พรหมลิขิต
โดย lovedhamma  29 ก.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 18828

ที่มีคำคม (ใช้ได้ทุกกลุ่มคน/ศาสนา) ที่ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่ช่วยเหลือผู้ที่ไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง อันนี้เป็นจริงแน่นอนใช่มั้ยครับ คือ พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ยอมลงมือทำในสิ่งนั้นๆ ด้วย ก็ย่อมไม่มีทางที่จะทำให้ "ผล" เกิดขึ้นได้



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 29 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เราคงไม่พูดถึงศาสนาหนึ่งศาสนาใด แต่เราพูดถึงสัจจะความจริงแท้ที่ไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ความเชื่อ ยุคสมัย แต่ความจริงนั้นเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น การจะได้รับสิ่งที่ดี ได้รับผลของกรรมที่ดี หรือที่เรียกว่า ได้รับการช่วยเหลือ ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ ดังนั้น เหตุที่จะได้รับสิ่งที่ดี ที่เป็นผลของกรรมดี ได้รับการช่วยเหลือ เป็นต้น

เพราะกรรมดีที่เป็นกุศลกรรม ที่ได้ทำมาให้ผลนั่นเองครับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือดลบันดาล ให้เราได้รับสิ่งที่ดี ให้ช่วยเหลือเราหรอกครับ หากไม่มีกรรมดีที่ทำมาแล้ว ก็ไม่มีใครช่วยเราได้ เพราะการช่วยเหลือหรือการได้รับสิ่งที่ดี ที่เป็นผลของกรรมดี เหตุจะต้องตรงกับผลคือเกิดจากการการกระทำที่ดีนั่นเองที่เป็นเหตุครับ

บางอย่าง เราก็ได้รับสิ่งที่ดีๆ โดยไม่ได้มีคนอื่นให้เรา มาช่วยเหลือเรา นั่นก็เป็น เพราะผลของกรรมดีที่ให้ผลทำให้ได้รับผลที่ดีครับ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ เช่น บางอย่างที่เราได้รับสิ่งที่ดีจากผู้อื่น เช่น ผู้อื่นช่วยเหลือ หรือได้สิ่งที่ดีๆ จากผู้อื่น ถามว่า เพื่อนเราหรือผู้อื่นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช่หรือไม่ เพราะดลบันดาล หรือช่วยเหลือให้เราได้สิ่งที่ดี ก็ไม่ใช่ครับ ดังนั้น คำว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้จำกัดความไปว่าสามารถช่วยเหลือเราได้

แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ที่เป็นไปตามสัจจะ ความจริง ศักดิ์สิทธิ์ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ทำดีก็ย่อมได้รับผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว การได้รับการช่วยเหลือ ได้รับสิ่งที่ดี ก็เพราะการทำดีเป็นปัจจัยนั่นเองครับ ดังนั้น กรรมต่างหากที่ศักดิ์สิทธิ์

เพราะแม้เทวดา พรหม ที่คิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่พ้นไปจากกรรม และตัวเทวดาเองและพรหมเอง ก็ต้องได้รับผลของกรรมที่ตัวเองทำมา ไม่สามารถบันดาลให้ตัวเองไม่ตาย ได้รับผลของกรรมดีได้ตลอด เพราะเป็นไปตามอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของกรรม ไม่ใช่เพราะของตัวเองครับ จึงไม่ใช่พรหมลิขิตแต่เป็นกรรมลิขิตครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 29 ก.ค. 2554

ดังนั้น จากคำกล่าวที่ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่ช่วยเหลือผู้ที่ไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง


เทวดาและพรหมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่สามารถบันดาลให้ใครเป็นไปได้ เพราะการที่เราได้รับสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เป็นเพราะกรรมของเราที่ทำมาเองทั้งนั้น แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ กรรมต่างหากที่จะไม่ช่วยเหลือคนที่ทำกรรมไม่ดีและไม่ยอมทำกรรมดี เมื่อไม่ทำกรรมดี สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย เพราะไม่ได้ทำเหตุที่ดีไว้ แม้จะไปขอบนบานจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มี เทวดา พรหม เป็นต้น แต่เมื่อไม่ได้ทำกรรมดีที่เป็นเหตุให้ได้รับการช่วยเหลือ จะได้รับผลของกรรมที่ดีได้อย่างไรครับ เพราะเทวดาและพรหมไม่ใช่เหตุที่จะได้รับการช่วยเหลือ ได้สิ่งที่ดี กรรมดีเท่านั้นครับที่จะได้รับสิ่งที่ดี และการทำกรรมดี ผลของกรรมดีก็ต้องมีระยะเวลา ไม่ใช่ว่าทำดีแล้วผลขอกรรมดีจะให้ผลเลยในชาตินี้ครับ

