัติ ๑๘
สัจจบัญญัติ ๔
อินทรียบัญญัติ ๒๒
บุคคลบัญญัติหลายจำพวก
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้พระธรรมที่ทรงแสดงก็ไม่พ้นไปจากชื่อนามบัญญัติต่างๆ
นิรุตติ การพูด คือ การกล่าวอรรถออกโดยทางอักขระชื่อว่านิรุตติ
พยัญชนะ นามที่ชื่อว่า พยัญชนะ (คำ) เพราะอรรถว่า ประกาศอรรถ
อภิลาปะ เสียง ที่ชื่อว่า อภิลาป เพราะอรรถว่าเป็นเสียงที่บุคคลพูด คือ ลำดับแห่งการประชุมของอักษรที่เป็นไปตามเสียง
ก็บัญญัตินั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ปญฺญาปิยตฺตาปญฺตฺติ (การแต่งตั้งเพราะต้องการรู้ความหมาย) ๑ ปญฺญาปนโตปญฺญตฺติ (การแต่งตั้งโดยให้รู้อรรถตามเสียง) ๑
บัญญัติทั้งหลายมีประการต่างๆ ดังนี้
สันตานบัญญัติ บัญญัติที่เทียบอาการ คือ ความเปลี่ยนแปลงสืบต่อของภูตนั้นๆ คือบัญญัติว่า แผ่นดิน ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น
สมุหบัญญัติ บัญญัติที่หมายถึงอาการ คือ การประชุมแห่งสัมภาระ เช่น บัญญัติว่า รถ เกวียน เป็นต้น
สมมติบัญญัติ บัญญัติเป็นต้นว่า บุรุษ บุคคล หมายถึงขันธปัญจกะ
ทิสาบัญญัติ บัญญัติทิศ หมายถึง ความหมุนเวียนของพระจันทร์ มีทิศตะวันออก เป็นต้น
กาลบัญญัติ บัญญัติกาลเวลา เช่น เวลาเช้า เป็นต้น
มาสาทิบัญญัติ บัญญัติเดือน ฤดู และชื่อเดือน มีวิสาขมาส เป็นต้น
อากาสบัญญัติ บัญญัติ หลุม ถํ้า หมายถึง อาการที่มหาภูตรูปไม่จรดถึงกัน
นิมิตตบัญญัติ บัญญัติกสิณนิมิต หมายถึง ภูตนิมิตนั้นๆ และอาการพิเศษที่สืบเนื่องกันของภาวนา
ก็บัญญัติที่มีความแตกต่างกันดังที่กล่าวมาแล้วด้วยประการอย่างนี้ แม้จะไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ก็เป็นอารมณ์แห่งจิตตุปปาทโดยอาการ คือ เงาของอรรถ (ส่วนเปรียบของปรมัตถ์) ถูกกำหนดหมายโดยอาการนั้นๆ เพราะเทียบเคียง คือเปรียบเทียบ ได้แก่ ทำอาการสัณฐานเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นเหตุกล่าวกัน เข้าใจกัน เรียกร้องกัน ให้รู้ความหมายกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าบัญญัติ
โลภมูลจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น แม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็ไม่ใช่ว่ายินดีพอใจแต่เฉพาะปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้น แต่ยังยินดีพอใจตลอดไป จนกระทั่งบัญญัติต่างๆ ทั้งนิมิต อนุพยัญชนะ ชื่อต่างๆ และเรื่องราวต่างๆ ด้วย
ฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าสอบถามกันก็ตอบได้แล้วว่า ส่วนมากในชีวิตประจำวันนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ มีบัญญัติเป็นอารมณ์จนกระทั่งปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง
ถ. ที่ว่าองุ่นหรือภาพองุ่น เวลาเราไปแตะต้องมัน อ่อนแข็งอย่างนี้เป็นปรมัตถ์ รสขององุ่นเป็นปรมัตถ์ หลายๆ อย่างรวมกันก็เป็นองุ่นจริงๆ ที่เรียกว่าบัญญัติ เพราะฉะนั้นบัญญัติก็เป็นของจริง
สุ. รูป รส เกิดแล้วก็ดับไป เพราะว่ามีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต รูป สีที่เห็นว่าเป็นองุ่นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว รูปมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้น จะมีองุ่นไหม
ถ. มีในความจำ
สุ. ฉะนั้น ก็เป็นบัญญัติว่าสิ่งนั้นเป็นองุ่น แต่ความจริงสิ่งนั้นคือรสที่เกิดแล้วดับ สิ่งนั้นคือแข็งที่เกิดแล้วดับ
ถ. บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่างมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน
