พระนินทาพระอื่น อาบัติข้อไหนครับ
โดย พระบอม  15 ส.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 18945

ผมเป็นผู้ปฏิบัติ ตามพระวินัยไม่ถึงกับเคร่งมาก แต่ก็ปฎิบัติให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางทีปฏิบัติเยอะเกินจนเป็นจุดเด่น คือ บางทีปฏิบัติเยอะกว่าคนอืน เรื่องมันมีอยู่ว่า ข้างห้อง ข้างข้าง ชอบมาพูด ส่อเสียดนินทาให้ร้ายมั้ง ออกแนวว่า คุณพระบอมไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ เคร่งมากเดี๋ยวก็คลั่ง ชอบพูด ถากถาง ออกแนวอะไรประมาณนี้ พระที่มีนิสัยชอบถากถางพระอื่น จะอาบัติอะไรใหมครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การพูดวาจากระทบกระเทียบ เสียดสี พูดว่าร้าย เกิดจากจิตที่เป็นอกุศล แม้คฤหัสถ์ยังไม่ควรทำ ไม่ต้องกล่าวถึงเพศบรรพชิตที่เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสทุกทาง ย่อมไม่สมควรพูดครับ พระพุทธองค์ได้ปรับอาบัติสำหรับพระภิกษุที่ใช้คำด่าว่า เสียดสีกับภิกษุรูปอื่นว่าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ครับ ส่วนเราที่ได้ยินเสียง ควรพิจารณาด้วยปัญญาว่า การได้ยินเสียงนั้น เพราะผลของกรรมที่ได้ทำไว้เอง จึงไม่โทษใคร และขัดเกลากิเลสของตนต่อไปครับ ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒- หน้าที่ 26

[๑๘๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอานาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวก ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก คือด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูลบ้าง การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่าที่ทรามบ้าง ...........

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก คือด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูลบ้าง การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่าที่ทรามบ้าง การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . . ครั้นแล้วทรงกระทำธรรมีกถารับส่งกะภิกษุทั้งหลายดังต่อไปนี้.

[๑๘๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งนั้น คำด่า คำสบประมาทก็มิได้เป็นที่พอใจของเรา ไฉน ในบัดนี้ คำด่า คำสบประมาท จักเป็นที่พอใจเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงอย่างนี้ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ

๕๑.๒. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโอมสวาท.

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์

[๑๘๖] ที่ชื่อว่า โอมสวาท ได้แก่คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจด้วยอาการ ๑๐ อย่าง คือ ชาติ ๑ ชื่อ ๑ โคตร ๑ การงาน ๑ ศิลป ๑ โรค ๑ รูปพรรณ ๑ กิเลส ๑ อาบัติ ๑ คำด่า ๑.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 2    โดย orawan.c  วันที่ 15 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องที่เกี่ยวกับคำพูด หรือ ความประพฤติเป็นไปทางวาจา นั้น บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็จะเห็นได้ว่า มีคำพูดหลายอย่างที่ควรเว้น ไม่ควรพูด รวมถึงการพูดกระทบกระเทียบ เสียดสี ว่าร้ายผู้อื่น ซึ่งเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่ อย่างแท้จริง เพราะขณะที่กล่าวคำพูดอย่างนั้น ต้องไม่ใช่สภาพจิตทีเป็นกุศลอย่างแน่นอน แต่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ควรที่จะกล่าวคำพูดอย่างนี้ เพราะไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย เป็นการสะสมอกุศลให้มีมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นพระภิกษุแล้ว ก็เป็นอาบัติ มีโทษในทางพระวินัย คือ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ กล่าวได้ว่า ไม่คุ้มเลย เป็นการสะสมอกุศลให้มีมากขึ้น และยังเป็นอาบัติด้วย

พระธรรม จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดี ให้เป็นผู้ระมัดระวังแม้ในการพูด (โดยต้องระวังที่จิตใจของตนเอง เมื่อจิตใจสะอาด คำพูดก็สะอาด แต่เมื่อจิตใจไม่สะอาด คำพูดก็ไม่สะอาด) เพราะการพูดในบางครั้งดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นการพูดกระทบกระเทียบเสียดสี ว่าร้ายผู้อื่น แต่ถ้าพูดถึงบุคคลอื่นในทางที่ไม่มีประโยชน์ คำพูดดังกล่าวย่อมไม่เกิดประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง ก็ไม่ควรที่จะพูด ควรพูดเฉพาะคำที่จริง ไพเราะ เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ และพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาเท่านั้น การได้ยินเสียงที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีใครทำให้เลย เป็นเพราะอกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้วถึงคราวให้ผล จึงทำให้ได้ยินเสียงอย่างนั้น สิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่โกรธ ไม่ใช่ไม่พอใจ แต่ควรที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้นจริงๆ และอดทน มีเมตตากับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ความเข้าใจพระธรรม เท่านั้น ที่จะเกื้อกูลได้อย่างแท้จริง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย แสงจันทร์  วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอฝากถวาย ท่านพระบอมอีกหน่อย

สิกขาบทนี้ เกิดขึ้นที่วัดเชตวัน พวกภิกษุฉัพพัคคย์ก่อเหตุ เมื่อภิกษุมีเรื่องบาดหมางกัน ชอบเอาคำพูดของฝ่ายหนึ่งไปบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้เขาโกรธกัน พูดส่อเสียด แปลจากคำว่า เปสุญญวาท ถ้านำความไปพูด โดยไม่ประสงค์ให้เขาชอบ และไม่ประสงค์ให้เขาแตกแยกกัน ไม่เป็นอาบัติ

หรือในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 133

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้เก็บเอาคำส่อเสียดของพวกภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง เกิดทะเลาะถึงวิวาทกันไปบอก คือฟังคำของฝ่ายนี้ แล้วบอกแก่ฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ ฟังคำของฝ่ายโน้น แล้วบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เพราะเหตุนั้น ความบาดหมางที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็รุนแรงยิ่งขึ้น การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ

๕๒.๓. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะส่อเสียดภิกษุ.

ปล.ในการที่ท่านสนใจพระวินัยผมอนุโมทนาด้วย แต่จะให้ดีผมเห็นว่าไม่ควรมี ตัวละครจริงมาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เพราะมีสิกขาบทปาจิตตีย์ข้อที่ ๙ ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่นแก่อนุปสัมบัน (ผู้ไม่ใช่ภิกษุ) ต้องปาจิตตีย์ ตรงกับสุภาษิตไทยว่า (ไฟในไม่ควรนำออก และไฟนอกไม่ควรนำเข้า) ครับ.

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 5    โดย pat_jesty  วันที่ 15 ส.ค. 2554

...กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ อกุศลต่างหากที่ควรละคลาย....

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

ความคิดเห็น 6    โดย Huvpom  วันที่ 7 ก.ค. 2561

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