ดังนั้น ทำดี เพราะเป็นความดี ไม่ใช่ทำดีเพราะหวังผลของความดีครับ อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม กรรมดี กุศลประการต่างๆ และปัญญาก็จะเจริญขึ้นครับ

ดังนั้น แม้แต่คำว่า พรหมลิขิต ก็ควรจะเป็น กรรมลิขิต สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เป็นเผ่าพันธุ์ สัตว์โลกทั้งหมด ไม่ว่า มนุษย์ เทวดา มารและพรหม เป็นตามลิขิตของกรรมทั้งสิ้นครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

พรหมลิขิต และ ความเชื่อมั่นในพระธรรม

มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศํย

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 29 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นความจริง เป็นสัจจธรรม ที่ทำให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของตนเอง, ธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

สำหรับเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แต่ละบุคคลย่อมมีกุศลกรรม อกุศลกรรม ตามการสะสม และมีการได้รับผลของกรรมด้วย เมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะมีความเข้าใจ ว่า เจตนาเป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่สะสมอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ

กรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อได้โอกาสที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น ผลก็เกิดขึ้น ตามสมควรแก่เหตุ เริ่มตั้งแต่จิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ (ปฏิสนธิจิต) ก็เป็นผลของกรรม ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเกิดในนรก อย่างเช่นพระเทวทัต เป็นต้น ย่อมเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย แต่ต้องเป็นไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ นอกจากนั้นแล้ว ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ล้วนเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งนั้น เมื่อถึงคราวที่กรรมให้ผล จะอยู่ที่ไหน ก็ไม่พ้นจริงๆ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีผู้บันดาล แต่เกิดแล้ว มีแล้ว ตามเหตุปัจจัย ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้นจึงมีสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นการได้รับผลของกรรม และ ส่วนที่สะสมเหตุใหม่ คือ กระทำกรรมใหม่ (กุศลกรรม, อกุศลกรรม) อันจะเป็นเหตุให้ผลข้างหน้า เมื่อได้ศึกษาอย่างนี้แล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมแต่กรรมอันงามในชีวิตประจำวัน

ในทางตรงกันข้าม อกุศล ซึ่งเป็นความชั่วทั้งหลาย ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น ควรถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ประการที่สำคัญ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมเจริญขึ้น และทำให้อกุศลเสื่อมลงได้ [มีชีวิตอยู่เพื่อฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความดี ต่อไป] ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย Jans  วันที่ 29 ก.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย homenumber5  วันที่ 30 ก.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 2, 3

๑. โดยสรุปคือในพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก ไม่มีองค์ธรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช่ไหมคะ

๒. แล้วคำสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ชาวพุทธไปนำพามาจากไหน

๓. ขออนุโมทนาค่ะว่าพรหมลิขิตไม่มีจริง มีแต่กรรมลิขิต

๔. เป็นเพราะ ชาวไทยนำศาสนาพราหมณ์และพุทธมาปะปนกัน จึงมีคำที่ไม่มีในพระ ไตรปิฎก มาพูดในหมู่ชาวพุทธที่มิได้ศึกษาพระพุทธธรรมจริงๆ

๕. แม้แต่งานสงกรานต์ ก็มีตำนานเรื่องธิดาของพรหมที่ถูกบั่นเศียร ซึ่งก็น่าจะเป็นพรหมในศาสนาพราหมณ์มากกว่าศาสนาพุทธใช่ไหมคะ

ท้ายนี้ ดิฉันเห็นว่า เนื่องจาก ภาษามคธ (ที่ไทยเรียก บาลี) นั้นเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้ในการเทศนาแก่สาวก แต่เมื่อ พระองค์เสด็จไปเมืองใด เขาพูดภาษาอะไรท่านก็ทรงเทศนาด้วยภาษานั้นได้ และพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้จารึกพระไตรปิฎกด้วยภาษาอื่นนอกจากภาษามคธ ภาษาไทยมีการนำภาษาบาลี สันสกฤตมาจากเจ้าของภาษามาใช้ด้วยความหมายที่ใกล้เคียงกัน แต่นั่น เป็นภาษาคน มิใช่ภาษาธรรมของพระพุทธเจ้า เช่น คำว่าสติ ในพระไตรปิฎก คือสติเจตสิก เป็นองค์ธรรมชั้นสูงเป็นโสภณเจตสิก ที่ใช้ประกอบกับจิตฝ่ายกุศลเท่านั้น (อ้างในพระอภิธรรม) แต่ชาวบ้านก็นำ คำว่า สติ มาใช้กับ ปุถุชน คนธรรมดา ที่หามี จิตฝ่ายกุศลไม่ จึงสร้างความสับสนแก่คนศึกษาพระธรรม เพราะต้องมาทำความเข้าใจใหม่ เช่น ทำอะไรต้องมีสติ เอาสติมาอยู่กับการงาน สติมาปัญญาเกิด (ทั้งที่ ทั้ง สติและปัญญา เป็นโสภณเจตสิกที่ยิ่งใหญ่ ต้องเกิดในกุศลจิตเท่านั้น ในปุถุชนอย่างเราๆ นี้ จะหาขณะจิตเป็นกุศลบ้าง คงน้อยมากๆ จริงไหมคะท่านวิทยากร