สุ. เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่รวมกันก็ยึดถืออาการที่ปรากฏรวมกันนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ถ. บัญญัติไม่ใช่ของจริงหรือ บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่าง อ่อน แข็ง เย็น ร้อน สี กลิ่น รส รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นวัตถุ มีสีอย่างนั้น สัณฐานอย่างนั้น หรือว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างนั้น ก็เป็นบุคคลนั้น บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์
สุ. ที่จะรู้ได้ว่าบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรมนั้น จะต้องแยกปรมัตถธรรมที่เกิดรวมกันออกเป็นปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทวาร และต้องประจักษ์การเกิดดับของรูปที่ปรากฏแต่ละทวาร สภาวรูปทุกรูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับ รูปที่เกิดมาชั่ว ๑๗ ขณะจิตนั้น ยังไม่ทันยืนหรือเดิน หรือทำอะไรทั้งนั้น เพราะที่ยกมือขึ้นก็เกิน ๑๗ ขณะจิตแล้ว ฉะนั้น ที่เห็นเป็นคนเดิน หรือเห็นเป็นคนยกมือ ก็แสดงให้เห็นว่า รูปดับแล้วเกิดสืบต่อ ปรากฏทั้งทางจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถีหลายวาระโดยมีภวังค์คั่นจนปรากฏเป็นคนกำลังเดินหรือกำลังยกมือ แต่ตามความเป็นจริง ๑๗ ขณะจิตนั้นเร็วมาก ซึ่งพิจารณาเข้าใจตามได้ว่า รูปที่ปรากฏทางตาซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิตนั้น ต้องดับก่อนที่จะได้ยินเสียง ทั้งๆ ที่ปรากฏเสมือนว่าทั้งได้ยินและทั้งเห็นด้วยนั้น แต่ระหว่างจิตได้ยินกับจิตเห็นนั้นก็ห่างกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้น รูปที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ จิตเห็นต้องดับไปก่อนจิตได้ยินจึงเกิดขึ้นได้
ฉะนั้น ที่ปรากฏเสมือนทั้งได้ยินและเห็นด้วยนั้น ก็เพราะรูปเกิดดับปรากฏสืบต่อทั้งทางจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถีมากมายโดยมีภวังค์คั่น จนกระทั่งปรากฏเป็นคนกำลังเดิน หรือว่ากำลังยกมือ และกำลังเคลื่อนไหว เป็นต้น แต่เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม จึงยึดถือโดยบัญญัติสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นคนบ้าง เป็นหญิงบ้าง ชายบ้าง วัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง แต่ควรระลึกว่าตั้งแต่เริ่มศึกษาปรมัตถธรรมนั้นรู้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ ธรรมที่เป็นสัจจธรรมนั้นต้องเป็นความจริงตั้งแต่ต้นไปจนตลอดจนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาขึ้นถึงขั้นประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามที่ชินหูและพูดตามว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน รสมีจริง แข็งมีจริง บัญญัติรสและแข็งนั้นว่าองุ่น แต่สิ่งที่มีจริงคือรูปเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่มีองุ่น ไม่มีสัตว์บุคคล มีแต่เพียงรูปธรรมและนามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว
ปรมัตถธรรมเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่บัญญัติ การศึกษาและการปฏิบัติธรรมจะต้องตรงตามที่ได้ศึกษาแม้ในตอนต้น และต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น ตามที่ศึกษาว่าปรมัตถธรรมเป็นอนัตตานั้น ก็จะต้องเข้าถึงอรรถของปรมัตถธรรมทั้งขั้นของการฟัง การพิจารณา การอบรมเจริญปัญญา จนประจักษ์แจ้งความจริงตามที่ได้ศึกษาแล้วด้วย
ถ. เมื่อกี้ที่คุณผู้ฟังถามว่า บัญญัติก็เป็นของจริงใช่ไหม ถ้าจะพูดว่า ของจริงที่ท่านแยกไว้ว่าเป็นปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ บัญญัติจะเป็นสมมติสัจจะได้ไหม
สุ. ได้ แต่บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ อย่างชื่อองุ่น ชื่อองุ่นไม่มีรสอะไรทั้งนั้น แต่รสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และบัญญัติรสนั้นว่าเป็นองุ่น
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