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 30 ก.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

๑. โดยสรุปคือในพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก ไม่มีองค์ธรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช่ไหมคะ

- ถูกต้องครับ

๒. แล้วคำสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ชาวพุทธไปนำพามาจากไหน

- คงไม่ใช้คำว่า ชาวพุทธ แต่ใช้คำว่า ความคิดของคนทั่วไป ที่เข้าใจผิดคิดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ครับ เพราะเชื่อเรื่องดลบันดาลจากธรรมชาติ ซึ่งการเชื่อเรื่องธรรมชาติดลบันดาล มีมาตั้งแต่มนุษย์สมัยโบราณแล้วครับ เช่น นับถือพระอาทิตย์ เป็นต้น

๓. ขออนุโมทนาค่ะ ว่าพรหมลิขิตไม่มีจริง มีแต่กรรมลิขิต

- อนุโมทนาเช่นกันที่มีความเข้าใจถูกครับ

๔. เป็นเพราะ ชาวไทยนำศาสนาพราหม์และพุทธมาปะปนกัน จึงมีคำที่ไม่มีในพระไตรปิฎก มาพูดในหมู่ชาวพุทธที่มิได้ศึกษาพระพุทธธรรมจริงๆ

- บางคนนำคำที่ไม่เข้าใจถูกต้อง แม้แต่นำคำบาลี มาใช้ในภาษาไทย เป็นความหมายในภาษาไทยก็ได้ เช่น คำว่า สติ ก็เข้าใจอีกแบบ, คำว่า มานะ เป็นต้น รวมทั้งคำอื่นๆ ด้วยครับ ที่มาใช้ปะปน ไม่ตรงกับพระศาสนาพุทธ

สำหรับข้อที่ ๕

เรื่องนางสงกรานต์ ถ้าพูดประเพณีสงกรานต์ก็ต้องเข้าใจใหม่ว่า ประเพณีนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธนะครับ ดังนั้น สงกรานต์จะรับจากพราหมณ์มาก็ตาม ก็ไม่เกี่ยวข้องว่า พราหมณ์เข้ามาในศาสนาพุทธครับ

ส่วนประเด็นเรื่องของภาษาที่ใช้นั้น ผู้ถามมีความเห็นถูกแล้วครับ หากเรานำเอาคำใดมาใช้ แต่ไม่ศึกษาเข้าใจให้ละเอียดในคำนั้น พร้อมกับคำอธิบายในพระไตรปิฎก ก็จะผิดเพี้ยนไป จากความหมายเดิม ภาษาบาลี ภาษามคธ ที่พระองค์แสดง เป็นคำที่มีความหมายไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่เปลี่ยนไปตามค่านิยม แต่ภาษาอื่นดิ้นได้ เปลี่ยนไปตามค่านิยมของสังคมและยุคสมัย การใช้ภาษาบาลีในการจารึก ก็เพื่อประโยชน์ไม่ให้ความหมายเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอื่นแล้วก็สามารถเข้าใจได้ แต่ต้องเทียบเคียงให้ตรงตามพระธรรมวินัย ก็จะสอดคล้องกับคำบาลีครับ

ดังนั้นจึงต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมอย่างละเอียดรอบคอบครับ

ขออนุโมทนาที่มีความเห็นถูกครับ


ความคิดเห็น 7    โดย Sensory  วันที่ 1 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นดังนี้นะคะ

คำว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำที่คิดขึ้นมาในไทย ย่อมหาไม่เจอในพระไตรปิฎก คนไทยใช้เรียกเทวดาหรือพระพรหมที่มีคุณธรรมซึ่งเมตตาช่วยเหลือมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ทำพลีกรรม ในกรณีนี้คือเทวตาพลี เพื่อบูชาคุณของเทวดาค่ะ ที่บนบาน ไปขอนั่นขอนี่ เป็นไปเพื่อการได้ ไม่ใช่การละ ย่อมผิดวัตถุประสงค์ในการสละเพื่อบูชาคุณ (พลีกรรม)

คำว่า เทวดา คำว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำว่า ผู้ใหญ่ คำว่า ผู้มีคุณ เป็นบัญญัติทั้งนั้น แต่สภาพที่ดีงามเป็นปรมัตถธรรมที่มีอยู่จริงค่ะ